ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ขับเคลื่อนองค์กรตามยุทธศาสตร์ SCB Transformation เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลในรูปแบบใหม่ให้แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นเวลา 3 ปีที่ธนาคารได้ดำเนินการ “ซ่อม เสริม สร้าง” รากฐานองค์กรให้แข็งแกร่ง และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน
วันนี้เดินหน้ามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเพื่อเร่งกระบวนการ Transformation สู่เป้าหมาย 2020 จึงประกาศยกเครื่องแนวการทำงานครั้งใหญ่ ในเรื่องนี้ อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการลงทุนดังกล่าวจะไม่สามารถออกดอกออกผลได้เลย หากธนาคารไม่ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งอนาคต ด้วยเหตุนี้ ในปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์จึงริเริ่มในการนำวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า Agile Organization มาใช้เพื่อให้มีความสามารถในการตอบสนองผู้บริโภคในเรื่องของการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ความรวดเร็ว (Speed) นวัตกรรม (Innovation) และวัฒนธรรมความเสี่ยง (Risk Culture) เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน
“หลายบริการที่ธนาคารได้เริ่มปรับเปลี่ยนแล้ว เช่น SCB Easy ที่จะมี feature ใหม่ๆ ทุก 1-2 เดือน เพื่อดูความพึงพอใจของลูกค้าว่ามีความชอบไม่ชอบในเรื่องใด แต่การปรับตัวยังไม่ไวอย่างที่ใจคิด จึงต้องสร้างรากฐานให้องค์กร ภายใต้สี่แกน Customer Centric, Speed, Innovation และ Risk Culture ที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยน mind set คนในองค์กร โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนบทบาทผู้บริหารมาเป็น coach เปลี่ยนวิธีการทำงานวัฒนธรรมในองค์กรใหม่ การปรับเปลี่ยนคณะผู้จัดการใหญ่ 4 ท่าน เพื่อให้การทำงานได้สะดวก มีความคล่องตัว ตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น”
“การปรับเปลี่ยนเขย่าองค์กรครั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานกว่า 2 หมื่นคนได้รู้ทิศทางและเตรียมตัวไปด้วยกัน โดยผู้บริหารจะทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ผู้บริหารทั้ง 4 ท่านนั่งในห้องทำงานผม ทำงานร่วมกันเหมือน co working space สู่เป้าหมายคือการทำให้ลูกค้าพอใจ”
สำหรับคณะผู้จัดการใหญ่ ประกอบด้วย สารัชต์ รัตนาภรณ์ อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ อรพงศ์ เทียนเงิน และดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ โดยได้วางบทบาทให้คณะผู้จัดการใหญ่ทำงานร่วมกันในลักษณะ Agile Team เพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องและขับเคลื่อนวิธีการทำงานแบบใหม่ในลักษณะ Agile Organization เพื่อต่อยอดให้ลูกค้าได้รับการบริการที่ดีที่สุด ในการตั้งคณะผู้จัดการใหญ่ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มช่วงที่สองของ SCB Transformation เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลับหัวตีลังกา เพื่อสู่เป้าหมายในการเป็น The Most Admired Bank”
สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ตามยุทธศาสตร์กลับหัวตีลังกา ผมตั้งใจผลักดันการเติบโตเพื่อมาทดแทนธุรกิจเดิม (New Normal of Growth) โดยธุรกิจแรกคือ การปล่อยกู้ผ่านช่องทาง digital (Digital Lending) ซึ่งจะต้องผลักดันให้ไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารที่สร้างประสบการณ์การขอสินเชื่อที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกรูปแบบความต้องการ ธุรกิจที่สองที่ต้องการผลักดันอย่างเต็มที่ก็คือ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Management ในไม่ช้าธนาคารจะมีขีดความสามารถในการให้บริการเรื่องการลงทุนในต่างประเทศสำหรับลูกค้ากลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (Ultra-High Networth) ผ่านบริษัทร่วมทุนกับ Julius Baer ส่วนในกลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่งทั้งหมดนั้น ผมจะเร่งการพัฒนาความสามารถในการบริหารความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามความต้องการรายบุคคลที่ถูกที่ถูกเวลา เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องผสมผสานการใช้ AI / DATA และขีดความสามารถใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้เป็น The Most Admired Bank ให้ได้ในที่สุด”
ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ในการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิมนั้น ธนาคารให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้สร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า ผมตั้งใจที่จะผลักดัน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. Platform Banking ธนาคารต้องปรับรูปแบบการให้บริการเป็น Platform ให้ได้อย่างแท้จริงเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หรือในธุรกิจของลูกค้าให้ได้ 2. Partnership Banking การทำงานร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า และเติบโตไปพร้อมกัน 3. Predictive Banking การนำ Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างถ่องแท้และทันต่อความต้องการ”
อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เน้นว่า “ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในการผลักดันภารกิจ SCB Transformation ให้สมบูรณ์นั้น ก็คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่เปลี่ยนวิถีการทำงาน โดยเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการทำงานให้พนักงานมีความกล้าที่จะเรียนรู้ให้เร็ว (learn faster)กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ และลองผิดลองถูกให้เร็ว (fail faster) แก้ไขและปรับปรุงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการให้ Empowerment ในการตัดสินใจ และมี Risk Culture ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วอย่างมาก ดิฉันจะเป็นผู้เร่งกระบวนการภายใน วิธีการทำงาน และการปลูกฝังวิธีคิดที่จะนำธนาคารไปสู่องค์กรแห่ง The New Normal of Customer Excellence ”
อรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ ในอนาคตอันใกล้ คู่แข่งของธนาคารจะไม่อยู่ในรูปแบบของธนาคารดั้งเดิมอีกต่อไป แนวทางการทำธุรกิจจากคู่แข่งใหม่ๆ จะมีความยืดหยุ่นสูง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เร็ว ใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาดำเนินธุรกิจ ผมตั้งใจที่จะโฟกัสยุทธศาสตร์ระยะยาวทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยพาณิชย์มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ทัดเทียมกับคู่แข่งเหล่านั้น เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยแนวทางเดียวกับองค์กรเหล่านั้น โดยมีคุณสมบัติหลัก ได้แก่ 1. ต้องรู้จักลูกค้าอย่างละเอียดรอบด้าน โดยใช้ Data ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2. ต้อง Super Innovate เพราะในอนาคตเราจะสร้างการเติบโตอย่างรวดเร็วได้จากการมีนวัตกรรมที่ล้ำหน้า 3. ความสามารถในการดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ และต้นทุนที่ต่ำ และ 4. ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากข้อมูล เพื่อสร้างต้นแบบธนาคารแห่งอนาคตที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางคู่แข่งระดับโลกใหม่ๆที่กำลังจะมาถึง”
อาทิตย์ ย้ำว่า “ผมและคณะผู้จัดการใหญ่ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานขององค์กร และผลักดันให้ธนาคารเติบโตผ่านกระบวนการ SCB Transformation ที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี 2020 เพื่อรับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมธนาคาร สร้างให้ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นองค์กรแห่งอนาคต (The Future Bank) ที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี