สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการทางแก้หนี้เสียพนักงาน




          การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นในสถานประกอบการ นับเป็นสวัสดิการอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสามารถดูแลพนักงานและผู้ใช้แรงงาน ได้มีแหล่งออมเงินและเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและในยามที่จำเป็นต้องใช้จ่ายในครอบครัว



        ซึ่งล่าสุดได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะประสานความร่วมมือในการผลักดันให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการออมเงินของผู้ใช้แรงงานผ่านระบบสหกรณ์ และการพัฒนาสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการและรัฐวิสาหกิจให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน



          นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสนับสนุน และดำเนินการให้สถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ จัดสวัสดิการแรงงานด้วยวิธีการสหกรณ์ ว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน โดยการสนับสนุนจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ นับเป็นสวัสดิการแรงงานที่นายจ้างและลูกจ้างจะร่วมมือกันจัดให้มีขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมอย่างเป็นระบบ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงิน แก้ปัญหาหนี้นอกระบบของลูกจ้างได้เป็นอย่างดี



          การร่วมมือในครั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะรับหน้าที่ประสานกับสถานประกอบกิจการในพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์และสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นทุนเริ่มต้นในการจัดตั้ง พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้เห็น ถึงความสำคัญของการนำระบบสหกรณ์มาเป็นสวัสดิการให้กับผู้ใช้แรงงาน



          ขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะมีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องสหกรณ์ รวมถึงรับจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ในสถานประกอบการ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปคอยให้คำแนะนำกำกับดูแลสหกรณ์ให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายสหกรณ์ และพัฒนาสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในสถานประกอบการให้มีระบบการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ส่วนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะดำเนินการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ที่จัดตั้งในสถานประกอบกิจการให้ดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้



          "อดีตที่ผ่านมา ในสถานประกอบการมีบุคคลากรที่เป็นผู้ใช้แรงงานเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งพบว่าเป็นหนี้นอกระบบที่ค่อนเป็นตัวเลขที่สูงมาก และเมื่อคำนวณอย่างคร่าวๆ เป็นจำนวนเงินถึง 130,000 ล้านบาท ทางกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งดูแลสถานประกอบการ ต้องการแก้ไขปัญหานี้ จึงขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมเพื่อแก้ไข โดยกรมฯ



          จะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ในสถานประกอบการ และให้มีการเชื่อมโยงกิจการของสหกรณ์อื่นๆ ให้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้มีสวัสดิการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการดูแลในเรื่องของระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้สหกรณ์ในสถานประกอบการ มีความเข้มแข็งและให้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้สภาพเศรษฐกิจของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น" นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว



          อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว เพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากกลไกสหกรณ์สามารถทำให้เกิดความเข้มแข็ง ในด้านการออมให้เป็นระบบมากขึ้น บนพื้นฐานของความสามัคคีและความจริงใจระหว่างกัน รวมทั้งจะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต อันจะช่วยให้หนี้นอกระบบในสถานประกอบการลดน้อยลง ก่อเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการในสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น และยกระดับเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศให้ดียิ่งขึ้น



          ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 540 แห่ง มีลูกจ้างเป็นสมาชิก 649,958 คน นอกจากนี้ยังมีกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือลูกจ้างโดยกู้ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ ซึ่งมีสหกรณ์ให้บริการเงินกู้กองทุน 251 สัญญา เป็นเงิน 1,918,370,000 บาท สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ แล้ว 217,041 คน โดยในปี 2560 กำหนดเป้าหมายจัดตั้งสหกรณ์ในสถานประกอบการเพิ่มขึ้นอีก 30 แห่ง พื้นที่เป้าหมายเน้นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และระยอง หรือโรงงาน ที่มีความสนใจก็สามารถแจ้งความประสงค์ในการขอจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์กับทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดได้ทุกแห่งทั่วประเทศ



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้