หากพูดถึง HACKATHON กำลังเป็นที่รู้จักและนิยมทำกันในแวดวงดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพ ที่มารวมตัว เพื่อระดมสมองและสร้างโซลูชันใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยในการหาโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่เริ่มมีการจัด HACKATHON กันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนและมองหาไอเดียใหม่ๆ จากคนภายนอกองค์กร คนในอุตสาหกรรม นักศึกษา รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพ
จากจุดนี้เองที่ทำให้ ทีเอ็มบีได้นำแนวคิด HACKATHON มาปรับใช้ในธนาคารด้วยเช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้ กาญจนา โรจวทัญญู หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การจัด HACKATRON ของทีเอ็มบีเริ่มจัดกับคนภายในองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อระดมสมองในการหาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้า โดยจะเป็นหนึ่งแนวทางที่ทำให้เกิดการหาไอเดียใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาและให้บริการที่ดีกับลูกค้า
สำหรับรูปแบบของการทำ HACKATHON ของทีเอ็มบี จะเป็นลักษณะการจัดงาน TMB HACKATHON VALUE CHAIN 2018 โดยมีการแบ่งทีมออกเป็น 9 แวลูเชน ให้แต่ละทีมทำการรวบรวมสมาชิกกันเอง ทำให้แต่ละทีมมีสมาชิกที่มีความหลากหลายจากทุกสายงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนในทีมไม่ว่าจะเป็นระดับบริหารหรือระดับปฏิบัติการต้องถอดหัวโขนของตัวเองออก แล้วมาร่วมกันคิดหาโซลูชันเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าในระยะเวลาที่จำกัด โดยงานนี้มีการทำเวิร์คช้อปกันเป็นระยะเวลา 2 วัน เพื่อระดมสมองในการแก้โจทย์ที่แต่ละทีมตั้งขึ้นมา ซึ่งทีมที่ชนะเลิศ 3 ทีม จะได้รางวัลเป็น Tech Trip เพื่อไปดูงานที่บริษัทอาลีบาบา ประเทศจีน
“เราเริ่มต้นด้วยการให้แต่ละทีมตั้งโจทย์ (Problem Statement) ที่จะแก้ปัญหาให้ลูกค้าด้วยตนเอง ทั้ง 9 ทีม นั่นคือการเริ่มต้นจากการตั้งโจทย์ โดยจะมีการ Pitching ด้วยว่า โจทย์ที่แต่ละทีมตั้งมานั้น ถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งจะมีการตัดสินจากคณะกรรมการที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของทุกสายงานรวมถึงซีอีโอ จะร่วมกันชาเล้นจ์ (Challenge) การตั้งโจทย์ของแต่ละทีม พร้อมกับมีการ Pitching ว่ากรรมการท่านใดจะเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมไหน ถ้าทีมใดยังไม่มีสปอนเซอร์ ก็ต้องกลับไปตั้งโจทย์กันใหม่ ไม่ใช่แค่พนักงานเท่านั้น แม้แต่ตัวผู้ร่วมทีมที่เป็นผู้บริหารก็จะถูกชาเล้นจ์เหมือนกัน โดยเราเชื่อว่า การตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ถูกจุด หากเราตั้งโจทย์ผิดทาง จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างแท้จริง ทำให้เราใช้เวลาชาเล้นจ์ในเรื่องของการตั้งโจทย์นานกว่าการหาคำตอบอีก”
การทำ HACKATHON ครั้งนี้ นอกจากจะได้แนวคิดวิธีการหาไอเดียใหม่ๆ ไปใช้ในการทำงาน ทั้งวิธีการตั้งคำถาม เทคนิคการพูดคุยกับลูกค้าเพื่อให้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการแล้ว สิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับก็คือ ในเรื่องของความร่วมมือกันทำงานระหว่างแผนก ที่ในเวลาทำงานปกติ ต่างคนต่างทำงานตามหน้าที่ของตนในแต่ละแผนก ครั้งนี้จึงได้ในเรื่องของ “Team Spirit” ที่ผู้ร่วมทีมจากหลากหลายแผนก มาร่วมมือกันแก้ปัญหาให้กับลูกค้า ถือเป็นอีกความสำเร็จที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้เป็นอย่างดี
กาญจนา กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาทีเอ็มบี เป็นธนาคารที่มีการปรับตัวภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการลดลำดับขั้นภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ต่อมามีการสร้าง Agile Team เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพของแวลูเชน (Value Chain) เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และล่าสุดกับการจัด TMB HACKATHON VALUE CHAIN 2018 กิจกรรมที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสายงาน (Cross Functional Collaboration) โดยมุ่งหวังการแก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นธนาคารที่ลูกค้าชื่นชอบและบอกต่อมากที่สุดในประเทศ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี