Text : เจษฎา
การรั่วไหลของเงินที่โดนกระทำจากผู้อื่นนับเป็นมหันตภัยทางธุรกิจของผู้ประกอบการทุกราย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว การทำธุรกิจมีโอกาสสูญเสียกำไรไปถึง 5 เปอร์เซ็นต์จากการถูกทุจริตด้านการเงิน สำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ มักพบปัญหาด้านการทำบัญชี ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือ ทำให้เมื่อเงินหายไปอาจไม่รู้ว่าหายไปเท่าไหร่และหายไปได้อย่างไร
บางคนอาจคิดว่าไม่มีทางหรอกที่ใครจะแอบขโมยเงินไปจากกระเป๋าของเราได้ เพราะนี่คือธุรกิจที่ลงทุนด้วยตัวเอง ใช้เวลา แรงกายและแรงใจในการฟูมฟักธุรกิจจนรู้แทบจะทุกช่องโหว่ แต่ในความจริงแล้ว จากการทำงานหนักอาจทำให้เราเหนื่อยล้า พลั้งเผลอ หรืออาจไว้ใจพนักงานบางคนมากเกินไปจนถูกยักยอกเงินไปในที่สุด โดยการทุจริตที่พบได้มากที่สุดมีด้วยกัน 4 ช่องทาง ดังนี้
1. การรั่วไหลเกี่ยวกับค่าแรง
ปกติจะมีแต่บริษัทเบี้ยวค่าแรงพนักงาน เป็นไปได้หรือที่พนักงานจะโกงค่าแรงบริษัท ต้องบอกว่าเป็นไปได้ หากบริษัทมีการจ้างพนักงานบัญชี มีการจ่ายค่าแรงรายวัน รายเดือน มีค่าโอที และมีอัตราเข้าออกของพนักงานที่ค่อนข้างสูง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้พนักงานบัญชีรวมหัวกับบุคคลอื่นเพื่อใส่รายละเอียดเท็จได้ เช่น ใส่จำนวนชั่วโมงโอทีสูงเกินจริง จ้างพนักงานใหม่ด้วยการนำประวัติพนักงานเก่าหรือบุคคลสมมติมาใช้ แล้วโอนเงินเข้าบัญชีสมมติ ซึ่งถ้าเจ้าของไม่ตรวจสอบรายละเอียดบัญชีให้ดี และดูแต่ตัวเลขผลประกอบการในภาพรวม ก็อาจเสียรู้เอาได้ง่ายๆ
2. เงินสดรั่วไหล
นอกเหนือจากการขโมยเงินโดยเจตนาแล้ว บางครั้งการขโมยเงินก็มาในรูปแบบที่พนักงานไม่ได้ตั้งใจก็มี ยกตัวอย่างเช่น พนักงานมีเหตุให้ต้องไปซื้อวัสดุ อุปกรณ์ หรือวัตถุดิบอย่างเร่งด่วน จึงยืมเงินหรือจ่ายเงินส่วนตัวไปก่อน อาจจ่ายเงินไป 80 บาท ซึ่งสินค้าที่ซื้อมาไม่สามารถนำใบเสร็จมาเบิกได้ แต่กลับมาบอกเจ้าของว่าซื้อไป 100 บาท หรือหากพนักงานสนิทกับร้านที่ไปซื้อสินค้าเป็นประจำ ก็จะให้ร้านค้าออกใบเสร็จเปล่าโดยไม่เขียนราคา และตัวเองนำกลับมาเขียนเองโดยบวกกำไรให้ตัวเองครั้งละเล็กๆ น้อยๆ เจ้าของเองก็ทุนหายกำไรหดไปเรื่อยๆ เหมือนกัน
3. รั่วไหลผ่านธุรกรรมออนไลน์
สมัยนี้มีธนาคารออนไลน์ ทำให้เราชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้สะดวกสบายมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการก็ต้องระมัดระวังเรื่องธุรกรรมออนไลน์เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น พนักงานจงใจโอนเงินไปผิดบัญชี แต่บอกว่าเป็นบัญชีของคู่ค้า กว่าจะตรวจพบว่าเป็นบัญชีใครก็ไม่รู้ก็ปาไปนานนับเดือน หรือพนักงานชิงลาออกไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น พยายามตรวจสอบหมายเลขบัญชีที่เราทำธุรกรรมออนไลน์ด้วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น
4. รั่วไหลจากส่วนต่างราคาสินค้า
การโกงเงินรูปแบบนี้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ เจ้าของร้านฝากให้พนักงานเฝ้าร้านแทน เพราะพนักงานคนนั้นรู้ราคาสินค้าและให้ข้อมูลได้ดีที่สุด เมื่อมีลูกค้าหน้าใหม่ที่ไม่รู้ราคาสินค้ามาสอบถามราคา สินค้า A ที่มีต้นทุน 50 บาท และราคาขายปกติอยู่ที่ 120 บาท พนักงานอาจบอกราคาขายที่ 140 บาท เมื่อขายได้ก็นำเงิน 20 บาทเข้ากระเป๋าตัวเอง ในระยะยาวธุรกิจของเราจะเสียชื่อเสียง เพราะขายสินค้าราคาสูงกว่าคู่แข่ง
สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ถ้าโดนลูกจ้างตอดเล็กตอดน้อย ผสมกับวางแผนการเงินไม่เป็นระบบ ธุรกิจของเราอาจเข้าสู่สถานการณ์ที่วิกฤตเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น พยายามตรวจสอบบัญชี รายรับ รายจ่ายอย่างละเอียดทุกเดือน เพื่อป้องกันการทุจริต และบริหารจัดการการเงินให้มีประสิทธิภาพและคล่องตัว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: FINANCE
หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน
ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้