Text : WAN. K
Main idea
- เข้าสู่ช่วงยื่นภาษีทีไร เรื่องของการทำบัญชีเดียวก็แวะเวียนกลับมาสะกิดใจ SME กันอีกครั้ง แต่หากใครยังงงๆอยู่ว่า ทำแบบนี้แล้วดียังไง จะบอกให้
- การทำบัญชีเดียวที่เป็นการบันทึกรายงานทางการเงินของกิจการทั้งหมดอย่างถูกต้อง ตรงความเป็นจริง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เสริมสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ลงบัญชีได้ง่ายขึ้น หรือ เพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อจากธนาคาร ฯลฯ
- เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะทำให้คุณกลายเป็นผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะไม่หมกเม็ดหรือซุกซ่อนตัวเลขในบัญชีที่แท้จริงเอาไว้
แม้เรื่องของการทำ “บัญชีเดียว” หรือการที่ผู้ประกอบการทำรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องเพียงบัญชีเดียวนั้น จะเป็นที่พูดถึงกันมานาน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมี SME อีกไม่น้อยที่ยังขาดความเข้าใจหรือมองว่าไม่จำเป็น เพราะคิดว่ายุ่งยากและกลัวว่าต้องจ่ายภาษีเพิ่มมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าการทำบัญชีหลายเล่มตกแต่งด้วยตัวเลขที่สวยหรูแบบในอดีตซึ่งไม่ตรงหรือน้อยกว่าความเป็นจริงนั้น เป็นตัวฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของการทำธุรกิจ อีกทั้งยังลดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกด้วย
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. พบว่า ในปี 2560 มีจำนวนผู้ประกอบการ SME ไทยทั่วประเทศกว่า 3 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.78 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ ซึ่งมีการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบของการจดทะเบียนนิติบุคคลกว่า 600,000 ราย โดยมีการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างเป็นระบบหรือการจดแจ้งการทำระบบบัญชีเดียวประมาณ 450,000 ราย ยังคงเหลืออีกประมาณ 150,000 ราย อยู่ระหว่างรอการดำเนินการจดแจ้งเข้าระบบบัญชีเดียว
และเพื่อจะยกระดับมาตรฐานของ SME ไทยให้มีระบบบัญชีที่แข็งแกร่งและเป็นสากลมากขึ้น การทำบัญชีเดียว จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากใครยังไม่รู้ว่าวิธีนี้จะดียังไง ลองมาดูประโยชน์ของตัวช่วยที่ว่านี้กัน
1. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
การทำระบบบัญชีเดียว จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่า เงินจมหรือถูกใช้ไปในการทำธุรกิจส่วนไหนมากที่สุด ช่วยในการวิเคราะห์ว่าสินค้าตัวไหนขายดีหรือทำกำไรให้กับกิจการ และรู้ถึงสถานะที่แท้จริงทางการเงินของบริษัท ซึ่งจะทำให้สามารถกำจัดจุดอ่อนและแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายส่วนเกินได้ แม้ SME ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การได้เงินมาแล้วลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้น การทำบันทึกรายงานทางการเงินที่ถูกต้องจะเข้ามาช่วยให้เห็นภาพการดำเนินการของธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น
2. เสริมสภาพคล่องในการทำธุรกิจ
ปัญหาบางอย่างอาจดูเล็กน้อยเกินไปที่จะสนใจ แต่หากปล่อยให้เกิดการสะสมเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจได้ เช่น เรื่องของสต็อกสินค้าที่มักค้างสต็อก หรือมีการตัดสต็อกที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งการทำระบบบัญชีที่รอบคอบและรัดกุมอย่างบัญชีเดียว จะสามารถช่วยให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลได้อย่างถูกต้องและทำให้กิจการเดินหน้าได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
3. ลงบัญชีได้ง่ายขึ้น
เพราะการทำบัญชีเดียว คือการบันทึกจัดเก็บรายงานทางการเงินที่เกิดขึ้นกับกิจการทั้งหมด ซึ่งต้องถูกจัดทำอยู่ภายในบัญชีเล่มเดียว จึงทำให้ผู้ประกอบการสามารถลงบัญชีได้ตามความเป็นจริง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่สำคัญไม่ต้องดึงรายได้ออก ไม่ต้องตกแต่งตัวเลขในบัญชี ส่งผลให้ไม่เกิดการซุกซ่อนงบการเงินที่แท้จริง อีกทั้งยังตัดความกังวลของ SME ที่เคยต้องหวาดระแวงเรื่องของการตรวจสอบภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากรได้
4. เพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อจากธนาคาร
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ธนาคารพาณิชย์จะทำการวิเคราะห์สินเชื่อหรือรับเอกสารของผู้ประกอบการที่จะขอสินเชื่อ โดยใช้บัญชีที่ยื่นกับกรมสรรพากรเท่านั้น ซึ่งการมีบัญชีเดียวจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและสะท้อนสถานะทางการเงินของธุรกิจอย่างแท้จริง ทำให้มีโอกาสในการขอสินเชื่อได้มากขึ้น เนื่องจากธนาคารได้เห็นข้อมูลของกิจการที่ถูกต้องและเป็นจริง ส่งผลให้สามารถพิจารณาสินเชื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจได้ ดังนั้น หากศักยภาพของธุรกิจแท้จริงอยู่ที่ 100 ล้านบาท แต่กลับตกแต่งบัญชีให้เหลือเพียง 10 ล้านบาท เพื่อที่จะทำให้เสียภาษีน้อยลง ก็จะทำให้ได้เงินกู้จำนวนน้อยลง
5. ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น
แม้หลายคนจะคิดว่าการทำหลายบัญชีจะช่วยให้เสียภาษีน้อยลง แต่อาจไม่รู้ว่าการทำบัญชีเดียวสามารถช่วย SME ประหยัดภาษีได้มากกว่าสำหรับค่าใช้จ่ายในบางรายการ เช่น การฝึกอบรมพนักงาน ลงทุนในเทคโนโลยี และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการ ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้
6. ช่วยให้การส่งมอบกิจการราบรื่นมากขึ้น
หากธุรกิจไหนเป็นของครอบครัวที่มีมาหลายรุ่น การจัดทำระบบบัญชีเดียว จะช่วยให้การส่งต่อกิจการไปยังคนรุ่นต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น เพราะมีการจัดเก็บบันทึกทางการเงินที่ถูกต้อง เป็นจริงและตรวจสอบได้ รวมถึงรู้ต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ทายาทรุ่นไปไม่ต้องมาปวดหัวกับตัวเลขที่ยุ่งเหยิงและไม่ตรงกับความเป็นจริง
7. ขยายโอกาสขายกิจการ
เช่นเดียวกับการส่งมอบกิจการให้กับทายาทรุ่นต่อไป การทำบัญชีเดียว จะช่วยเพิ่มโอกาสการขายกิจการให้มีมากขึ้น ในกรณีที่เจ้าของธุรกิจอยากเลิกกิจการในวันที่กิจการกำลังไปได้ดี ซึ่งแม้ทุกวันนี้จะมีคนสนใจเข้าซื้อกิจการกันมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้หลายบริษัทขายไม่ได้ ก็เพราะไม่รู้งบการเงินที่แท้จริง มีการตกแต่งตัวเลขในบัญชีที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงทำให้สูญเสียโอกาสที่จะเจรจากับนักลงทุนไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี