สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ตีแผ่งานวิจัยพบว่าการฟ้องร้องคดีเช็คในชั้นศาลสร้างความยุ่งยาก ทั้งมุมคู่กรณีและภาครัฐ เสนอให้คดีเช็คเด้งพ้นจากการเป็น คดีอาญา เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินคดี แน่นอนว่าผู้ประกอบการ SME ซึ่งส่วนใหญ่ทำธุรกรรมการเงิน โดยใช้เช็คจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย
เนื้อหาใน พ.ร.บ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2534 มีใจความสำคัญโดยย่อว่า ผู้ใดที่มีเจตนาไม่ชำระเงินให้กับคู่สัญญาที่ระบุไว้ในเช็คหรือเจตนาที่จะทำให้ ‘เช็คเด้ง’ จะต้องโทษเป็นคดีอาญา ซึ่งมีความแตกต่างจากกฎหมายการค้าอื่นๆ ที่เป็นการบังคับใช้โดยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
อย่างไรก็ดี จากมุมมองทางนิติศาสตร์ระบุให้ การเจตนาทำให้เช็คเด้งเป็นความผิดทางอาญา เนื่องจากต้องการสร้างความ ‘น่าเชื่อถือ’ เมื่อมีการใช้เช็ค เพื่อทำธุรกรรมการเงิน เมื่อมีกรณีพิพาท จึงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เข้ามาควบคุมดูแล เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเอาไว้ โดยเป็นหน้าที่ของ ‘ศาลแขวง’ ที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ยคู่กรณีให้มีการยอมความกัน หรือพิจารณารับฟ้องร้อง
จากข้อมูลวิจัยของทีดีอาร์ไอ ซึ่งทำการสำรวจคดีเช็คในศาลแขวง ในระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง พบว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีการใช้เช็คเพื่อทำธุรกรรมการเงินปีละ 120 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่า 60,000 ล้านบาท
มูลค่าเฉลี่ยต่อการใช้เช็คหนึ่งใบอยู่ที่ 450,000 บาท ในแต่ละปีจะมีกรณีเช็คเด้งประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ในแง่จำนวนธุรกรรม แต่คิดเป็น 0.25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับมูลค่าธุรกรรม แสดงว่ามีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เช็คเด้ง โดยมูลค่าเฉลี่ยของการเกิดเช็คเด้งที่เข้าสู่กระบวนการของศาลอยู่ที่ 115,000 บาท
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ระยะเวลาในการพิจารณาคดีเฉลี่ยอยู่ที่ 21.2 เดือน หรือเกือบ 2 ปี อัตราเร็วที่สุด คือ 10 เดือน นานที่สุด คือ 32 เดือน ในแต่ละปีนั้นจะเกิดต้นทุนการพิจารณาคดีเช็ค 909-1,351 ล้านบาท โดยแยกเป็นต้นทุนของคู่กรณี
ถ้าเลือกที่จะจ้างทนายความบวกค่าเสียเวลาและค่าเดินทางจะเกิดค่าใช้จ่ายต่อปีถึง 276 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าเฉลี่ยของคดีที่ 115,000 บาท นับได้ว่าเป็นการทำธุรกรรมขนาดเล็ก ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ จึงถือเป็นต้นทุนที่สูงเกินไปไม่คุ้มค่ากับเวลาและค่าใช้จ่ายที่เสียไป โดยผู้เสียหายมีอัตราการได้เงินคืนที่ 65-80 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเช็ค
คำถามสำคัญ คือ ทำไมการทำธุรกรรมชำระหนี้วิธีอื่น เช่น ตั๋วแลกเงิน หรือ บัตรเครดิต เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเพียงคดีแพ่ง แต่การใช้เช็คเป็นถึงคดีอาญา ถ้าพิจารณาในมุมนิติเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงโดยไม่จำเป็น เสมือนกับใช้หน่วยงานของรัฐมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหนี้ให้กับเอกชน
ทีดีอาร์ไอยังระบุอีกว่า หน่วยงานที่เสนอให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายอาญากับคดีเช็คนั้นมีถึง 54.5 เปอร์เซ็นต์ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม อัยการและศาล โดยให้เหตุผลว่า ควรเป็นเรื่องของคดีแพ่งเพียงอย่างเดียว ส่วนหน่วยงานที่เสนอให้ยังคงใช้กฎหมายอาญา คือ ตำรวจและสภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย
ประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง อย่างศาล ธนาคารพาณิชย์และเครดิตบูโร หากให้มีการยกเลิกกฎหมายให้การทำเช็คเด้งไม่ต้องเป็นคดีอาญาจะมีทางอื่นหรือไม่ที่จะทำให้การใช้เช็คยังมีความน่าเชื่อถือต่อไป เพราะสามารถนำผู้ที่มีความผิดเข้าคุกได้
