รายงานเงินสดรับ-จ่าย…เรื่องที่ SME ไม่ควรมองข้าม

 



เรื่อง : อชิระ ประดับกุล
         misterachira@hotmail.com

เครดิตรูปภาพ http://ixibrower.blogspot.com

    หลายๆ ครั้งที่ผมมักจะพูดถึงการทำบัญชีรายรับ-จ่าย ที่กิจการเล็กๆ ประเภทรูปแบบบุคคลธรรมดาประเภท ร้านขายของชำ ร้านเครื่องเขียน หรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ควรจะต้องจัดทำไว้ เพื่อจะได้ทราบถึงกำไร/ขาดทุน ที่แท้จริงของกิจการ ทั้งยังสามารถนำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเหล่านี้มาใช้การจัดการทางการเงินของกิจการได้อีกด้วย ที่สำคัญสำหรับธนาคารบางแห่งหากเจ้าของกิจการประเภทนี้จะไปกู้เงินในสถานะของเจ้าของกิจการหรืออาชีพอิสระ ก็ยังต้องขอให้ติดบัญชีรับ-จ่ายเหล่านี้ไปด้วยเมื่อทำเรื่องขอสินเชื่อเงินจากธนาคาร

                ในส่วนของกรมสรรพากรเองก็ได้มีการออกกฎเกณฑ์เป็น “ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161)” อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้ถือปฏิบัติในแบบเดียวกันมาตั้งแต่ปี

2549 โน่นแล้วละครับ อยู่ที่ใครจะนำไปปฏิบัติใช้หรือไม่ เราไปดูบางส่วนของประกาศฉบับนี้ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคุณๆ กันครับ...

ผู้ที่มีหน้าที่จัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีลักษณะ ดังนี้

2.1 เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้แก่


(1) บุคคลธรรมดา


(2) ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล (รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548)


(3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี


(4) กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง

2.2 เป็นผู้ประกอบการตามข้อ 2.1 และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(6)(7)(8) แห่งประมวลรัษฎากร


(1) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน หรือการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น โดยไม่ต้องคืนเงินหรือ ประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว                            
 

(2) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ วิชาชีพกฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้

(3) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

(4) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือเงินได้อื่นๆ ที่มิใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)-(7) แห่งประมวลรัษฎากร
 
     จากหัวข้อ “ผู้มีหน้าที่จัดทำ...” คุณลองตรวจสอบดูสิครับว่าร้านค้าหรือกิจการเล็กๆ ของคุณนั้นตรงกับเงินได้ประเภทใด เช่น ถ้าเป็นร้านขายของชำ ก็คงจะต้องตรงกับเงินได้ 40(8) ถ้าคุณรวยซะหน่อยมีอาคารให้คนอื่นเช่าก็จะตรงกับเงินได้ 40(5) หากคุณมีอาชีพอิสระไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร เป็นวิศวกรแบบฟรีแลนซ์ (ขออภัยที่ใช้ภาษาอังกฤษทับศัพท์) ก็คงจะเป็นเงินได้ 40(6) เป็นต้น

     รายงานเงินสดรับ-จ่าย ที่กรมสรรพากรได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้มีหลายรูปแบบรวมถึงวิธีการบันทึกการจัดทำก็มีหลายวิธีการเช่นกัน ซึ่งไม่ยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจนัก แม้คุณจะไม่มีความรู้เรื่องบัญชีมาก่อนก็ตาม (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th)  ทั้งนี้กรมสรรพากรเล็งเห็นว่าการจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จะมีประโยชน์ในหลายด้านต่อผู้จัดทำอย่างที่ผมกล่าวไว้ตอนต้น และรวมถึงใช้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีได้อีกด้วย

     แต่ถ้าถามผมแบบชีวิตจริงๆ ต่อให้ผมไปถามกิจการประเภทดังกล่าวสัก 10 ราย ผมเอาหัวเป็นประกันว่า คงมีสัก 1 รายที่มีการจัดทำตามประกาศดังกล่าว ส่วนอีก 9 ราย คงไม่ต้องพูดถึงว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งน่าเสียดายนักที่กิจการเหล่านั้นไม่ได้มีการจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย อย่างเป็นระบบ ทำให้ขาดข้อมูลที่ดีในการดำเนินงานและอาจส่งผลเสียต่อการบริหารจัดการด้านเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     และแน่นอนที่สุดว่า กรมสรรพากรเองก็ทราบ และตระหนักดีถึงเรื่องที่อาจจะมีกิจการไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ฉะนั้นจึงได้มีการกำหนดโทษที่แสนจะบางเบาไว้ดังนี้...

โทษของการไม่จัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย

              อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามมาตรา 17(1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และราย จ่าย หรือรายงานเงินสดรับ-จ่าย ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) หากผู้ประกอบการไม่จัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย ตามประกาศ ฯ ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินสองพันบาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร
 
    จากที่ไปสนทนาปราศรัยมาก็หลายกิจการ หลายแห่ง และหลายบุคคลธรรมดา ผมก็ยังไม่ค่อยจะได้เห็นมีการปรับ 2,000 บาท ที่ว่านี้กันสักเท่าไหร่ และหลายแห่งก็ไม่ได้จัดทำกันทั้งนั้น (ไปพิสูจน์ดูร้านค้าแถวบ้านคุณได้ว่าได้จัดทำหรือไม่ แต่ผมว่าไม่มีหรอก 555...)  แต่เดาเอาว่าน่าจะเป็นการปรามเอาไว้เสียมากกว่า ไม่ได้ต้องการจะปรับอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนัก ฉะนั้นรู้อย่างนี้แล้วคุณที่ประกอบกิจการที่เข้าข่าย  “ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” ก็ควรปฏิบัติให้ถูกต้องเสีย เพราะวันใดที่พี่ๆ จากกรมสรรพากรเขาครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมา ถามหา “รายงานเงินสดรับ-จ่าย” จากคุณ แล้วไม่มีไปสำแดงให้เห็น อีแบบนี้สงสัยคุณก็ต้องช่วยชาติสักหน่อยกระมัง ก็ไม่มากไม่มายหรอกครับ 2,000 บาท เบาๆ...
 

 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้