Main Idea
- ภายหลังธนาคารทีเอ็มบีและธนชาตรวมกิจการกัน จะมีฐานลูกค้าแตะระดับ 10 ล้านคน มีสินทรัพย์รวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6
- ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จะยังเป็นอันดับ 1 สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นอันดับ 4 ขณะที่สินเชื่อ SME จะขยับมาเป็นอันดับ 5 ของตลาด มีฐานผู้ใช้ Mobile Banking เพิ่มเป็น 2-3 ล้านราย
- ระหว่างกระบวนการรวมกิจการซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 นี้ ทั้ง 2 ธนาคารจะยังดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อเดิม และยังไม่มีนโยบายปรับลดพนักงานลงแต่อย่างใด
ภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่าง ING Groep N.V. (ING), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP), Bank of Nova Scotia (BNS), ธนาคารธนชาต (TBANK) และธนาคารทหารไทย (TMB) เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต แม้จะยังไม่ได้ชื่อธนาคารใหม่เพราะอยู่ระหว่างกระบวนการรวมกิจการซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 แต่สิ่งที่ชัดเจนแล้วคือ การรวมกันครั้งนี้จะทำให้มีฐานลูกค้าแตะระดับ 10 ล้านคน มีสินทรัพย์รวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท และกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ทันที
จุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลังในฐานะตัวแทนประธานกรรมการธนาคาร TMB บอกเราว่า แผนการรวมกิจการในครั้งนี้นับเป็นการผนึกกำลังกันอย่างชัดเจนซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทำให้ธนาคารมีความมั่นคงมากขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดของภาครัฐในการส่งเสริมการรวมกิจการเพื่อเพิ่มขนาดกิจการและศักยภาพในการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทยให้มีความสามารถทัดเทียมสากลอีกด้วย
ด้าน ศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) กล่าวเสริมว่า แผนการรวมกิจการครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารหลังการรวมกิจการมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น มีเงินทุนมากเพียงพอ มีช่องทางการให้บริการที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยมีจุดแข็งจากธนาคารธนชาตที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการให้บริการสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งถือเป็นผู้นำอันดับ 1 ของตลาด รวมกับทีเอ็มบี ที่มีจุดเด่นในการระดมเงินฝาก และนวัตกรรมด้านการบริการใหม่ๆ จะทำให้ธนาคารหลังรวมกิจการมีต้นทุนการทำธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น มีศักยภาพในการสนับสนุนลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น ตลอดจนอุตสาหกรรมธนาคารไทย และระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
ขณะที่ Mr. Mark Newman, Head of Challengers & Growth Markets Asia ผู้แทนของ ING กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า การรวมกิจการระหว่างสองธนาคารจะทำให้เกิดสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่ดี และมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมธนาคารไทย ตลอดจนต่อลูกค้าในประเทศไทย ทั้งนี้มองว่าทั้งสองธนาคารถือเป็นคู่ที่เหมาะสมกัน เนื่องจากต่างมีจุดแข็งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ธนาคารภายหลังการรวมกิจการมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หรือประมาณ 10 ล้านราย โดยเฉพาะฐานลูกค้ารายย่อย และด้วยขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น ผสานกับศักยภาพการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งการบริหารและใช้ประโยชน์จากงบดุล (Balance Sheet Optimization) ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย
ในฐานะผู้ประกอบการ SME จะได้รับผลกระทบอย่างไรจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี บอกเราว่า การรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้สินเชื่อ SME ของธนาคารขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของตลาด ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ยังเป็นอันดับ 1 ของตลาด ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นอันดับ 4 โดยเชื่อว่าจะมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่มได้ดีขึ้น
“มองว่าทั้งสองธนาคารมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน โดยทีเอ็มบีมีจุดแข็งทางด้านนวัตกรรมการบริการ ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ส่วนธนชาตก็เชี่ยวชาญการให้บริการสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ ที่เป็นผู้นำอันดับ 1 ของตลาด ซึ่งการรวมกันครั้งนี้จะทำให้เราสามารถนำสิ่งที่ทำได้โดดเด่นนี้ไปส่งมอบให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ทีเอ็มบีมีลูกค้าประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในดิจิทัล หากลูกค้ากลุ่มนี้อยากได้สินเชื่อรถยนต์ ในอดีตทีเอ็มบีไม่มีให้บริการ แต่จากนี้เราจะสามารถบริการได้ครอบคลุมขึ้น เช่นเดียวกับธนชาตซึ่งมีลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME ที่เช่าซื้อรถยนต์ อาจต้องการผลิตภัณฑ์ทางด้านการลงทุนอื่นๆ ซึ่งจากนี้เราจะสามารถให้บริการได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่แค่การสร้างจุดแข็งใหม่ แต่เป็นการนำจุดแข็งเดิมที่แต่ละคนมีมาเสริมซึ่งกันและกัน และทำให้เราสามารถแข่งขันได้มากขึ้นนับจากนี้”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี