ผู้เขียน : วิทยา องค์วิริยะพันธ์
SME จำนวนไม่น้อยที่ทำธุรกิจแบบมวยวัด ไม่มีแบบแผน แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแต่ละวันไปเรื่อยๆ ทำให้ลงท้ายด้วยความล้มเหลว ดังที่เคยมีคำกล่าวว่า ธุรกิจที่จัดตั้งใหม่จะปิดตัวลงครึ่งหนึ่งภายใน 5 ปี และที่เหลืออยู่นี้ก็จะหายไปอีกครึ่งหนึ่งในอีก 5 ปี แผนการเงินหรือประมาณการทางการเงินนี้เป็นส่วนที่ทำให้เรามองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการจัดทำแผนการเงินให้กับผู้ที่สนใจอยากทำธุรกิจ และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านชาว SME Thailand ก็เลยเอามาเผยแพร่ในนี้ด้วย โดยบทความนี้เป็นตอนแรก จะกล่าวถึงภาพรวมของแผนการเงินให้เห็นภาพรวมก่อน
แผนการเงินโดยปกติแล้วจะหลบอยู่ในแผนธุรกิจที่รวมข้อมูลแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจในทุกด้านเอาไว้ ซึ่งก็มักจะทำเพื่อเอาไปยื่นขอเงินกู้กันเป็นส่วนใหญ่ แต่น้อยนักที่จะทำเอาไว้เพื่อเป็นแผนที่สำหรับตัวธุรกิจเอง โดยในส่วนของแผนการเงินนี้เป็นเสมือนมาตรวัดของธุรกิจ
แผนการเงิน ก็คือ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินของการดำเนินธุรกิจที่เราได้ประเมินหรือตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต โดยทั่วไปจัดทำเป็นรายปี ประเมินเป็นระยะเวลา 3- 5 ปี ใช้ในการจัดทำเพื่อนำเสนอบุคคลภายนอก โดยเฉพาะการยื่นขอเงินกู้นั่นเอง และมีการจัดทำเป็นรายเดือนใช้ภายในเพื่อการบริหารจัดการ และเมื่อเวลาผ่านไปแล้วผลการดำเนินงานของธุรกิจเป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้หรือที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ซึ่งก็จะสามารถหาคำตอบได้ว่าจุดที่เป็นต้นตอของปัญหาอยู่ตรงไหนหรือปัจจัยใดที่ทำให้ผลออกมาดีกว่าที่คิดไว้
การประมาณการทางการเงินมี 8 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย ขั้นที่หนึ่ง การตั้งสมมุติฐานต่างๆ เช่น อัตราการเติบโตของยอดขาย อัตราการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ระยะเวลาที่ได้เครดิตจากผู้ขายวัตถุดิบ และระยะเวลาที่ให้เครดิตกับผู้ซื้อ เป็นต้น
ขั้นที่สอง ประมาณการแหล่งเงินทุน เป็นการวางแผนหรือประเมินว่าจะเลือกใช้เงินลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ซื้อที่ดิน ลงทุนสร้างอาคาร ซื้อเครื่องจักร จ่ายมัดจำค่าเช่าสถานที่ เป็นต้น โดยแหล่งเงินทุนที่เลือกใช้แบ่งออกกว้างๆได้สองส่วนคือ ส่วนเงินกู้ และส่วนของเจ้าของ นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดสัดส่วนที่คาดว่าจะเป็น และระบุต้นทุนทางการเงินของทั้งสองแหล่งเงินทุนด้วย
ขั้นที่สาม ก็คือการระบุว่าต้องลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง เป็นเงินเท่าไหร่ รวมไปถึงเงินทุนส่วนที่จะนำไปซื้อสินค้าเข้ามาให้พร้อมขาย หรือวัตถุดิบเพื่อให้พร้อมเริ่มการผลิต และก็ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ ด้วย
ขั้นที่สี่ ประมาณการยอดขาย ต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยในส่วนของยอดขาย ก็จะลงรายละเอียดว่าขายสินค้ากี่อย่าง ราคาขายเท่าไหร่ โดยใช้ราคาที่คาดว่าจะขายได้จริงหากว่าต้องมีส่วนลด และขายได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อคำนวณมาเป็นยอดขายในแต่ละเดือน และบวกรวมเป็นรายปี
ในส่วนของต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เป็นการประมาณต้นทุนของวัตถุดิบที่ต้องซื้อมาใช้ผลิตในแต่ละเดือน หรือต้นทุนของสินค้าที่จะต้องซื้อมาเพื่อให้พร้อมขาย ของทุกวัตถุดิบหรือทุกสินค้าที่ต้องซื้อแยกรายละเอียดให้ชัดเจน รวมไปถึงต้นทุนของส่วนประกอบของสินค้าที่ต้องนับรวมเป็นต้นทุนด้วย เช่น แพ็กเกจหีบห่อบรรจุสินค้า เป็นต้น และต้นทุนในการดำเนินงานในส่วนของฝ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการขายโดยตรง เช่น ค่าเช่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงานธุรการ พนักงานฝ่ายบัญชี ค่าใช้จ่ายโฆษณา และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ในส่วนของต้นทุนก็มีการประมาณการเป็นรายเดือนเช่นกัน
ขั้นที่ห้า ประมาณการงบกำไรขาดทุน ก็เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากขั้นที่สี่ที่เราได้ยอดขาย ต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ทีนี้ก็นำมารวมกัน จากนั้นถ้าเป็นนิติบุคคลก็หักด้วยดอกเบี้ยจ่าย แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในตรงนี้ได้ก็นำมาหักไว้เพื่อให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริง แต่เมื่อนำมาคำนวณเป็นกำไรจากการดำเนินงานเพื่อคำนวณภาษีแล้ว ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องบวกกลับดอกเบี้ยจ่ายเข้าไปด้วย ซึ่งในกรณีของภาษีนี้ จะขอยกไปอธิบายละเอียดในบทความที่จะตามมาต่อไป
ขั้นที่หก ประมาณการงบดุล เมื่อได้ผลการดำเนินงานเป็นงบกำไรขาดทุน ก็จะนำผลกำไรหรือขาดทุนเข้ามาบวกเพิ่มในส่วนเงินทุนของเจ้าของ และหักด้วยเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งผลกำไร และปรับปรุงตัวเลขยอดขายและต้นทุนให้ออกมาเป็นจำนวนเงินรับจ่ายที่ได้รับจ่ายจริงเป็นเงินสดออกไปแล้ว และส่วนที่ยังไม่ถึงรอบจ่ายจากเครดิตที่ได้รับหรือให้ไว้ ซึ่งเป็นส่วนที่จะทบไปจ่ายจริงในปีถัดไป รวมถึงนำรายการหักต่างๆในทางบัญชีมาปรับปรุงงบดุลด้วย
ขั้นที่เจ็ด ประมาณการงบกระแสเงินสด เมื่อเราได้ทั้งงบกำไรขาดทุนและงบดุลแล้วก็นำรายการต่างๆ มาจัดเรียงใหม่ เพื่อแสดงถึงสถานะของเงินสดที่มี และระหว่างปีว่าได้มีการรับจ่ายอะไรออกไปบ้าง โดยหลักๆแบ่งได้สามส่วนคือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน
ขั้นที่แปด ขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการนำข้อมูลจากทั้งสามงบที่ได้ มาคำนวณเป็นอัตราส่วนต่างๆ เพื่อดูถึงความสามารถของธุรกิจในด้านต่างๆ โดยแบ่งออกได้เป็นสี่ส่วน คือ อัตราส่วนแสดงความสามารถในการทำกำไรและการบริหารงาน อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพย์สิน อัตราส่วนแสดงสภาพคล่อง และอัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้ นอกจากนี้ หากเป็นโครงการใหม่หรือธุรกิจที่กำลังวางแผนเพื่อเริ่มต้นใหม่ ก็จะมีการคำนวณอัตราผลตอบแทนด้วยเพื่อดูว่าผลตอบแทนที่ได้รับนั้นคุ้มค่าเหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่
บทความนี้เป็นตอนแรกที่กล่าวถึงภาพรวมของแผนการเงินหรือการจัดทำประมาณการทางการเงิน เพื่อนำไปใช้เป็นแผนที่นำทางของการดำเนินธุรกิจให้มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนหรือที่เรียกว่ามีตัวชี้วัดนั่นเอง ในบทความตอนต่อไปจะกล่าวถึงในแต่ละขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ชาว SME ได้นำไปใช้ได้จริง และมองเห็นจุดแข็งจุดด้อยนำไปสู่ความสำเร็จต่อไป