​ดัชนี SME ปรับขึ้นต่อเนื่อง SME D Bank ชูยุทธศาสตร์ “3เติม” ยกระดับผู้ประกอบการไทย


 

     ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  ม.หอการค้าไทย เปิดผลสำรวจดัชนี SME ประจำไตรมาส 4/2561 ส่งสัญญาณบวก ปรับเพิ่มทั้งด้านสถานการณ์ธุรกิจ ความสามารถในการทำธุรกิจ และดัชนีความสามารถในการแข่งขัน  คาดเพิ่มต่อเนื่องในไตรมาส 1/2562  ชี้ลูกค้า SME D Bank  แกร่งกว่าค่าเฉลี่ย ชูยุทธศาสตร์ “3เติม” คือ เติมทักษะ เติมเงินทุน และเติมคุณภาพชีวิต พาเติบโต เข้มแข็ง ยั่งยืนอย่างแท้จริง
 

     ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank แถลงดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SME ประจำไตรมาสที่ 4/2561 จาก  1,242 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจ 3 ดัชนี ได้แก่  1.ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SME (SME Situation Index) 2.ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ  (SME Competency Index) และ 3.ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SME (SME Sustainability Index)  นำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SME (SME Competitiveness Index)  
 




     ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย  รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า  ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ 43.7  ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (3/2561)  ส่วนไตรมาส 1/2562 คาดจะเพิ่มอีกไปอยู่ที่ 43.9
 

     ทั้งนี้  เมื่อลองเปรียบเทียบดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ในกลุ่มที่เป็นลูกค้ากับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. จะพบว่า  กลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับลดลง 0.2 จุด จากระดับ 37.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.7  สวนทางกับกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว.  ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.4 จุด จากระดับ 48.8  มาอยู่ที่ระดับ 49.2
 

     ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 4/2561 อยู่ที่ระดับ 50.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุด  เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ไตรมาส 1/2562 จะปรับเพิ่มอีกไปอยู่ที่ 50.6 โดยกลุ่มที่เป็นลูกค้า  ธพว. ดัชนีอยู่ที่ 58.4  สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า  ธพว. ซึ่งดัชนีอยู่ที่ 42.9     
 

     ส่วนด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 4/2561 อยู่ที่ระดับ 52.8 ปรับตัวลดลง 0.5  จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา  และคาดการณ์ไตรมาส 1/2562 จะเพิ่มไปอยู่ที่ 53.1  โดยเมื่อแยกเปรียบเทียบกลุ่มที่เป็นลูกค้า  ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า  ธพว.  พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีลดลง 0.1 จุด จากระดับ 45.7  มาอยู่ที่ระดับ 45.6   ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ปรับเพิ่มขึ้น 0.6 จุด จากระดับ 59.4  ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60.0  
 




     ผศ.ดร.ธนวรรธน์     กล่าวต่อว่า  จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SME    ไตรมาสที่ 4/2561 พบว่า อยู่ที่ระดับ 49.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา  โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากไตรมาส 3/2561 เป็นต้นมา และคาดว่าในไตรมาสที่ 1/2562  จะปรับเพิ่มขึ้นอีกไปอยู่ที่ระดับ 49.2   
 

     ทั้งนี้ เมื่อเทียบระหว่างกลุ่มที่เป็นลูกค้า  ธพว. กับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า  ธพว.  พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ลดลง 0.2 จุด  จาก 42.3 มาอยู่ที่ 42.1  สวนทางกับลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขึ้น 0.5 จุด จาก 55.4 มาอยู่ที่ 55.9
 

     ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือพัฒนากิจการจากภาครัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ด้านพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านสินเชื่อ เช่น การปล่อยสินเชื่อ ขั้นตอนเอกสาร ด้านหนี้สิน เช่น โครงสร้างหนี้ หนี้สินครัวเรือน หนี้นอกระบบ ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี โครงสร้างภาษี และด้านการศึกษา เช่น พัฒนาการเรียนรู้ จัดอบรมให้ผู้ประกอบการ
 




     มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME D Bank  กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของ ธพว.  จะมีค่าเฉลี่ย ทั้งดัชนีสถานการณ์ธุรกิจฯ   ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ   ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจฯ  และดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว.  ดังนั้น จึงบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า แนวทางการสนับสนุนจะให้เฉพาะเงินทุนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ และไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความรู้ และยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปด้วย


     ดังนั้น SME D Bank จึงยึดยุทธศาสตร์มอบ “3เติม” ให้แก่เอสเอ็มอีไทย  ได้แก่  1.เติมทักษะ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น อบรมสัมมนา จับคู่ธุรกิจ พี่เลี้ยงมืออาชีพ เป็นต้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ  เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย   2.เติมทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ  ซึ่งธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0  ดอกเบี้ยเพียง 0.08%ต่อเดือน หรือ 1% ต่อปี คงที่นาน 7 ปี (ตลอดอายุสัญญา) กู้ 1 ล้านบาทผ่อนเพียง 410 บาทต่อวัน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ   เพื่อธุรกิจเกษตร แปรรูปอาหาร ท่องเที่ยวชุมชน ค้าปลีก-ค้าส่ง  และอาชีพอิสระ  บุคคลธรรมดา ดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน ถ้าเป็นนิติบุคคล เหลือเพียง 0.25% ต่อเดือน เป็นต้น และ 3.เติมคุณภาพชีวิต ช่วยให้เข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในอาชีพ และลดภาระให้ครอบครัว   ซึ่งจากการมอบ 3 เติมดังกล่าว จะช่วยยกระดับเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เอสเอ็มอี สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้