Text : กองบรรณาธิการ
วันนี้สังคมโลกเริ่มตื่นตัวรับกระแสของการเป็น “สังคมไร้เงินสด” หรือ Cashless Society มากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับไทย ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังตื่นตัวและกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะปูทางให้คนไทยใช้ชีวิตในรูปแบบของเงินดิจิทัล จากแผนยุทธศาสตร์ National E-payment ของรัฐบาล เพื่อที่จะปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของระบบธนาคารในประเทศ และพร้อมผลักดันประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวนั้น
พร้อมเพย์ (PromptPay) คือ หนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ National E-payment ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่จะมาสร้างประสบการณ์ใหม่ในการทำธุรกรรมทางการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการเปิดตัวบริการพร้อมเพย์ ทั้งสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ด้วยบริการของพร้อมเพย์ที่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลในอัตราที่ถูกลงมาก จนถึงไม่มีค่าบริการเลย เมื่อเทียบกับค่าบริการการโอนของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน เชื่อว่าจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมานิยมการชําระเงิน/โอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ที่ต้องการลดการใช้เงินสดในระบบการเงินไทย
ขณะที่พร้อมเพย์นิติบุคคล ได้เริ่มเปิดให้นิติบุคคลลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์และให้บริการโอนเงินได้ทันที ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา จากการเปิดเผยของ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เชื่อว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น รวมถึงจะเริ่มให้มีการใช้ใบกำกับภาษี (e-Tex Invoice) ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการเรื่องภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศอีกด้วย
แนะธุรกิจปรับตัวตาม ลดต้นทุน-เพิ่มโอกาส
จากแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment นี้ ในมุมมองของ ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และนายกสมาคม Thailand e-Payment Associate (TEPA) บอกไว้ว่า จะช่วยให้ประหยัดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อประชาชนสามารถลดต้นทุนการพกพาเงินสดและหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคธนาคารจะสามารถประหยัดต้นทุน 3 หมื่นล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการพิมพ์ธนบัตร การบริหารจัดการเงินสดและเช็ค และต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินสดที่เก็บไว้ในศูนย์จัดการเงินสด เช่นเดียวกับภาคธุรกิจรวมถึงร้านค้าทั่วไปสามารถจะประหยัดต้นทุนได้ 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการบริหารจัดเก็บเงินสดและเช็ค และการพิมพ์หรือจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี รวมแล้วจะสามารถลดต้นทุนภาคส่วนต่างๆ ได้ราว 1.5 แสนล้านบาท
นับว่าเป็นตัวเลขมหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากต้นทุนที่จะลดลงจากการลดใช้เงินสด พร้อมแนะ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตามผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ด้วยการรับชำระเงินผ่านช่องทาง e-Payment ซึ่งการที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อและชำระเงินได้เร็ว จะนำมาซึ่งวงจรธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้นด้วย ทำให้ต้นทุนการบริหารสต็อกสินค้าลดลง และยังส่งผลไปยังราคาที่สามารถปรับลดลงได้
2 เทรนด์การเงินมาแรง หนุน Cashless Society
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่านวัตกรรมทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตามการเติบโตของเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเข้าถึงโลกของดิจิทัล และการที่วันนี้เรากำลังจะเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสด จะเห็นได้ว่า 2 แรงหนุนสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยเร่งความเร็วเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย นั่นก็คือ e-Wallet และ Fin Tech
e-Wallet กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์
เทคโนโลยีหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจับจ่ายซื้อสินค้าอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ e-Wallet ซึ่งหมายถึงระบบการชำระสินค้าและบริการผ่านแอพพลิเคชัน หรือโซลูชั่นด้วยบัตรเครดิตหรือเงินสด โดยไม่ต้องติดต่อธนาคารโดยตรงก็ได้ แต่ผู้พัฒนาแอพฯ หรือระบบจะเป็นตัวกลางในการติดต่อและเชื่อมต่อระบบให้กับร้านค้าเมื่อมีการอนุมัติให้ใช้บริการ สำหรับโอกาสของ e-Wallet ในไทยนั้น ด้วยจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่มีมากถึง 47 ล้านคน และเทคโนโลยี 4G ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพหน้าใหม่ๆ ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป คือนิยมพกเงินสดน้อยลง รวมถึงมีความต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ หรือซื้อแอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์และกูเกิลเพลย์ แต่ไม่มีบัตรเครดิต หรือไม่อยากผูกบัญชีกับบัตรเครดิต สิ่งเหล่านี้ทำให้กระแสของ e-Wallet มาแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Fin Tech พลิกโฉมวงการการเงิน
เมื่อปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรมาแรงไปกว่า Fin Tech กลายเป็นสิ่งที่หลายๆ คนพูดถึง โดยเฉพาะในวงการธนาคาร ที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการมาของ Fin Tech เนื่องด้วยบทบาทของ Fin Tech นั้น สามารถกระจายครอบคลุมไปในผลิตภัณฑ์และบริการหลักของสถาบันการเงิน ทั้งในด้านธุรกรรมที่เกี่ยวกับการชำระเงิน/โอนเงิน (Payment/ Transfers) ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคล (Personal Financing) และธุรกรรมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อและเงินทุน (Lending & Financing) หรือแม้กระทั่งประกันชีวิต/ประกันภัย (Insurance) จึงกลายเป็นโอกาสใหญ่ที่ผู้บริโภคจะหันมาใช้ Fin Tech เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีพฤติกรรมชอบทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และตอบสนองต่อผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวได้ค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี
แน่นอนว่าการเติบโตของ e-Wallet และ Fin Tech ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมเป็นแรงหนุนอย่างดีที่จะทำให้คนไทยเริ่มคุ้นเคยและใช้ชีวิตในแบบไร้เงินสดได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: FINANCE
หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน
ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้