มุมภาษีธุรกิจ ผู้ประกอบการ SME กับรายจ่าย

 

                                                                                       
 
 
ผู้เขียน : ศิวะ แนวโนนทัน
              Businesslaw_tax@hotmail.com
 
        การประกอบธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นที่เข้าใจตรงกันว่า “รายจ่าย” เป็นสิ่งที่พึงต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ รายจ่ายย่อมมีมากหรืออาจจะมากเป็นเงาตามตัว ส่วนธุรกิจขนาดกลาง หรือ ขนาดเล็กรายจ่ายก็ลดสัดส่วนลงมาตามลำดับ 
 
โดยทั่วไป ถ้ารายได้มากกว่ารายจ่ายย่อมถือว่ามีกำไร แต่ถ้ามีรายจ่ายมากกว่ารายได้อย่างมาก คำว่ากำไรคงหดหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่อยากที่จะประสบพบเจอ เพราะการประกอบธุรกิจย่อมต้องการ “กำไร” เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนกิจการนั้นๆ  ยิ่งรายได้เข้ามาเยอะย่อมถือว่ากิจการมีกำไรเยอะ แต่ผู้ประกอบการเคยทราบหรือเปล่าครับว่า  มีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำนวนมาก(ขอย้ำว่า จำนวนมากนะครับ)ที่ได้กำไรมากแต่ต้องปวดหัวและต้องเอาเงินไปซื้อยาดมรวมทั้งยาทำใจมารักษาแบบขนานใหญ่(เพราะว่าทำใจไม่ค่อยจะได้!)  
 
อ่านมาถึงตรงนี้คงมีคนค้านผมบ้างว่า มีกำไรเยอะก็ต้องดีซิเพราะมีรายได้เข้ามามากในทางบัญชีแล้วจะไปปวดหัวทำไมกัน  แต่มันเป็นเรื่องจริงที่ไม่ต้องอิงนิยาย ไม่เชื่อลองถามฝ่ายบัญชีดูนะครับ  เนื่องจากว่าโดยทั่วไปบริษัทจะเสียภาษี 30 % จาก “กำไรสุทธิ” ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากที่ต้องเสีย จึงทำให้บางบริษัท ได้ใช้วิยายุทธ์ในด้านมืด จัดทำบัญชี 2 เล่ม(ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและไม่อยากให้ทำเลย)เพื่อทำให้เสียภาษีน้อยลง 
 
ถ้าเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ตรวจเจอคงต้องเจอเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม รวมทั้งโทษทางอาญาอย่างแน่นอน!! แต่อย่างพึ่งหมดกำลังใจไปครับ  เพราะสิ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการลดการเสียภาษีให้น้อยลงได้และถูกกฎหมายภาษีก็คือ รายจ่ายนั่นเอง เพราะเหตุที่ผู้ประกอบการมีแต่รายได้เข้ามาทางเดียวในทางบัญชีแต่ไม่มีรายจ่ายออกไปเลยหรือมีแต่น้อยก็ต้องเสียภาษีเยอะไปตามนั้น 
 
แต่ถ้าผู้ประกอบการสร้าง รายจ่ายให้สัมพันธ์(matching)กับรายได้ในทางบัญชี ผลที่ตามมาก็คือจะทำให้เสียภาษีลดลงจากเดิม ลองคิดดูซิครับว่าถ้าเราสร้างรายจ่ายตามที่กฎหมายภาษีอนุญาตให้หักเป็นรายจ่ายได้ในลักษณะที่พอดีกับรายได้ เราก็จะเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสมและกรมสรรพกรก็ยอมรับได้พูดง่ายๆ คือ ฝ่ายรัฐก็ได้เงินภาษีจากเราเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ  ฝ่ายท่านก็เสียภาษีแบบสมน้ำสมเนื้อ แบบนี้เขาเรียกว่า win-win solution   
 
อย่างไรก็ดี รายจ่ายนั้นต้องเป็นรายจ่ายที่เหมาะสมกับธุรกิจของท่าน ไม่ใช่ว่าเป็นรายจ่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายภาษีแต่ไม่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง  ตรงนี้เป็นเรื่องที่แผนกบัญชีของบริษัทต้องให้ความสนใจเรื่องบัญชีภาษีอากร  
 
ขอยกตัวอย่างซัก 2 เรื่องเช่น “การที่บริษัทพาลูกค้าไปเลี้ยงรับรอง ถ้าการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าเลี้ยงรับรองนั้น ได้จ่ายไปตามความจำเป็นของบริษัท กล่าวคือ จ่ายไปตามธรรมเนียมหรือประเพณีทางธุรกิจเป็นการทั่วไป และบุคคลที่ถูกเลี้ยงนั้นต้องเป็นคนภายนอกไม่ใช่ลูกจ้าง ผู้บริหาร หรือ กรรมการบริษัท  พร้อมกับมีหลักฐานเกี่ยวกับการจ่าย ก็ถือว่าค่ารับรอบดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่ทางบริษัทนำไปหักเป็นรายจ่ายได้ ” 
 
  หรือ “ถ้าในการรับรองดังกล่าวมีการให้สิ่งของแก่ลูกค้าที่ถูกรับรอง ขอให้ระวังไว้ว่าไม่ว่าจะให้ของแพงขนาดไหนก็ตามกฎหมายให้ถือเป็นรายจ่ายได้แค่ 2,000  บาทเท่านั้นเอง!!ในแต่ละคราวที่มีการรับรอง”   ก่อนจะลากันแบบไม่ลาขาด ขอกล่าวทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะดึงนำพาผู้ประกอบการหนีภาษี โดยการตกแต่งทำบัญชีเท็จแต่อย่างใดแต่อยากให้ประหยัดภาษี ในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศเจอกับข้าว(เริ่มหา)ยาก+ หมากแพงเช่นเวลานี้ ก็เท่านั้นเอง 
 
 

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้