การเติบโตของเทคโนโลยีและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้กระแส Disruptive Economy กินวงกว้างออกไปในทุกธุรกิจ สำหรับประเทศไทยนั้น ภาพของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนเวลานี้ ยังกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจบริการทางการเงิน จะเห็นว่ามี FinTech ทยอยเปิดตัว และเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นรายเดิมในตลาด เช่น ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งความหลากหลายของ FinTech นับเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทย
โดยเฉพาะธุรกรรมประเภทสินเชื่อ จะมี FinTech หนึ่งที่น่าสนใจ และอาจจะเกิดขึ้นในไทยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า นั่นก็คือ P2P Lending (Peer-to-Peer Lending) หรือ การกู้ยืมผ่านช่องทางบุคคลต่อบุคคล (ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย)
สำหรับกลไกการทำงานของ P2P Lending คือ การจับคู่ผู้ที่ต้องการเงินกู้กับผู้ให้กู้ (นักลงทุน) ผ่านตัวกลาง ซึ่งในที่นี้ คือ ผู้ให้บริการ (P2P Lending Platform) ที่ตั้งอยู่บนระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งนักลงทุนจะเป็นผู้กำหนดขนาดของเงินลงทุนที่จะกระจายไปสู่ผู้กู้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกู้แบบใดก็ได้ตามที่นักลงทุนต้องการ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลวิจัยระบุว่า P2P Lending จะเป็นเครื่องมือสำหรับการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่อาจจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต โดย P2P Lending มีข้อดีอยู่ที่ต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำกว่าช่องทางปกติและเข้าถึงได้ง่ายกว่า ขณะที่ในฝั่งผู้ให้กู้หรือนักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าตลาด และยังมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายรูปแบบ
แต่ถึงแม้ผลตอบแทนที่ดึงดูดใจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายจะเป็นจุดเด่นสำคัญของการให้สินเชื่อในรูปแบบ P2P Lending แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดเด่นดังกล่าวไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญเพียงลำพังสำหรับการดำเนินธุรกิจด้านการเงิน เนื่องจากการจัดตั้งธุรกิจการเงินต้องการส่วนประกอบพื้นฐานที่สำคัญอย่างน้อยอีก 3 ส่วน คือ
1. ความแข็งแกร่งของตัวกลางทางการเงินในการเผชิญกับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ
2. มีระบบประเมินความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
3. ระบบจัดการกับหนี้เสียที่มีประสิทธิภาพ จึงจะเพียงพอให้ธุรกิจทางการเงินสามารถดำเนินไปได้
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ P2P Lending Platform สามารถควบคุมมาตรฐานได้ เช่น การทดสอบความแข็งแกร่งของ Platform การจัดให้มีทุนประกันเพื่อรองรับความเสี่ยง หรือการติดตามทวงหนี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น ณ ขั้นตอนท้ายๆ ของกระบวนการปล่อยสินเชื่อ แต่ปัจจัยสำคัญที่เป็นหัวใจหลักในกระบวนการคัดเลือกผู้กู้ที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อให้สินเชื่อ (เช่น มาตรฐานข้อมูลพฤติกรรมของผู้กู้) ยังเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการพัฒนาในอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นใจของนักลงทุน และเพิ่มความเชื่อมั่นด้านเสถียรภาพในภาพรวมได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี