‘How to ปลดหนี้’ จัดการหนี้อย่างไรให้ธุรกิจไปต่อได้






               
     เอาเข้าจริงกว่าที่ธุรกิจหนึ่งธุรกิจจะก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ เบื้องหน้าที่สวยงามใครๆ ต่างก็ปรบมือให้ แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังผู้ประกอบการ SME หลายคนอาจจะเคยปาดน้ำตา เคยกู้หนี้ยืมสิน เคยเกือบถอดใจ หลายคนยังเคยล้มมาแล้วนับไม่ถ้วน หากว่าคุณไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองหรือครอบครัวไม่ได้เปย์ขนาดนั้น การที่จะเริ่มทำธุรกิจก็อาจจะต้องมีการกู้หนี้ ยืมสินเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าตกใจเท่าไหร่ แต่ถ้าเวลาผ่านไป ธุรกิจอาจจะไปไม่ค่อยสวยหรือยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยก็ยังรอให้คุณจ่าย ความเครียดคงเริ่มมาเยือนไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญที่คุณต้องทำคือตั้งสติและค่อยๆ จัดการหนี้ในมือไปพร้อมกับหาทางพัฒนาธุรกิจให้ไปต่อได้พร้อมๆ กัน และ How to ต่อไปนี้ น่าจะเป็นแนวทางในการจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพให้กับคุณได้
 

1.ห้ามกู้หนี้นอกระบบเด็ดขาด


     
นี่คือเรื่องแรกที่สำคัญ ไม่ว่าคุณจะกู้ธนาคารจนครบทุกแบงค์ เข้ามาแล้วทุกสีก็ตาม ทางเลือกที่คุณห้ามทำโดยเด็ดขาด คือการกู้หนี้นอกระบบที่จะทำให้คุณเป็นหนี้ ดอกเบี้ยเพิ่มพูนไม่จบไม่สิ้น ความโหดร้ายของดอกเบี้ยนอกระบบเราต่างก็รู้ดีกันถ้วนหน้า เผลอๆ ใช้หนี้แทบตาย เงินต้นยังไม่ลดเลยล่ะ เอาเป็นว่า ข้อแรกคือห้ามเด็ดขาดกับการกู้หนี้นอกระบบ ขีดเส้นใต้ชัดๆ ไว้เลย
 




2.เจรจากับแบงค์ขอประนอมหนี้


     
แน่นอนว่าทุกธนาคารไม่อยากสูญเงินก้อนนี้จากคุณไปหรอก แต่ถ้าคุณทำเงียบหาย ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ฉันทำธุรกิจอยู่ ธนาคารอาจจะเริ่มคิดว่าคุณจะเบี้ยวแล้วเรื่องมันจะบานปลายใหญ่โต ทางที่ดีคุณควรพิจารณาความสามารถในการชดใช้หนี้ในแต่ละเดือนว่าคุณสามารถจ่ายได้เท่าไหร่ คุณมีรายได้จากธุรกิจเข้ามาเท่าไหร่ หักลบรายจ่ายและเงินที่จะนำไปต่อยอดธุรกิจ เบ็ดเสร็จเหลือเท่าไหร่ ลองไปคุยกับธนาคารดู
 

3.อย่ากู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่า


     
ความผิดพลาดที่จะทำให้คุณเป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้นคือการกู้หนี้ใหม่อยู่เรื่อยๆ เพื่อพยายามมาโปะหนี้ก้อนเก่า โดยเฉพาะก้อนที่คุณยืมมาจากหนี้นอกระบบ! นี่คือวงจรที่คุณจะหลุดออกมายากมาก สุดท้ายคุณอาจจะทำธุรกิจเพื่อใช้หนี้และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่หนี้จะหมดก็ได้ ยิ่งเป็นหนี้เยอะเท่าไหร่ คุณยิ่งจะสับสนและร้อนใจ สิ้นเดือนมาต้องจ่ายจนงง เพราะฉะนั้นตัดไฟตั้งแต่ต้นลม อย่ากู้หนี้ใหม่มาโปะหนี้เก่า


4.วางแผนการใช้หนี้ให้ดี


     
หากว่าคุณมีหนี้สินอยู่หลายก้อน การวางแผนการใช้หนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ลองมานั่งดูสิว่า หนี้แต่ก้อนระยะยาวเท่าไหร่ ก้อนไหนที่มีดอกเบี้ยสูงสุด เร่งโปะก้อนนั้นให้หมดก่อน จดเอาไว้ในลิสต์อันดับต้นๆ เลย ส่วนหนี้ก้อนไหนที่เกินกำลังจริงๆ อาจจะต้องขอประนอมหนี้อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น คุณควรที่จะจ่ายหนี้อย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลา เพื่อเครดิตที่ดีในอนาคต
 




5.เร่งพัฒนาธุรกิจ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย


     
หลังจากพูดถึงเรื่องหนี้ ก็ต้องมาเพิ่มรายได้ในธุรกิจกันบ้าง ถ้าหากธุรกิจคุณยังทรงตัว ไม่ได้ทำกำไรแบบหวือหวา แน่นอนถ้าทำกำไรได้มากขนาดนั้นคงไม่ต้องเครียดเรื่องใช้หนี้หรอกจริงไหม คุณต้องเริ่มมองธุรกิจที่คุณทำว่าคุณเก่งด้านไหน อะไรคือจุดแข็งและจะพัฒนาจุดแข็งต่อไปได้ไหม ต่อยอดจากจุดเดิมได้อย่างไร ที่สำคัญอย่าลืมมองจุดอ่อนว่าอะไรที่ทำให้คุณยังติดอยู่กับที่ คุณขายสินค้าผิดกลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า ทำการตลาดตรงจุดหรือไม่ หาซื้อสินค้ายากไปไหม มีอะไรที่จะแก้ไขได้ก็เริ่มทำ นอกจากนี้ต้อง Lean ค่าใช้จ่ายในองค์กร อะไรที่ไม่จำเป็นก็ต้องลดลง เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ อาจจะทำให้คุณมีเงินเหลือมากขึ้น



 ​www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้