กำจัดไขมันส่วนเกินทางธุรกิจง่ายๆ ด้วยบัญชีแบบเรียลไทม์

Text : กองบรรณาธิการ



การลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นลงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญของการเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการด้วยเช่นกัน ดังนั้น บัญชีจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรีดไขมันส่วนเกินได้อย่างตรงจุด ในเรื่องนี้   ศิริรัฐ โชติเวชการ นายกสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ยอดขายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายๆ รายต่ำกว่าเป้าหมาย เมื่อยอดขายน้อยลง สิ่งที่ช่วยให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้นได้คือการลดต้นทุน บัญชีจะทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่าอะไรจำเป็นน้อยที่สุดและควรต้องตัดค่าใช้จ่ายในส่วนใด 
 
สำหรับค่าใช้จ่ายหลักๆ นั้น ส่วนหนึ่งจะไปอยู่ที่ต้นทุนขาย ซึ่งจุดที่ต้นทุนสามารถรั่วไหลได้ เช่น เวลาซื้อสินค้ามาเก็บสต็อกไว้ หากเก็บไว้นานเกินไปก็จะเปลืองค่าเก็บรักษา ค่าเสียโอกาสในการใช้พื้นที่ หรือหากเก็บไม่ดีมีโอกาสสูญหาย กลายเป็นว่าต้นทุนก็จะสูงขึ้นโดยใช่เหตุ กับอีกส่วนคือค่าใช้จ่ายในการบริหาร ซึ่งต้นทุนที่สูงนั้นจะอยู่ที่พนักงานเป็นหลัก 
 
ทั้งนี้ มีการคำนวณกันในระดับสากลโดยระบุว่า การจ้างพนักงาน 1 คน ยกตัวอย่างในอัตราเงินเดือน 20,000 บาท จะคิดว่าต้นทุนของคนคนนี้อยู่ที่ 60,000 บาท หรือประมาณ 3 เท่าของเงินเดือน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าใช้น้ำ ใช้ไฟ ค่าซื้อโต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ฉะนั้นเวลาเศรษฐกิจไม่ดี สิ่งแรกๆ ที่นิยมทำกันคือการลดจำนวนคน ซึ่งในแง่ของทางบัญชี แนะนำว่า การ Outsource หรือการจ้างงานบุคคลผ่านบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ อีกทีหนึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของการลดต้นทุน เพราะสามารถกำหนดต้นทุนที่ชัดเจนได้ 
 
อย่างไรก็ตาม การจะใช้ประโยชน์จากบัญชีในแง่ของการลดต้นทุน ไม่ว่าจะเกิดจากส่วนไหนก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ข้อมูลทางบัญชีที่จะเอามาใช้ในการตัดสินใจนั้น เป็นข้อมูลที่ทันการณ์และทันเวลาหรือไม่ 
 
“เดิมทีเรื่องของบัญชีบริหารที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่านักบัญชีเราถูกปลูกฝังว่าปิดบัญชีปีละครั้ง เขาจะรู้สึกว่าการปิดบัญชีเดือนละครั้งทำไม่ได้ ทำไม่ทัน ทำไม่ไหว แต่ต่อไปวัฒนธรรมการปิดบัญชีปีละครั้งจะทำไม่ได้แล้ว เพราะในยุคดิจิทัลเช่นนี้ โดยเฉพาะระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ช่วยให้การปิดบัญชีทำได้แบบเรียลไทม์ วินาทีนั้นก็สามารถรู้ได้เลยว่ากำไรขาดทุนเท่าไร ดังนั้น บัญชีบริหารจะยิ่งง่ายขึ้น เป็นไปได้มากขึ้น เพราะต่อไปนี้ผู้ประกอบการไม่ต้องพึ่งนักบัญชีแล้ว ยกตัวอย่างร้านกาแฟ เป็นเมื่อก่อนขายได้เท่าไรก็จะเก็บข้อมูลเพื่อส่งให้สำนักงานบัญชีใส่ในระบบบัญชี แต่มาในยุคนี้มีซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ผู้ประกอบการสามารถทำได้เอง เรียกว่าพอขายเสร็จข้อมูลก็วิ่งเข้าสู่ระบบบัญชีเลย โดยไม่ต้องพึ่งนักบัญชีอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีนี้เองที่ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถทำบัญชีได้ถูกต้องและทันการณ์มากขึ้น”
 
ที่มา : วารสาร K SME Inspired ธนาคารกสิกรไทย
 
 ​www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้