ทำอย่างไรเมื่อได้รับหมายจากกรมสรรพากร

 

 

 
 เรื่อง : อชิระ ประดับกุล
          misterachira@hotmail.com
 
 
 
อย่างที่เห็นนี่ละครับ เป็นตัวอย่าง หนังสือจากพี่ๆ กรมสรรพากรที่ขอเอกสารในการขอคืนภาษีเพิ่มเติม จากคนที่ผมรู้จักคนหนึ่งที่ได้ทำการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2555 และมีการขอคืนภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยจำนวนเงินที่ขอคืนนั้นไม่มากไม่มายครับ พันกว่าบาทเท่านั้นเอง
 
พี่คนนี้ เมื่อแรกทีเดียวที่ได้รับหมายจากกรมสรรพากร ก็ตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะทำตัวไม่ถูก ตกใจ กลัวโดนตรวจ สอบภาษีย้อนหลัง กลัวโดนปรับ กลัวโดนจับ กลัวนั่น กลัวนี่ ไปหมด...จนผมเองก็งงว่าทำไมต้องกลัว ในเมื่อก็ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ก็แค่ทำการค้าขายสินค้าอุปโภค บริโภค รายได้ปีหนึ่งก็แค่ 5-6 แสน ไม่มากไม่มาย เหตุใดจะต้องกลัว
 
จากที่นั่งคุยกันทั้งหมดทั้งมวลว่าพี่คนนี้ได้ทำธุรกิจอะไร อย่างไร มีเงินมาจากไหนและยื่นเสียภาษีไปอย่างไรนั้น ทำให้ผมพอจะทราบสาเหตุแห่งทุกข์ของคุณพี่คนนี้ได้ว่า...
 
-  ขอคืนภาษีมา 2 ปีติดๆ กัน แล้ว ทำให้พี่ๆ จากกรมฯ ท่านก็เลยขอเรียกดูเอกสารเสียหน่อย
 
-  มีเงินได้บางชนิด เช่น จากการค้าขาย ซึ่งถือเป็นเงินได้ ม.40 (8) ตามประมวลรัษฎากร คุณพี่ท่านนี้ไม่ได้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนครึ่งปี เพราะเจ้าหน้าที่จากกรมฯ สามารถดูในระบบได้เลยว่าเมื่อตอนครึ่งปีมีการยื่นไว้หรือไม่ ซึ่งสำหรับคุณพี่ท่านนี้ไม่มีประวัติการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไว้ (ใส่หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนกดปุ๊บ โชว์ปั๊บเลยครับ)
 
- มีเงินได้บางรายการที่คุณพี่ท่านนี้จัดหมวดหมู่เงินได้ผิดประเภท เช่น ควรจะเป็น “ค่าจ้าง ม.40(1)” ก็ไปจัดประเภทเป็นเงินได้ประเภทอื่น
 
- คุณพี่ท่านนี้กลัวว่านี่คือ “การโดนเรียกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง” แบบที่หลายๆ คนกลัว (จริงๆ เขาแค่ขอเอกสารและสอบถามเพิ่มเติมไม่ได้เรียกตรวจสอบเสียหน่อยครับคุณพี่)
 
- คุณพี่ท่านนี้กลัวเรื่องไม่จบ กลัวเรื่องยืดเยื้อ นาน เสียเวลาทำมาหากิน! และอีกนานาสารพัดจะกลัว
 
สิ่งที่ผมให้คำแนะนำคุณพี่ท่านนี้ไปก็คือ.
..
- ไปหาเอกสารประกอบการขอคืนภาษีเพิ่มเติมตามกรมสรรพากรต้องการ
 
- ไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีของปี 2555 ด้วยแบบ ภ.ง.ด.94 ย้อนหลังเสีย แม้จะไม่มียอดชำระภาษีก็ตาม ซึ่งในกรณียื่นย้อนหลังจะต้องเสียค่าปรับแบบจำนวน 200 บาท
 
- รอรับเช็คคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ทำเรื่องขอคืนได้เลย หากเอกสารเพิ่มเติมที่กรมฯ ขอ ส่งไปอย่างครบถ้วนและเสียภาษีบุคคลธรรมดาครึ่งปีย้อนหลังเรียบร้อยแล้ว
 
- แนะนำว่าในปีๆ ต่อไปให้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีด้วย หากยังทำการค้าขายเช่นนี้ แม้จะไม่มียอดชำระภาษีก็ตาม และสิ้นปีก็ยื่นอีกครั้งหนึ่ง
 
  หลังจากแนะนำไปและคุณพี่ท่านนี้ได้จัดการจนครบถ้วนกระบวนความตามที่บอก ไม่นานนักก็ได้รับเช็คคืนภาษีอย่างรวดเร็วทันใจจริงๆ เพราะเดี๋ยวนี้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีไวมากครับหากคุณยื่นผ่านทางเว็บไซต์
 
  จากเรื่องที่หยิบยกนำมาเล่าสู่กันฟัง ทำให้บางท่านยังอดคิดไม่ได้ว่า สงสัยคุณพี่ที่ผมเล่าโดนเรียกขอเอกสารเพิ่มเติมเพราะขอคืนภาษีแน่ๆ “นี่ถ้าไม่ขอคืนก็คงไม่เกิดเรื่อง” แบบนั้นใช่ไหมครับ?
 
