​2 ตัวช่วยการเงิน หนุน SME ส่งออกโต!





               

     ในการส่งสินค้าไปขายยังตลาดต่างประเทศ นับเป็นช่องทางหนึ่งในการเติบโตก้าวขึ้นไปอีกขั้นของธุรกิจ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่ต้องรอพึ่งพิงแค่ตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงจากความผันแปรของตลาดโลก อีกทั้งส่วนใหญ่ยอดการสั่งซื้อที่เข้ามามักเป็นออเดอร์ขนาดใหญ่ การที่ผู้ประกอบการ SME ลงทุนผลิตสินค้าล่วงหน้าและให้เครดิตในการผ่อนชำระเงินกับลูกค้าไปด้วย อาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อนำมาบริหารจัดการธุรกิจได้ ด้วยเหตุนี้ EXIM BANK ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จึงได้มีนโยบายออกสินเชื่อตัวใหม่ล่าสุด ‘สินเชื่อรับซื้อตั๋วส่งออกอุ่นใจ EXIM IBD GLOBAL’ พร้อมกรมธรรม์ประกันส่งออก เพื่อช่วยเหลือ SME ให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ได้ โดยไม่ต้องรอเครดิตจากลูกค้า จึงนับเป็นอีกทางช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ให้สามารถทำการแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศได้ และเติบโตมากขึ้นในตลาดโลก
               
               
     พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่าจากมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2561 เมื่อครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ รวมถึงมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดย 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน
               

     อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ความผันผวนของตลาดโลกที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อาทิ สงครามการค้าระหว่างประเทศ ความผันผวนของตลาดการเงิน ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงภัยธรรมชาติ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ซื้อในต่างประเทศได้รับผลกระทบและผิดนัดการชำระค่าสินค้าได้ จึงทำให้ผู้ส่งออกไทยบางส่วนอาจเกิดความกังวล และไม่กล้าที่จะทำการค้าระหว่างประเทศ
               




     ด้วยเหตุนี้ EXIM BANK จึงได้พัฒนาผลิตใหม่ ‘สินเชื่อรับซื้อตั๋วส่งออกอุ่นใจ EXIM IBD GLOBAL’ เป็นสินเชื่อหมุนเวียนหลังการส่งออก เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ส่งออก SME จะได้นำเงินทุนมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจได้ทันที โดยไม่ต้องรอเครดิตจากลูกค้าในชำระเงินเข้ามา
               

     วิธีการ คือ หลังจากที่ได้รับออเดอร์สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแล้ว ผู้ประกอบการสามารถนำใบสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวมาขอสินเชื่อกับทางแบงก์ โดยมีข้อแม้ว่าก่อนทำการยื่นเรื่องขอสินเชื่อออเดอร์ดังกล่าวจะต้องมีการทำกรมธรรม์ประกันการส่งออกก่อน เพื่อให้เป็นหลักประกันกับทางแบงก์ เนื่องจากการขอสินเชื่อดังกล่าวแบงก์ไม่ได้มีการร้องขอหลักทรัพย์ค้ำประกันใดๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในเบื้องต้นทางแบงก์ต้องมีการตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ซื้อในต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าของผู้ประกอบการไทยก่อนว่ามีเครดิตน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด จึงจะสามารถอนุมัติค้ำประกันและออกกรมธรรม์คุ้มครองให้ได้
               

     โดยหากสนใจ SME สามารถยื่นกู้ได้วงเงินสูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย อัตราการรับซื้อ คือ Prime Rate - 2.0 % ต่อปีตลอดโครงการ ยกตัวอย่างเช่นปัจจุบัน Prime Rate ณ วันที่ 15 ต.ค.61 คือ 6.25 % ต่อปี เท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการต้องเสีย คือ 4.25 % ต่อปี โดยผู้ประกอบการ SME ที่สนใจขอสินเชื่อดังกล่าวต้องเป็นผู้ส่งออกที่มีมูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี
               

     ทาง EXIM BANK ได้ตั้งงบประมาณสำหรับโครงการสินเชื่อรับซื้อตั๋วส่งออกอุ่นใจไว้เงินทุน 1,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยคาดการว่าจะมี SME เข้ามาใช้บริการประมาณ 50-100 ราย วงเงินที่ต้องการกู้ประมาณรายละ  10-20 ล้านบาท


     ในส่วนรายละเอียดของบริการประกันการส่งออกสำหรับสินเชื่อรับซื้อตั๋วส่งออกอุ่นใจนั้น หากได้รับการอนุมัติกรมธรรม์เรียบร้อยแล้ว จะสามารถคุ้มครองได้สูงสุดถึง 90 % ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งความเสี่ยงทางการค้าและการเมือง โดยให้ความคุ้มครองครอบคลุมกว่า 137 ประเทศทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดอยู่ที่ 0.35 % และสูงสุด 0.85 % ของมูลค่าที่เอาเงินประกัน ยกตัวอย่างสมมติว่าประกันไว้ที่ 1 ล้านบาท ก็จ่ายเพียง 3,500 บาท แต่หากเกิดความเสียหายขึ้นมาก็จะได้รับค่าชดเชยสูงถึง 9 แสนบาทเลยทีเดียว โดยตั๋วส่งออกดังกล่าวที่นำมาประกันต้องมีเงื่อนไขการชำระเงินไม่เกิน 120 วันนับจากวันส่งออก นอกจากนี้ยังพิเศษค่าวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อจากต่างประเทศฟรี 2 รายต่อกรมธรรม์ด้วย ซึ่งปกติจะอยู่ที่ประมาณ 3,200 บาท





     ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าประกันการส่งออกเป็นเรื่องจำเป็น แต่ SME ส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งประกันการส่งออกนี้เสมือนเป็นตัวประกันความเสี่ยงช่วยให้ SME เกิดความมั่นใจว่าหากผลิตสินค้าไปแล้วจะได้รับเงินตามที่ต้องการ
               

     “การประกันการส่งออก เป็นเรื่องที่บริษัทขนาดใหญ่ถึงกลางให้ความสำคัญและนิยมทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว เวลาส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ แต่สำหรับ SME ยังไม่ค่อยรู้จักและให้ความสำคัญเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นการสิ้นเปลือง กลัวเสียค่าเบี้ยประกันฟรี ทำธุรกิจด้วยกันมานาน รู้จักกันอยู่แล้ว ยังไงก็คงไม่โกงหรอก แต่เขาไม่คิดเผื่อว่าความจริงแล้วคู่ค้าจากต่างประเทศเขาอาจไม่ได้ตั้งใจเบี้ยวหรือผิดนัดที่จะชำระเงินหรอก เพียงแต่บางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา ทำให้การเงินเขาสะดุดขึ้นมาได้ เช่น ปัจจัยทางการเมือง สงครามการค้าโลก แต่หาก SME มีกรมธรรม์ประกันการส่งออกตรงนี้ไว้ ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจของเขาได้มาก โดยไม่ต้องสูญเงินไปเปล่าๆ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมา ที่สำคัญอีกอย่าง คือ การทำประกันการส่งออกยังช่วยตรวจเช็คเครดิตสถานะทางการเงินของผู้ซื้อในต่างประเทศด้วยว่า เขามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงตั้งแต่เริ่มต้น”



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้