บริหารเงินดี ทำธุรกิจโต สูตรสำเร็จ นิธิฟู้ดส์

Text : เรียบเรียงจากวารสาร K SME Inspired ธนาคารกสิกรไทย
Photo : บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด







     ปัจจุบันการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามคือการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีและเป็นระบบ เพราะนั่นคือ หัวใจหลักของการอยู่รอดในธุรกิจอย่างแท้จริง  เฉกเช่นเดียวกับ สมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าแปรรูปการเกษตร ภายใต้ชื่อแบรนด์ “เบลล์ฟู้ดส์” “เออร์เบิร์น ฟาร์ม” “พ๊อกเก็ตเชฟ” และ “อีสคิทเช่น”  ที่ ได้ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่วันที่เข้ามารับไม้ต่อธุรกิจครอบครัว ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจของครอบครัว โดยตั้งเป้ารายได้ในอนาคตไว้ถึง 1,000 ล้านบาท จาก 300 ล้านบาท


    ด้วยเหตุนี้เขาจึงให้ความสำคัญกับการบริหารสภาพคล่องของธุรกิจมาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยมองว่านี่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจก้าวหน้าไม่มีสะดุด แม้จะมีบางช่วงจังหวะที่ต้องก้าวช้าลงบ้างก็ตาม


     สมิตบอกว่าด้วยรูปแบบธุรกิจของนิธิฟู้ดส์ที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งต้องใช้เงินสดซื้อวัตถุดิบมาผลิตแปรรูปขาย โดยการขายส่วนใหญ่ล้วนเป็นเงินเชื่อ อีกทั้งวัตถุดิบสินค้าเกษตรมีเรื่องของฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเงินให้มีเพียงพอสำหรับขาจ่าย และขารับ ในแต่ละรอบการผลิตและการขาย โดยกลยุทธ์ที่เขาใช้เสมอมา คือใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม ควบคู่กับการบริหารวัตถุดิบ และสินค้าคงคลัง


    "การบริหารสภาพคล่อง จริงๆ มีหลายวิธีมากที่เราไม่ต้องพึ่งเงินกู้เสมอไป คำว่าเครื่องมือทางการเงินก็ไม่ใช่แค่เฉพาะสินเชื่อเท่านั้น ยกตัวอย่างเรื่องการซื้อวัตถุดิบ ซึ่งถือเป็น 70-80 เปอร์เซ็นต์ของการใช้เงินสดสำหรับธุรกิจสินค้าเกษตรอย่างเราเลย กรณีนี้เราสามารถทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ได้ อย่างบางครั้งเราประเมินแล้วว่าราคาตลาดจะเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องรีบซื้อวัตถุดิบปริมาณมากเข้ามาเก็บไว้ ซึ่งต้องใช้เงินสดเยอะ วิธีการที่เราใช้มาร่วม 5-6 ปีแล้วก็คือทำสัญญาล่วงหน้ากับซัพพลายเออร์ในราคาที่ตกลงร่วมกัน แล้วให้ทยอยส่งของเข้ามาให้ทันกับการผลิตขายในแต่ละรอบ วิธีนี้ทำให้เราไม่ต้องพึ่งเงินกู้จากแบงก์ก็สามารถบริหารสภาพคล่องได้เหมือนกัน"


     "ส่วนในทางขารับ ปัญหาตรงนี้จะเกิดขึ้นจากการสื่อสารระหว่างฝ่ายบัญชี กับฝ่ายการตลาด คือบัญชีจะรู้ว่าลูกหนี้รายไหนคุณภาพเป็นอย่างไร ขณะที่ฝ่ายการตลาดหากทุ่มเทกับการขายเต็มที่โดยไม่รู้ว่าลูกค้ารายไหนมีปัญหาเรื่องการจ่ายหนี้ ก็จะทำให้ยอดขายกลายเป็นหนี้สูญไป ผมจะเน้นย้ำกับฝ่ายการตลาดเสมอว่าลูกค้ารายไหนเครดิตไม่ดี ไม่ควรเปิดการขายเยอะเกินไป เวลาขายต้องมั่นใจว่ากระบวนการขายจะจบลงด้วยการได้เงินสดกลับมาสู่องค์กรด้วย"


     นอกจากการบริหารจัดการลูกหนี้แล้ว ช่องทางการชำระเงินก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้เกิดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งหากเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสมก็จะสามารถประหยัดต้นทุนส่วนนี้กลับมาเป็นเงินสดให้กับบริษัทได้อีกทาง


     "เพราะเราอยู่เชียงใหม่ทำให้ต้องมีการโอนเงินข้ามเขต ซึ่งช่องทางการโอนเงินหลายๆ ทางมีต้นทุนที่แพงเหมือนกัน เมื่อรวมๆ กันแล้วก็เป็นต้นทุนรูปแบบหนึ่งที่เราบริหารจัดการให้กลับมาเป็นเงินสดได้ ผมเอาระบบเพย์โรล มาใช้ในการโอนเงินระหว่างเรากับลูกค้า และซัพพลายเออร์ ช่วยประหยัดเงินค่าโอนได้มากทีเดียว เพราะเรามียอดโอนทุกเดือน บางทีโอนล้านละ 1,000 บาท เราตั้งจ่ายเป็นเพย์โรลไปจะโอนกี่ล้านก็แค่ 15 บาท เหล่านี้เป็นวิธีการที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินให้เกิดประโยชน์ต่อการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้ ซึ่งบางวิธีก็อาจต้องอาศัยการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็น ส่วนลูกค้าต่างประเทศ ซื้อขายกันแรกๆ เราอาจต้องใช้ L/C  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายคิดเป็น 2-3 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนในการซื้อขายต่อครั้ง พอขายๆ ไปสักพักเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้น ผมก็จะเจรจากับลูกค้าขอเปลี่ยนมาใช้ Telex Transfer แทนเพื่อลดต้นทุนการชำระเงิน"


     สมิตจะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต และต้นทุนการดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรก แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้จริงๆ ก็จะพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทเงินกู้ ซึ่งจะทำให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการกู้ในแต่ละครั้ง


     "ในการทำธุรกิจ เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างบางครั้งวัตถุดิบราคาสูงขึ้น ซึ่งอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของเรา เช่น เราเคยขายอยู่เท่านี้ เราก็เตรียมเงินไว้สำหรับวางแผนซื้อวัตถุดิบไว้ในปริมาณหนึ่งที่คิดว่าเพียงพอต่อการผลิตขาย แต่พอเอาเข้าจริงๆ ราคาตลาดเปลี่ยนไปในราคาที่สูงมาก ก็จำเป็นต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง ก่อนอื่นก็ต้องมาดูว่ามีแหล่งเงินทุนอะไรบ้าง มีวงเงินกู้เท่าไร ใช้ได้หรือยัง แล้วเลือกใช้จากวงเงินที่มีดอกเบี้ยต่ำสุดไปหาวงเงินที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งปัจจุบัน เรานำที่ดินและอาคารของโรงงานไปจำนองกับธนาคาร เพื่อตั้งวงเงินกู้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และก็ยังสามารถเอาลูกหนี้ที่มีประวัติดีไปขอสินเชื่อแฟคตอริ่งเพื่อให้มีเงินสดมากขึ้นมาซื้อวัตถุดิบใช้ในการผลิต"


     สมิตบอกว่าในการบริหารสภาพคล่องให้กับธุรกิจมีหลากหลายวิธีที่จะทำ นอกเหนือจากการกู้เงินจากแบงก์ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการกันเงินสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับรายจ่ายที่ต้องจ่ายอยู่ประจำ เช่น เงินเดือนพนักงาน และค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งเขาจะสำรองไว้ให้พอจ่าย 6 เดือนเป็นอย่างน้อย


     "คุณพ่อและคุณแม่ผมสอนอยู่เสมอว่าธุรกิจจะอยู่ได้ก็ด้วยความน่าเชื่อถือ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการการเงิน อย่างพนักงานทำงานให้เรา เขาย่อมคาดหวังว่าจะได้เงินไปเลี้ยงครอบครัว ถ้าสถานประกอบการ หรือองค์กรไม่มีเงินสำรองเพียงพอดูแลเขาก็จะหมดความเชื่อถือ หมดแรงใจจะทำงานให้เรา เราไปบิดพลิ้วกับคู่ค้า ครั้งหน้าเขาก็จะไม่อยากส่งของให้ เราต้องมีสัจจะทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของเราด้วย การบริหารจัดการทางการเงินที่ดีจะช่วยให้เรารักษาสัจจะตรงนี้ไว้ได้” สมิตบอกย้ำถึงแนวคิดในการบริหารจัดการการเงินของเขา



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้