Main Idea
- ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องสำหรับดัชนีธุรกิจ SME ไทย ประจำไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ผ่านมา ทั้งด้านดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME ไทย ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ และดัชนีความยั่งยืน
- ส่งผลให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SME ในไตรมาส 3 มาอยู่ที่ระดับ 46.9 หรือปรับตัวลดลงที่ 0.9 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
- ผู้ประกอบการ SME ยังคงต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ทั้งด้านสินเชื่อ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ด้านการตลาด ด้านภาษี ตลอดจนด้านการท่องเที่ยว
ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องสำหรับ ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME ไทย ที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกันจัดทำขึ้น
โดยทำการสำรวจ 1,234 ตัวอย่างทั่วประเทศ ใน 3 ดัชนีสำคัญ ได้แก่ 1.ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME (SMEs Situation Index) 2.ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ (SMEs Competency Index) และ 3.ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SME (SMEs Sustainability Index) แล้วนำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SME (SMEs Competitiveness Index)
พบว่า ผลสำรวจดัชนี SME ประจำไตรมาส 3 ของปี 2562 ปรับลดลงทุกด้าน
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 41.5 ปรับตัวลดลง 1.2 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (2/2562) ส่วนคาดไตรมาส 4/2562 เชื่อว่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 41.9
ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2562 อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวลดลง 1.0 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าไตรมาส 4/2562 จะขยับขึ้นอยู่ที่ 48.1
ในส่วนด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2562 อยู่ที่ระดับ 51.1 ปรับตัวลดลง 0.7จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 4/2562 จะขยับขึ้นอยู่ที่ 51.4
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SME ไตรมาสที่ 3/2562 พบว่า อยู่ที่ระดับ 46.9 ปรับตัวลดลง 0.9 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 4/2562 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.1
ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือพัฒนากิจการจากภาครัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ด้านสินเชื่อ ต้องการให้ลดข้อจำกัดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงสินเชื่อให้ง่ายขึ้น อาทิ ลดขั้นตอน ลดเอกสาร ปรับลดอัตราดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต้องการให้มีมาตรการหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการช้อปช่วยชาติ ธงฟ้าราคาประหยัด การกระตุ้นการส่งออก การลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาน้ำมัน เป็นต้น
ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี เช่น สนับสนุนทุนเทคโนโลยี ช่องทางการค้าแก่ SME การอบรมความรู้ให้ผู้ประกอบการ ด้านการตลาด เช่น กลยุทธ์ส่งเสริมทางด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์/ช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ/ แหล่งตลาดใหม่ๆ ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี ปรับโครงสร้างภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อาทิ ภาษีทางการค้า ภาษี รายได้ ภาษีสินค้า/บริการ และด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว อนุรักษ์ธรรมชาติพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพิ่มความสนใจนักท่องเที่ยว
แม้ไตรมาส 1-3 ที่ผ่านมา ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME ไทย ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีสัญญาณที่ดีจากผลสำรวจ เพื่อพบว่า ผู้ประกอบการ SME ไทยส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของ SME ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จะตัวปรับดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ออกมาแล้ว และกำลังทยอยออกมาเพิ่มเติมต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการใช้จ่ายอย่างคึกคัก ประกอบกับเข้าสู่ฤดูกาลการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีให้ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์มีรายได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี