ลงทุนหุ้นป้ายแดงอย่างไร ไม่ให้เจ็บตัว


                 
            กระแสการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในหุ้นกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งตั้งแต่ปี 2555 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับปี 2556 นี้ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อต้องการระดมทุนหรือตุนกระสุนเพื่อรองรับการขยายงานและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) หรือ AEC ในปี 2558

             หุ้นจอง หรือ หุ้นไอพีโอ ก็คือหุ้นเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมี 2 ตลาด คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ขณะที่มีการเรียกหุ้นจองกันแบบสนุกๆ หรือเรียกกันเล่นๆ ว่า “หุ้นป้ายแดง”

             หุ้นใหม่ป้ายแดง ที่เปิดขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หลายครั้งก็สร้างความดีใจให้กับนักลงทุน เพราะจองซื้อแล้วขายได้กำไร แต่บางครั้งก็ทำนักลงทุนผิดหวังกับราคาหลังเข้าตลาดที่ปรับตัวลงตํ่ากว่าราคาจองซื้ออย่างไม่คาดฝัน จนทำให้มีการตั้งคำถามแบบงงงวยว่า หุ้นจองตัวนี้ตัวนั้นตั้งราคาขายแพงเกินไปหรือเปล่า

          จะว่าไปแล้วหุ้นป้ายแดงไม่ใช่ของวิเศษที่ใครจองซื้อมาแล้วจะได้กำไรเสมอไป แต่ก็ไม่ใช่วายร้ายที่จะมาแย่งชิงเงินในกระเป๋าเราเช่นกัน  แต่ความจริงแล้วหุ้นไอพีโอก็เป็นเหมือนเพื่อนใหม่ที่เราควรทำความรู้จักจนแน่ใจ ก่อนตัดสินใจร่วมลงทุนไปด้วยกัน ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในหุ้นใหม่ป้ายแดงสักตัว เราควรเรียนรู้วิธีคบเพื่อนใหม่ ว่าจะลงทุนกับหุ้นใหม่ป้ายแดงอย่างไร ไม่ให้เจ็บตัว

         คำแนะนำจาก สุรีรัตน์ สุรเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับตลาดทุน  แนะนำว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกที่นักลงทุนต้องดู คือ การทำความรู้จักบริษัท เข้าใจธุรกิจ โดยควรศึกษาข้อมูลบริษัทผู้ออกหุ้นไอพีโอก่อนว่าทำกิจการอะไร ใครเป็นผู้บริหาร และภาพรวมของอุตสาหกรรมว่ามีโอกาสหรือความเสี่ยงอย่างไร

         ขั้นตอนต่อมาที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เงินลงทุนของเรา คือ การให้ความสนใจงบการเงินของบริษัท เพราะไม่มีอะไรที่จะสะท้อนฐานะทางการเงินและผลประกอบการในอดีตของบริษัทได้ดีไปกว่างบการเงิน โดยหากมองย้อนหลังกลับไปแล้วบริษัทไหนที่มีผลกำไรสมํ่าเสมอก็น่าจะสบายใจได้มากกว่าบริษัทที่มีกำไรวูบขึ้นวูบลง

           เมื่อทำความรู้จักบริษัทและประทับใจผลการดำเนินงานแล้ว ก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้นก็ควรดูก่อนว่า ราคาหุ้นไอพีโอตัวนี้แพงเกินไปหรือไม่ โดยดูได้จากอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือพี/อี เรโช  ซึ่งคำนวณจาก “ราคาเสนอขาย” หารด้วย “กำไรสุทธิต่อหุ้นของปีล่าสุด” ซึ่งสะท้อนว่าผู้ลงทุนจะต้องจ่ายเงินซื้อหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรต่อหุ้น

         หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ บริษัทนี้จะใช้เวลากี่ปีจึงจะทำกำไรได้เท่ากับเงินทั้งหมดที่ผู้ลงทุนจ่ายเพื่อซื้อหุ้น ดังนั้น หุ้นที่มีพี/อี ต่ำ ย่อมถูกกว่าหุ้นที่มีพี/อี สูง

          ข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ลงทุนควรทราบ คือ การเสนอขายหุ้นไอพีโอนี้มีส่วนของเจ้าของเดิมร่วมขายอยู่ด้วยหรือเปล่า และเป็นสัดส่วนที่สูงหรือไม่ หรือเป็นการออกหุ้นใหม่ทั้งหมด หากเป็นกรณีที่เจ้าของเดิมร่วมขายในสัดส่วนที่สูงมาก อาจทำให้ต้องกลับมาคิดว่าหุ้นไอพีโอตัวนี้มีราคาแพงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับพี/อี ของบริษัทอื่นในอุตสาห กรรมเดียวกันที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

          ท้ายสุดก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นไอพีโอ อย่าลืมให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์การระดมทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณก่อนการลงทุน เพราะหากบริษัทระดมเงินเพื่อนำไปใช้ชำระหนี้ ก็จะมีผลให้บริษัทลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้ แต่หากนำไปใช้เพื่อการลงทุนซื้อเครื่องจักร ขยายโรงงาน หรือการขยายตลาดใหม่ ก็น่าจะให้สัญญาณที่สดใสกว่าในระยะยาว เพราะแสดงถึงโอกาสในการเพิ่มยอดขาย สร้างรายได้ในอนาคต


           อีกหนึ่งมุมมองและคำแนะนำที่น่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนสำหรับการลงทุนในหุ้นไอพีโอ โดย ธันวา เลาห
ศิริวงศ์ ชายวัย 47 ปี ที่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เพื่อมาเล่นหุ้นเป็นอาชีพ กล่าวว่า หากไม่นับเรื่องคุณภาพของกิจการแล้ว เป็นการยากที่จะสรุปว่า ราคาซื้อ-ขายวันแรกของหุ้นไอพีโอจะสูงหรือต่ำกว่าราคาเสนอขายด้วยปัจจัยและแรงจูงใจต่างๆ  

         ดังนั้น ต้องศึกษารายละเอียดตามหนังสือชี้ชวนอย่างดี ยิ่งได้รับจัดสรรในปริมาณที่มีนัยสำคัญ ยิ่งต้องศึกษาเป็นพิเศษทั้งด้านคุณภาพและราคาเช่นเดียวกับการซื้อเพื่อลงทุนในระยะยาวทั่วไป โดยต้องนึกไว้เสมอว่า หุ้นไอพีโอนั้นไม่มีประวัติและผลงานที่เปิดเผยมากนัก การเสนอขายส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาที่ดีของกิจการ และต้องไม่ลืมว่า การทำไอพีโอนั้นเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการลดสัดส่วนถือครองของผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้บริหาร


 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้