ส่วนหนึ่งเป็นแบบนั้นครับ เนื่องจากบุคคลใดที่ทำการขอคืนภาษี ทำให้สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า อาจมีค่าลดหย่อนทางภาษีที่กฎหมายยอมให้หักได้นั้นมากพอสมควร จนทำให้เงินได้สุทธิซึ่งเป็นฐานภาษีที่จะต้องนำไปคำนวณภาษีน้อยลงไปอีก ซึ่งจากจดหมายที่ผมนำมาให้ดูก็พบว่า รายการเอกสารที่ขอให้ส่งเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมนั้น เป็นรายการที่เกี่ยวกับค่าลดหย่อนที่กฎหมายยอมให้หักทั้งสิ้น ในที่นี้ ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร หรือเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น  ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่ต้องกลัวเลยจากการเรียกขอตรวจเอกสารเพิ่มเติมนี้
 
หรือหากบางท่านบอกว่า “มีภาษีขอคืนก็จริงแต่อย่าขอคืนเลยช่วยชาติไปเถอะเดี๋ยวจะโดนเรียกตรวจแบบพี่คนนี้นั่นแหละ”  
 
อันนี้ก็สุดแท้แต่ครับ ถ้าคุณจะคิดเช่นนี้ แต่ถึงแม้ไม่มีการขอคืนภาษีทั้งที่มีสิทธิ์ขอคืน (มีภาษีที่ชำระไว้เกินจากโดนถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่ายไว้) ผมก็พบว่าบางกรณีก็อาจถูกเรียกตรวจสอบด้วยเช่นกันหากพบว่า มีการยื่นและคำนวณภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าจะไม่ถูกเรียกตรวจสอบเลยอย่างที่เข้าใจ
 
หลังจากเรื่องพี่คนนี้จบไปแล้ว ผมได้ไปพบกับพี่อีกคนครับ (รู้จักพี่ๆ หลายคนจัง ฮ่าๆ) แล้วผมก็เล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง พี่คนที่สองนี่ ออกอาการขำ เรื่องที่เล่าแต่ปนด้วยอาการงงๆ ซึ่งมันก็ทำให้ผมงงไปด้วย
 
บทสนทนาบางช่วงกับพี่คนที่สอง....
 
  พี่คนที่สอง : จะไปขอคืนทำไม๊ (ลากเสียงยาวๆ สูงๆ)...ก็รู้ๆ กันอยู่ขอคืนแล้วเดี๋ยว ยาว (หมายถึงเรื่องยาวน่ะครับ)
 
ผม : อ้าวพี่ ก็เขามีสิทธิขอคืน เขาก็ขอคืน ไม่เห็นแปลก
 
พี่คนที่สอง :  ก็รู้หรอกน่า...แต่แหมมันเสียเวลาทำมาหากินไหมละ ต้องมานั่งรื้อค้นเอกสาร ส่งไปไม่ถูกใจ ไม่ครบ หาใหม่ส่งใหม่ ส่งไปส่งมาอยู่นั่นแหละ เสียเวลาน่าดู!
 
ผม : พี่พูดแบบนี้แสดงว่าไม่เคยขอคืนภาษีเลยล่ะสิใช่ไหม
 
พี่คนที่สอง : อ้าวแหงละ ไม่ขอหรอก ของผมเนี่ยนะ ถึงปีๆ ผมก็ไปที่เขตเลยไป ไปถึงเขาก็ถามแล้วจะเสียภาษีเท่าไหร่ดีปีนี้ 
 
ผม : เฮ้ยพี่มีงี้ด้วย!!!!
 
พี่คนที่สอง : ไม่เฮ้ยละ...ก็เป็นแบบนี้จริงๆ บางปีพี่ก็จ่ายไป สองพันบ้าง สามพันบ้าง แล้วแต่ความสะดวกของพี่ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าถ้าคำนวณแบบจริงๆ จังๆ ต้องเสียหรือไม่เสียเท่าไหร่ด้วยซ้ำ แต่ก็คิดว่าช่วยชาติไปแล้วกัน
 
ผม :  แล้วถ้าพี่คำนวณผิดหรือขาดตกอะไรไปในการยื่นละทำไง ถ้าไม่คำนวณให้มันถูกต้อง
 
พี่คนที่สอง : โอ๊ยยย...มันก็คงมีนั่นแหละ แต่ไม่มีปัญหาหรอก ก็จ่ายภาษีให้แล้วนี่หน่า เผลอๆ บางทีไม่เสียด้วยซ้ำแต่พี่ก็จ่ายให้ทุกปีนะ
 
ผม : ยังไงพี่ ผมงง ??
 
พี่คนที่สอง : ถึงจะคำนวณผิด ตกหล่น อะไรยังไง แต่พอจ่ายภาษีทุกปี “เขา” ก็ไม่มีปัญหากับเราแล้ว...ไอ้น้องเอ้ย ฮ่าๆๆ
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้