นับวันการแข่งขันทางธุรกิจยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนว่าทางออกเดียวที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเอาชนะในเกมการแข่งขันนี้ได้ คือ การต้องทำให้ตัวเองแข็งแกร่งและยืนอยู่เหนือคู่แข่งที่มี โดยใช้อาวุธสำคัญอย่าง “นวัตกรรม” มาช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงส่งมอบอาวุธลับนี้ให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตอาหาร ผ่านโครงการ “K SME Good to GREAT คอร์สอัพธุรกิจเก่งให้แกร่ง” ด้วยการติวเข้มเพื่อสร้างผู้ประกอบการต้นแบบที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้จากงานวิจัยและนวัตกรรม
จากการดำเนินโครงการ K SME Good to GREAT ธุรกิจผลิตอาหาร สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของธนาคารกสิกรไทยที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ SME โดยใช้นวัตกรรมและงานวิจัยมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพราะเรื่องดังกล่าวกลายเป็นความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการในยุคนี้ก็ว่าได้ ซึ่งหาก SME ยังคงอยู่แบบเดิมๆ โดยไม่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ โอกาสที่จะสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งก็มีมาก แต่หากมีการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยปรับปรุงพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของตัวสินค้า แพ็กเกจจิ้ง หรือกระบวนการทำงาน ย่อมนำมาซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น
“จริงๆ แล้ว นวัตกรรม คือ การใส่สิ่งใหม่เข้าไปในชุดความคิดเดิม ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและมีประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ทำให้สามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคง ซึ่งโครงการ K SME Good to GREAT ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้นนั้น จึงเป็นเหมือนทางลัดที่ทำให้ SME เข้าใกล้กับนวัตกรรมและงานวิจัยได้ง่ายขึ้น ผ่านรูปแบบของการอบรมเชิงลึกที่เห็นผลลัพธ์จริงๆ ไม่ใช่ได้แค่ความรู้หรือแนวคิด แล้วต้องกลับไปหาวิธีการทำต่อเอาเอง แต่ผู้ประกอบการที่ผ่าน การอบรมในโครงการนี้ จะได้รับความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแบบตัวต่อตัว ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมให้เป็นจริงได้ และอีกสิ่งที่ผู้ประกอบการได้มาโดยเป็นผลพลอยได้จากโครงการนี้ นั่นคือ เน็ตเวิร์กที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่ทุกคนอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารเหมือนกัน ย่อมมีความรู้แตกต่างกันไป สามารถจะช่วยเหลือสนับสนุนกันได้”
นับได้ว่าโครงการ K SME Good to GREAT เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของธนาคารกสิกรไทยที่เกิดขึ้น สามารถช่วยสนับสนุนและเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ SME ได้อย่างแท้จริงทั้งที่เป็นลูกค้าและไม่ใช่ลูกค้าของธนาคาร และจะเป็นแนวทางที่ธนาคารกสิกรไทยใช้เดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนและอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดไป
โฉมหน้า 5 ธุรกิจอาหารสุดแกร่ง! จากโครงการ K SME Good to GREAT
โครงการ K SME Good to GREAT ธุรกิจผลิตอาหาร เริ่มต้นขึ้นจากผู้ประกอบการจำนวน 321 คนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนา ถูกคัดเลือกจนเหลือเพียง 54 บริษัท เพื่อเข้าอบรมสัมมนาเชิงลึก 4 วัน กับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่จะมาให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และผ่านการคัดกรองจนเหลือบริษัทสนใจเข้ายื่นเสนอโครงการาแข่งขันทั้งสิ้น 22 บริษัท จากนั้นได้คัดเลือกรอบแรกเหลือ 11 บริษัท จนมาถึงรอบสุดท้ายได้คัดเหลือ 5 บริษัทผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งที่สุด พร้อมรับเงินรางวัลรายละ 100,000 บาท รวมทั้งถูกยกให้เป็นต้นแบบของธุรกิจอาหารยุคใหม่ที่สามารถสร้างความสำเร็จได้ด้วยพลังของนวัตกรรม
โกลบอล พาร์ทเนอร์ อินเตอร์ฟู้ด : พลิกโฉมมะม่วงให้กลายเป็นท็อปปิ้งผลไม้ส่งออก
