ไทยพาณิชย์ มอบรางวัลเกียรติยศ 5 SME ไทยสร้างธุรกิจโตยั่งยืน




     ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศผลรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย “Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14” เชิดชูผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ไทยที่ประสบความสำเร็จในมิติที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจาก อานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นประธานมอบรางวัล


     รางวัล Bai Po Business Awards by Sasin เป็นรางวัลเกียรติยศที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 14 มีผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 71 บริษัท เพื่อยกย่อง และชื่นชมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่มียอดขายตั้งแต่ 50 ล้านบาท – 500 ล้านบาท และดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 3 ปี  ที่มีความสามารถในการปรับตัว สร้างธุรกิจให้เติบโต และประสบความสำเร็จ และเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ ได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ รางวัลนี้จึงเป็นรางวัลของผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลสามารถใช้ตราสัญลักษณ์ของรางวัลในสินค้าและสถานประกอบการ เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองความโดดเด่นของกิจการ และสินค้าต่างๆ ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาด รวมถึงเป็นเครื่องหมายสะท้อนความน่าเชื่อถือแก่ลูกค้า หรือคู่ค้าของธุรกิจที่ได้รับรางวัล


     สำหรับครั้งนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกบริษัทผู้ประกอบการที่สร้างธุรกิจให้มีความโดดเด่น รวม 5 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผัก ผลไม้แปรรูป ภายใต้แบรนด์ “Greenday” 2. บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือกันภัย ชุดยูนิฟอร์มและอุปกรณ์ความปลอดภัย ภายใต้แบรนด์ “Microtex” 3. บริษัท ดีดีซี สปอรกเก็ต จำกัด ผู้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ รายแรกและรายเดียวในไทยที่นำเทคโนโลยี Fine Blanking มาใช้ผลิตแมคคานิคประเภทเหล็ก 4. บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน จำกัด ผู้ประกอบการร้านเครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียน และ 5. บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “สารัช”





     บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด ได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และการบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด


     ชัยรัตน์ คงศุภมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวทั่วโลก ดังนั้น การทำธุรกิจต้องมี Barriers to Entry ป้องกันไม่ให้คู่แข่งตามทัน และต้องผลิตสินค้าให้คุณภาพดีเหมือนกับที่เรารับประทานเอง ผู้บริโภคก็จะสัมผัสถึงความแตกต่าง  กรีนเดย์จึงควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นทางการผลิต เช่น พัฒนาเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบ แล้วทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) กับเกษตรกร ให้ปลูกแบบไร้สารเคมี จากนั้นก็พัฒนารสชาติให้เข้ากับความนิยม ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการขายในประเทศ  30%  และสัดส่วนการขายตลาดต่างประเทศอีก 70% และสำหรับปี 2561 ที่ผ่านมา กรีนเดย์มียอดขาย 400-500 ล้านบาท และในปี 2562 ตั้งเป้าจะดันยอดขายให้เติบโตถึง 1,000 ล้านบาท


     บริษัท กลัฟเท็กซ์  จำกัด ได้รับรางวัลในมิติองค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และการบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ


     เสริมศักดิ์ วงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลัฟเท็กซ์  จำกัด  เปิดเผยว่า รางวัลนี้สะท้อนถึงวิชั่นของบริษัทที่แม้ต้องแข่งขันกับต่างประเทศเป็นหลัก แต่ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค เพราะมั่นใจองค์ความรู้ที่มีและการเข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้า ทำให้รู้ปัญหาที่แท้จริง แล้วจึงเข้าไปแก้ปัญหาให้แบบ Tailor-Made ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม  และผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนสูงสุด  โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขาย 430 ล้านบาท  และตั้งเป้าว่าในปี 2562 จะมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15%


     บริษัท ดีดีซี สปรอกเก็ต จำกัด ได้รับรางวัล ในมิติองค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ


     คมเดช วิจิตรจรัสกุล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีดีซี สปรอกเก็ต จำกัด  กล่าวว่า ธุรกิจของดีดีซีไม่ได้แข่งกับคนไทยด้วยกันเอง แต่กำลังแข่งกับต่างชาติ ด้วยจุดแข็งเรื่องเทคนิคการผลิตที่คิดค้นขึ้นเอง และสามารถออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำหรับ Fine Blanking ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ จึงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและยังสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดรวดเร็ว ทำให้บริษัทสามารถแข่งขันกับต่างชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องมาตรฐานสูงได้สำเร็จ ทำให้ในปี 2561 ที่ผ่านมียอดขาย 336 ล้านบาท  และตั้งเป้าว่าในปี 2562 จะดันยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้นอีก 30%


     บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน จำกัด ได้รับรางวัลในมิติการบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด และการบริหารจัดการด้านบุคลากร


     นพนารี พัวรัตนอรุณกร  กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน  จำกัด กล่าวว่า  สิ่งที่ทำให้ร้านสมใจยืนหยัดมากว่า 63 ปี เพราะเรามีความเป็น Specialty ด้านอุปกรณ์ศิลปะที่ครอบคลุมงานศิลป์ทุกประเภท  เราไม่ได้เข้าไปแตะตลาดของแบรนด์อื่น ถึงแม้ว่าจะใหญ่กว่า เพราะสมใจมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา ที่เขาต้องการสินค้าเฉพาะที่หาได้ที่ร้านสมใจ และต้องการคำแนะนำจากผู้ขายที่มีความรู้จริงเรื่องสินค้าทุกชนิด นี่คือสิ่งที่เราพัฒนาคนของเราให้เป็นมากกว่าพนักงานขาย และเรามุ่งพัฒนาเฮาส์แบรนด์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งด้านราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดแต่คุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า โดยในปี 2562 นี้ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจอยู่ที่ 10 - 15%
 

     บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด  ได้รับรางวัลในมิติองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน  การบริหารจัดการด้านบุคลากร และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ


     สุภาลักษณ์ กมลธรไท กรรมการผู้จัดการ บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้สารัชเติบโตได้ในตลาดที่แข่งขันสูงและวัฎจักรการเลียนแบบสินค้ากลายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราคำนึงถึงความจริงใจต่อผู้บริโภค ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่ดี และไม่ใส่ส่วนผสมที่ไม่ดีต่อสุขภาพให้กับลูกค้า ใช้จุดแข็งเรื่องของการอยู่ในแหล่งมะขามทำให้ได้วัตถุดิบคุณภาพ  ทั้งยังมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองจึงได้เปรียบเรื่องต้นทุน ทำราคาแข่งขันในตลาดได้ และมีการสร้างห้องเย็นจัดเก็บมะขามขึ้นเป็นรายแรก ทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการแปรรูปได้ทั้งปี  และยังช่วยเหลือเกษตรกรในปีที่มะขามล้นตลาดอีกด้วย  ที่สำคัญธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องไม่หวังแต่ผลกำไร แต่เราต้องคืนกำไรกลับสู่ชุมชน และสิ่งแวดล้อมด้วย  โดยในปี 2562 ตั้งเป้าจะผลักดันยอดขายให้เติบโตที่ 200 ล้านบาท


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้