หนึ่งในข้อเสนอที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุด คือ การดึงประวัติการใช้เช็คให้เข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ทั้งนี้ อุปสรรค คือ การใช้เช็คไม่ใช่สินเชื่อ จึงไม่สามารถตรวจสอบและเก็บข้อมูลได้ตามกฎหมาย จึงมีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายข้อมูลเครดิตแห่งชาติเสียก่อน โดยประเทศที่มีการนำข้อมูลการใช้เช็คในเครดิตบูโร ได้แก่ ออสเตรเลียและแคนาดา
ขณะที่อุปสรรคสำคัญอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ ในหนึ่งปีมีการใช้เช็คทำธุรกรรมกว่า 120 ล้านฉบับ เฉลี่ย 10 ล้านรายการต่อเดือน หากมีการสั่งให้ธนาคารจัดเก็บข้อมูลการใช้เช็คจะกลายเป็นภาระกับสถาบันการเงินอย่างมาก เมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลลูกหนี้สินเชื่อ 60 ล้านรายการต่อปี
ที่สำคัญหากจะมีการเรียกดูข้อมูลการใช้เช็คในอนาคต อาจจะไม่สามารถเรียกดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เนื่องจากจะมีช่วงของเวลา ผู้ที่ออกเช็คและรับเช็คไม่ได้รับข้อมูลจริงทันที หากผู้ออกเช็คเคยจ่ายเช็คเด้งไว้ก่อน แต่ใช้ข้อมูลช่วงที่ไม่เคยจ่ายเช็คเด้งแสดงต่อผู้รับเช็คว่าเป็นข้อมูลล่าสุดอาจทำให้เกิดปัญหาได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีศูนย์ข้อมูลการใช้เช็คโดยเฉพาะ หากเกิดกรณีเช็คเด้งกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งจะทำการส่งข้อมูลของผู้ออกเช็คไปยังศูนย์ข้อมูล และทำการกระจายข้อมูลนั้นไปยังทุกสถาบันการเงินแบบเรียลไทม์ เพื่อระงับการทำธุรกรรมของผู้จ่ายเช็ค ซึ่งอาจนำไปสู่การห้ามทำธุรกรรมหรืองดใช้บัตรเครดิตเป็นเวลา 5 ปี เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยังคงความน่าเชื่อถือให้กับการใช้เช็คโดยไม่จำเป็นต้องไปถึงคดีอาญา
ทั้งนี้ นักกฎหมายยังให้ความเห็นว่า กฎหมายเช็คของไทยมุ่งเน้นที่การเอาผิดผู้ที่ทำให้เช็คเด้งเป็นหลักโดยมีความผิดทันทีเมื่อกระทำ แต่กฎหมายในสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาจากเจตนาและเงื่อนไขของเวลาประกอบด้วย โดยจะให้โอกาสสำหรับผู้ที่ทำเช็คเด้งแก้ไขภายใน 90 วันจะให้การเว้นโทษ
ด้านมุมมองจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินคัดกรองลูกค้าที่ใช้เช็คแล้วมีปัญหาเช็คเด้งบ่อยๆ สามารถระงับการใช้เช็คได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่การแข่งขันในการให้บริการอย่างรุนแรง ธนาคารไม่สามารถปิดกั้นการใช้บริการเช็คของลูกค้าได้ เพราะเกรงว่าจะหนีไปใช้บริการจากธนาคารอื่นแทน
ทั้งนี้ ธุรกรรมการใช้เช็คที่มีปัญหาส่วนมากเกิดจากคู่กรณีที่มีการชำระเงินเพื่อการค้า โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่มีมูลค่าธุรกรรมไม่สูงนัก ในอนาคตถ้ามีการยกเลิกกฎหมายอาญา สำหรับผู้กระทำผิดจริงอาจจะมีผลทำให้เกิดเช็คเด้งมากขึ้นก็เป็นได้ เนื่องจากกฎหมายอ่อนลง แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและสินเชื่อในภาพรวม เพราะผู้ที่ทำเช็คเด้งยังมีสัดส่วนน้อยมาก
ทางออกที่ดีที่สุดในมุมมองนายธนาคาร น่าจะมีการจัดเก็บข้อมูลการใช้เช็คเช่นเดียวกับการเก็บข้อมูลสินเชื่อ ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการเดียวกันกับการเก็บข้อมูลการชำระสาธารณูปโภค อย่างเช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีของคนไทยในระยะยาว และเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินไทย แม้ช่วงแรกจะมีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่ารุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ก็เลือกใช้วิธีดังกล่าวแล้วและได้ผลเป็นอย่างดี
บทสรุป คือ ไม่ว่ากฎหมายการใช้เช็คจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตตามที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเรียกร้องหรือไม่ กลุ่ม SME ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงก็ควรสร้างวินัยทางการเงินให้เป็นอุปนิสัยที่ดี การทำให้เช็คเด้งจนเป็นคดีฟ้องร้อง นอกจากเสียต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำคดีแล้ว ต้นทุนทางสังคม หรือความน่าเชื่อถือก็จะสูญหายไปด้วย…!!!