เจาะลึกขั้นตอนก่อนรับ Venture Capital

 

       การเปิดรับกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) นอกจากเป็นการระดมทุนที่ต้นทุนต่ำแล้วเจ้าของกิจการยังได้รับความช่วยเหลือทางธุรกิจอื่นๆอีกด้วย แต่ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ขั้นตอนการพิจารณามีความลึกซึ้งสูงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือต้องมีความพร้อมทั้งธุรกิจและตัวเจ้าของกิจการ

       ในต่างประเทศนั้นการร่วมลงทุนเป็นเครื่องมือการเงินที่ได้รับความนิยมของผู้ประกอบการรุ่นใหม่โดยเฉพาะธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยี เช่น ซอฟท์แวร์ ไบโอเทคโนโลยี ฯลฯ เนื่องจากมีโอกาสได้รับเงินทุนโดยได้รับการพิจารณาจากโอกาสเติบโตของธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ความสามารถของผู้บริหารมากกว่าพิจารณาจากทรัพย์สินที่มีเหมือนกับกู้เงินธนาคาร

       สำหรับประเทศไทยการร่วมลงทุนเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดความเป็นเจ้าของส่วนตัวเหมือนการทำธุรกิจในอดีต แต่ก่อนที่จะได้รับการร่วมลงทุนนั้นไม่ได้ใช้เพียงแค่กระดาษที่เขียนแผนธุรกิจแล้วจะผ่านการอนุมัติโดยง่าย แต่ผู้จัดการกองทุนจะเจาะลึกทั้งเชิงปริมาณคือความเป็นไปได้ทางธุรกิจและเชิงคุณภาพคือความไว้วางใจที่มีต่อเจ้าของกิจการและผู้บริหาร
 
ขั้นตอนการพิจารณาร่วมลงทุน

       ขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะพิจารณาว่ากองทุนจะเข้าไปร่วมลงทุนหรือไม่ ผู้ประกอบการต้องผ่านการสัมภาษณ์จากผู้จัดการกองทุน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดความเสี่ยงในการร่วมลงทุนในอนาคต โดยประเด็นสำคัญมีดังต่อไปนี้คือ 

       ความมุ่งมั่นต่อธุรกิจ.....เป็นหัวข้อที่มีน้ำหนักมากที่สุด นอกจากตัวเจ้าของแล้วยังรวมถึงทีมผู้บริหาร พนักงาน ว่ามีความเชื่อมั่นในธุรกิจอย่างไร แรงบันดาลใจและแรงจูงใจ….จะถามถึงทัศนคติในการทำงาน การรวมทีมผู้บริหาร เป้าหมายของธุรกิจในระยะกลางถึงยาว เจาะลึกลงไปถึงแรงบันดาลใจส่วนตัวของผู้บริหาร 

       ประวัติและประสบการณ์ของทีมงาน…นอกเหนือจากตรวจสอบเอกสาร ผู้จัดการกองทุนจะทำการสัมภาษณ์เพื่อวัดความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจทั้งตัวเจ้าของและทีมงาน อาจจะมีการตรวจสอบประวัติการทำงานจากเอเยนต์ซีที่เก็บข้อมูลผู้บริหารระดับสูงหรือHead Hunter ประกอบการพิจารณา

       สถานภาพทางการเงิน…โดยเฉพาะประวัติการเป็นบุคคลล้มละลายและประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในเครดิตบูโร อย่างไรก็ตามกองทุนฯไม่ได้ผิดโอกาสสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติทางการเงินไม่ดีถ้าสามารถอธิบายได้ว่าจะปรับปรุงพัฒนาและเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตได้อย่างไร

       แม้กระทั่ง ไลฟ์สไตล์และคุณภาพชีวิตส่วนตัว…ยังถูกนำมาประกอบการพิจารณาเช่นสุขภาพ ชีวิตครอบครัว สถานภาพการสมรส เนื่องจากต้องมีความมั่นใจว่าชีวิตส่วนตัวจะไม่มารบกวนสมาธิการทำธุรกิจ 

       สุดท้ายคือ ความเข้ากันได้ของทีมงาน…ถ้าเจ้าของกิจการกับกองทุนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าขา อาจเกิดปัญหาในอนาคตได้เช่นกัน รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้บริหารและพนักงานคนอื่นของบริษัทด้วย การหาข้อมูลอาจจะเกิดในช่วงเวลาที่ไม่เป็นทางการเช่นการรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น

หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ

       นอกเหนือจากสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโดยตรงแล้ว ผู้จัดการกองทุนจะทำการสืบหาข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันความมั่นใจที่จะลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการบริษัท ลูกค้า คู่ค้า ธนาคารที่ปล่อยกู้ ที่ปรึกษาต่างๆ หรือแม้แต่คู่แข่ง

       เมื่อยอมรับข้อตกลงที่จะเปิดเผยข้อมูลแล้ว กองทุนร่วมลงทุนจะทำการตรวจสอบเอกสารต่างๆ นอกเหนือจากแผนธุรกิจและเอกสารสำคัญของบริษัท ยังประกอบด้วยสัญญาทางธุรกิจต่างๆ เช่น สัญญาเช่าทรัพย์สิน การถือหุ้นในกิจการอื่น

       เอกสารความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินต่างๆ เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนเครื่องจักร รายงานการประเมินราคาทรัพย์สินที่ระบุค่าเสื่อมราคา

       เอกสารประกันภัยรวมถึงเอกสารด้านการเงิน เช่น สัญญาเงินกู้ ค้ำประกัน เจ้าหนี้และลูกหนี้การค้า  งบการเงิน เอกสารด้านภาษีย้อนหลังสามปี ประวัติของที่ปรึกษาทางการเงิน

       เอกสารด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรหรือสิทธิ์ในการรับช่วงธุรกิจ

       เอกสารด้านบุคลากร เช่น ผังโครงสร้างองค์กร สัญญาว่าจ้างกรรมการ

       เอกสารรับรองพิเศษ เช่น ใบผ่านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม

       ความปลอดภัยในการปฎิบัติงาน สุดท้ายคือ เอกสารส่วนบุคคลของเจ้าของกิจการ เช่น ประวัติการศึกษา การทำงาน ประวัติการเป็นบุคคลล้มละลายและต้องโทษมีที่ปรึกษาช่วยคิดมากขึ้น

การร่วมทุนทำให้มีที่ปรึกษาเพิ่มขึ้น

       มุมมองจากผู้ประกอบการ ชนินทร์ วานิชวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดทางให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาลงทุนไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างไร แต่กลับช่วยกระตุ้นให้มีเป้าหมายในการทำธุรกิจไม่ให้อยู่แบบเฉื่อยๆ

       ในส่วนของบริษัทฯเองที่จำเป็นต้องใช้วิธีการร่วมทุนเนื่องจากทำธุรกิจซอฟท์แวร์ไม่มีสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ธนาคารส่วนใหญ่ไม่ปล่อยเงินกู้ให้ แม้บริษัทฯจะเปิดรับกองทุนเพียงแค่ปีที่สองของการทำธุรกิจและเข้ามาถือหุ้นเกือบครึ่งหนึ่ง แต่กองทุนฯก็ไม่ได้กดดันเรื่องผลประกอบการแต่อย่างไร หากแต่ช่วยเสริมจุดที่ต้องปรับปรุงเช่นระบบบัญชี

       ส่วนของผู้ร่วมลงทุนโสภณ บุญยรัตนพันธุ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจร่วมลงทุน กล่าวว่านอกเหนือจากการได้รับสนับสุนเรื่องเงินทุนแล้ว เจ้าของกิจการยังได้แนวทางการบริหารที่มีความโปร่งใสมากขึ้น จากเดิมจะตัดสินใจคนเดียวหรือนำเงินของบริษัทไปใช้ส่วนตัว ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าลงทุนผู้จัดการกองทุนฯจะต้องพิจารณาเจ้าของกิจการคนนั้นเหมือนกับคนจะแต่งงานกันเลยทีเดียว เพราะวิเคราะห์คนยากกว่าวิเคราะห์ธุรกิจเสียอีก

       ที่สำคัญต้องดูว่าเจ้าของมีความมุ่งมั่นเพียงใด แต่ไม่ใช่มั่นใจตัวเองเกินไปจนไม่ฟังใครและทำธุรกิจเยอะเกินไปก็ไม่ดีเราจะให้โฟกัสเฉพาะอย่างเท่านั้น ช่วงที่กองทุนเวนเจอร์ แคปปิตอลเข้าไปส่วนใหญ่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกิจการนั้นๆ ว่าจะเติบโตต่อไปได้หรือไม่ เราจึงต้องมั่นใจด้วยว่าผู้บริหารรายนั้นมีสมาธิกับธุรกิจเพียงใด
 
อย่าหวงหุ้นหรือยึดติดความเป็นเจ้าของ

       ชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการว่านอกจากบริหารธุรกิจที่อาจจะสืบทอดต่อจากรุ่นแรก หรือธุรกิจที่บุกเบิกขึ้นมาเอง ควรมีแนวความคิดเรื่องการเป็นนักลงทุนรวมอยู่ด้วย อย่าคิดหวงหุ้นหรือยึดติดความเป็นเจ้าของคนเดียวอาจจะโตช้า

ขั้นตอนการพิจารณาร่วมลงทุน  

1.ค้นหากิจการที่น่าสนใจ
2.พิจารณาความเป็นไปได้
3.พบกับเจ้าของกิจการเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม
4.ประเมินความน่าสนใจในการลงทุนด้วยการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น
5.ยื่นข้อเสนอเบื้องต้นในรูปแบบ Term Sheet
6.เจรจาต่อเรื่องเงื่อนไขใน Term Sheet
7.สรุปเงื่อนไขและจัดทำข้อตกลง
8.ทำ Due Diligence
9.วิเคราะห์ผล
10.ปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆให้เป็นไปตามผลการทำ Due Diligence
11.กองทุนออกหนังสือแสดงความประสงค์จะร่วมลงทุนและผู้ประกอบการออกหนังสือตอบรับ
12.จัดทำสัญญาร่วมทุน
13.ลงนามและทำตามข้อสัญญา
14.ทำการถอนการลงทุน EXIT ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้