จากผู้ส่งออกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ที่เจอปัญหามะม่วงกว่า 70% ถูกคัดตกเกรด เนื่องจากผิวไม่สวย ทำให้ สุรวิชญ์ ทิพยารมณ์ ผู้บริหารของบริษัท โกลบอล พาร์ทเนอร์ อินเตอร์ฟู้ด จำกัด เริ่มมองหาทางออกให้กับมะม่วงตกเกรดด้วยการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และต้องการให้สินค้าสามารถกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลกได้ สุรวิชญ์จึงสนใจโครงการ K SME Good to GREAT ด้วยความที่ชื่อโครงการเหมือนกับหนังสือที่ชื่นชอบและคิดว่ากสิกรน่าจะสามารถพาตนเองไปสู่สิ่งที่ดีได้ นอกจากนี้ ด้วยความที่นวัตกรรมเป็นเรื่องใหม่ ต้องมีการลองผิดลองถูกและธนาคารมีทุนในการสนับสนุน ทำให้สุรวิชญ์ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ และในที่สุดก็เกิดเป็นท็อปปิ้งมะม่วงน้ำดอกไม้เจ้าแรกของโลก
“เราเลือกทำเป็นท็อปปิ้งมะม่วงน้ำดอกไม้ เพราะนำมาประยุกต์ได้หลายอย่าง เบเกอรี่ก็ได้ อาหารไทยก็ได้ เราเลือกใช้และสื่อสารด้วยมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เท่านั้น เพราะเราอยากส่งมอบคุณค่าจากผืนแผ่นดินไทย นวัตกรรมทุกวันนี้สำคัญมาก เราอยู่ในโลกทุนนิยม เจ้าใหญ่ได้เปรียบ SME เล็กๆ อย่างเราต้องเริ่มมองหาโอกาสจากน่านน้ำตื้นๆ ที่เจ้าใหญ่เข้ามาไม่ได้ เราต้องแปลงร่างตัวเองเป็นปลาตีนที่สามารถสะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบกได้ด้วยนวัตกรรม เราจึงกล้าใช้มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เพราะเจ้าใหญ่เขาไม่ทำ เพราะไม่คุ้มในเชิง Mass แต่เราเล็ก เราวางตัวเองให้มีความเฉพาะ เราจึงต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยพัฒนาไอเดียของเราให้เกิดเป็นจริงในเชิงพาณิชย์ได้ โดยโครงการนี้ได้เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัย มีการสนับสนุนองค์ความรู้และเงินทุน ทำให้เราตัดสินใจง่ายมากในการเข้าร่วมโครงการนี้”
เซฟ ไลฟ์ โปรดักส์ : ผงปั่นสมูตตี้ นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเกษตรอินทรี
ไร่รื่นรมย์ คือฟาร์มเกษตรอินทรี ฟาร์มสเตย์และศูนย์การเรียนรู้ในจังหวัดเชียงราย โดย วิลาสินี กิตะพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งไร่รื่นรมย์และผู้บริหารบริษัท เซฟ ไลฟ์ โปรดักส์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ด้วยความต้องการจะต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของตนเอง จึงสนใจโครงการ K SME Good to GREAT เพราะต้องการหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแปรรูปให้กับพืชผลของทางไร่รื่นรมย์ จนในที่สุดก็กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ อย่าง ผงปั่นสมูตตี้ออแกนิกส์
“ที่ผ่านมาเราได้ลองปลูก Italian Kale มีการขายสดและแปรรูปบดเป็นผง ซึ่งเราอยากจะต่อยอดพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น กล้วย โดยคิดว่าจะสามารถทำเป็นผง เก็บได้นานขึ้นไหม หรือทำเป็นโปรไบโอติก เป็นสินค้าที่เติมน้ำแล้วชงทานได้เลย เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ แต่เราเองยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องนี้มากนัก โดยทางโครงการสามารถเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องของเทคโนโลยีได้ มีนักวิจัยที่สามารถจับคู่กับสิ่งที่เรามีได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่ได้รับจากโครงการ ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่มีทั้งการได้เพื่อนใหม่ มีการจัดแคมป์ให้มาเจอกัน มีกิจกรรม เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่แต่ละคนมี ช่วยเปิดมุมมองของเราให้กว้างมากขึ้น”
เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ : ทะเลแปรรูปพร้อมบริโภคเชิงนวัตกรรม
เมื่อฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เริ่มมีการย้ายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลายๆ ธุรกิจเริ่มปรับตัว หนึ่งในนั้นคือ สุเทพ ไชยธานี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซาท์เทอร์น ซีฟูด โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งแปรรูป และทำการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยกล่าวว่า ทางออกหนึ่งของปัญหานี้ คือต้องต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ และโครงการ K SME Good to GREAT ก็เข้ามาตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
“ความรู้ที่ได้รับจากโครงการ การได้เจอนักวิจัยตัวจริง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การได้รับการสนับสนุนจากทางธนาคารและการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน ทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาสินค้าและเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้นั้นประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ใช้ในกระบวนการผลิตและการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ เพราะตราบใดที่เรายังหาความต่างหรือจุดขายไม่ได้ การทำธุรกิจก็จะเป็นเรื่องที่ยาก โดยทางแบรนด์ของเราได้เลือกสรรนวัตกรรมเข้ามาใช้สำหรับแปรรูปอาหารทะเลอบแห้งและย่างจนสุก เพื่อให้มีคุณภาพดีมากขึ้น เนื้อสัมผัสนุ่มมากขึ้น มีการวิเคราะห์คุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคในตลาด”
พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ : น้ำพริกสำเร็จรูปแบบมินิ ทางเลือกใหม่ผู้บริโภค
ขณะที่ ธนาวัฒน์ โพธิ์เผื่อนน้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำพริกสำเร็จรูปแบบมินิแบรนด์รุ่งเจริญ บอกว่า ด้วยความต้องการที่จะขยายตลาดและหาช่องทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ รวมไปถึงองค์ความรู้ต่างๆเพื่อนำมาปรับใช้ในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งโครงการ K SME Good to GREAT ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้
“องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการสามารถยกระดับเอสเอ็มอีที่มีความเก่งอยู่แล้วให้ไปต่อได้ในอีกระดับ อีกทั้งยังเป็นตัวจุดประกายไอเดียต่างๆ มีโอกาสสร้างคอนเน็กชันและได้รับคำแนะนำจากนักธุรกิจรุ่นพี่ ทำให้รู้ว่าเราควรที่จะดำเนินธุรกิจต่อยังไงและจะต้องระมัดระวังยังไง ที่สำคัญได้รู้ว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ SME ต้องมี ไม่ว่าจะทำสินค้าอะไร เราไม่สามารถอยู่อย่างเดิมได้ จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสการเติบโตมากขึ้น และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง รวมไปถึงสามารถนำเสนอสินค้าใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกหรือตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการที่เราทำผลิตภัณฑ์น้ำพริกของเราออกมาให้สามารถรับประทานได้แบบพอดีมื้อ หรือเป็นน้ำพริกแบบมินินั้น ก็เป็นอีกวิธีของการหยิบเอานวัตกรรมมาเล่นกับตัวบรรจุภัณฑ์ ซึ่งช่วยสร้างความแปลกใหม่ ความแตกต่างให้กับตลาดและเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค”
อินเซ็ค โปรตีน : ขนมขบเคี้ยวเสริมโปรตีนจากจิ้งหรีด
แมลง คือ แหล่งโปรตีนชั้นยอด ถึงขนาดยกให้เป็น Superfood สุดยอดอาหารที่มีประโยชน์มากมาย แต่ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้หลายคนไม่กล้าลิ้มลอง ด้วยเหตุนี้ อิทธิกร เทพมณี - ณัฐกร อรุณานนท์ชัย สองผู้บริหารแห่งบริษัท อินเซ็ค โปรตีน จำกัด จึงตั้งโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดในรูปแบบของขนมอบกรอบเสริมโปรตีนจากจิ้งหรีด และผงจิ้งหรีดสำหรับนำไปผสมอาหาร แต่การเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นสินค้าระดับอุตสาหกรรมที่มีความเป็นแมสไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ จึงได้เข้าร่วมโครงการ K SME Good to GREAT เพื่อค้นหารูปแบบวิธีการผลิตที่เหมาะสม จนสามารถประสบความสำเร็จ พร้อมออกสู่ตลาดได้ในเร็ววันนี้
“ด้วยโจทย์ที่เป็นปัญหาหลัก คือ รูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นสาเหตุให้คนไม่ยอมกิน เราจึงคิดว่าการแปรรูปทำเป็นสแน็ค คือ คำตอบที่ดีที่สุด จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาด การได้เข้าร่วมครั้งนี้ทำให้เราได้มีโอกาสเจอกับนักวิจัยต่างๆ ทำให้ได้รับคำปรึกษาดีๆ ช่วยแก้ไขปัญหาที่พบ รวมถึงได้พบกับพี่ๆ เพื่อนๆ ผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจอาหารด้านต่างๆ ที่ช่วยแสดงความคิดเห็นและให้ข้อแนะนำดีๆ ทำให้เราได้เห็นภาพของตัวธุรกิจได้ชัดเจนขึ้นในมุมมองที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรางวัลเป็นเงินทุนสนับสนุนให้ได้นำไปใช้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นด้วย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ที่สำคัญเราเชื่อว่า ถ้าวันนี้เรามีนวัตกรรม จะสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ และจากสิ่งที่หลายคนอาจมองว่าไม่มีค่า ก็ทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้”
จาก 5 ผู้ประกอบการต้นแบบจากโครงการ K SME Good to GREAT สะท้อนมุมมองที่เริ่มเปลี่ยนไปของผู้ประกอบการ SME ทำให้เห็นว่าวันนี้นวัตกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการทำธุรกิจในยุคนี้มากขนาดไหน และ SME จะอยู่แบบเดิมๆ อีกต่อไปไม่ได้แล้ว ถ้าวันนี้คุณเริ่มต้นด้วยคำว่านวัตกรรมได้ ความสำเร็จในอนาคตอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และโครงการ K SME Good to GREAT ของธนาคารกสิกรไทยก็พร้อมที่จะนำพาผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวไปบนเส้นทางนวัตกรรม
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี