สำหรับประเทศไทยนั้นสกุลเงินสำคัญที่ใช้ในการซื้อ-ขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศเป็นหลักคือดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์ฯ) ดังนั้น ความผันผวนของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ จึงเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ
ข้อมูลจากบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) หรือทีเฟ็กซ์ รายงานว่าในช่วงปี 2551–2554 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ มีการปรับตัวขึ้นลงค่อนข้างมาก โดยในปี 2552 ค่าเงินบาทอ่อนลงไปถึงประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ในปี 2554 แข็งขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 29 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนลง จะส่งผลดีต่อผู้ที่มีรายรับเป็นดอลลาร์ฯ เช่น ผู้ส่งออก เนื่องจากรายได้เงินดอลลาร์ฯ ที่ได้จากการส่งออกสามารถนำมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้นแต่ในมุมของผู้นำเข้าจะตรงกันข้าม ค่าเงินอ่อนลงจะส่งผลลบ เนื่องจากจะต้องใช้เงินบาทจำนวนมากขึ้นในการแลกเป็นเงินดอลลาร์ฯ เพื่อจ่ายซื้อสินค้าจากต่างประเทศสำหรับกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีรายจ่ายเป็นดอลลาร์ฯ เช่น ผู้นำเข้า หรือผู้ที่ต้องการส่งบุตรหลานไปเรียนต่อต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าจากต่างประเทศจะมีราคาในรูปเงินบาทที่ถูกลง แต่จะเป็นผลลบกับผู้ส่งออกเพราะเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้จากการส่งออกสินค้า นำมาแลกเป็นเงินบาทได้มูลค่าน้อยลง
การเคลื่อนไหวขึ้นลงของค่าเงินนี้ อาจส่งผลต่อรายรับรายจ่ายของผู้ประกอบธุรกิจจนอาจทำให้ขาดทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นความเสี่ยงที่บริษัทสามารถจัดการได้ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า Forward และ Futures โดยสัญญาเหล่านี้จะช่วยล็อกรายได้หรือต้นทุนให้อยู่ในระดับที่คาดไว้ ผู้ประกอบธุรกิจจึงไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์โลก หรือตราสารที่มีราคาเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับสินค้าโภคภัณฑ์โลก เช่น ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) กองทุนทองคำ กองทุนนํ้ามัน สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ (โกลด์ฟิวเจอร์ส) โลหะเงิน (ซิลเวอร์ฟิวเจอร์ส) และอ้างอิงราคาน้ำมัน(ออยล์ฟิวเจอร์ส) เผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน เพราะแม้ว่าการซื้อ-ขายจะอยู่ในรูปเงินบาท แต่ราคาซื้อ-ขายก็จะเคลื่อนไหวตามค่าของเงินสกุลดอลลาร์ฯ ด้วย ดังนั้น ความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจึงส่งผลกระทบต่อผลกำไรขาดทุนของพอร์ตลงทุนเช่นเดียวกัน
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการลงทุนและการบริหารความเสี่ยง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายเปิดกว้างให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการมีทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ทีเฟ็กซ์จึงสามารถจัดให้มีการซื้อ-ขายสัญญาซื้อขายดอลลาร์ฯล่วงหน้า (USD Futures) หรือสัญญาฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกาได้
กล่าวคือ ดอลลาร์ฯ ล่างหน้าจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ตลอดจนผู้ลงทุนทั่วไปสามารถซื้อ-ขายเงินดอลลาร์ฯ ได้อย่างสะดวกมากขึ้นเนื่องจากขนาดของสัญญามีขนาดเล็ก (ประมาณ 30,000 บาทต่อสัญญา) และการซื้อ-ขายสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ไม่จำเป็นต้องแสดงเอกสารการถือเงินดอลลาร์ฯ อยู่ก่อน โดยผู้สนใจแค่เพียงเปิดบัญชีซื้อ-ขายกับโบรกเกอร์อนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาต ก็สามารถซื้อ-ขายดอลลาร์ฯ ล่วงหน้าได้ทันที
นอกจากนี้ สัญญา Futures ยังมีสภาพคล่องสูงเมื่อเทียบกับสัญญา Forward ผู้ลงทุนที่ซื้อหรือขายดอลลาร์ฯ ล่วงหน้าไปแล้ว และไม่ต้องการถือสัญญาดังกล่าวอีกต่อไป ก็สามารถปิดสถานะของสัญญาได้ตามต้องการ เพียงแค่ทำการซื้อหรือขายตรงข้ามกับสถานะเดิมที่เคยทำไว้เท่านั้น
ทีนี้มารู้จักดอลลาร์ฯ ล่วงหน้ากันให้ชัดๆ อีกครั้ง โดยดอลลาร์ฯล่วงหน้า เป็นสัญญาที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันในวันนี้ว่าจะซื้อขายดอลลาร์ฯ กันในอนาคต โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดตั้งแต่วันที่ทำสัญญาทั้งนี้ในการทำสัญญาดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า ผู้ลงทุนจะต้องส่งคำสั่งซื้อ-ขายผ่านโบรกเกอร์ เพื่อเข้ามาจับคู่กับผู้ลงทุนอีกฝั่งหนึ่งในตลาดอนุพันธ์ โดยวิธีการส่งคำสั่งจะคล้ายกับการส่งคำสั่งเพื่อซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวคือ ผู้ซื้อจะตั้งราคาเสนอซื้อ (Bid) ในขณะที่ผู้ขายจะตั้งราคาเสนอขาย (Offer) หากราคาเสนอซื้อและเสนอขายตรงกัน หรือเป็นราคาที่ดีกว่าราคาที่ผู้ลงทุนต้องการ ระบบก็จะทำการจับคู่ซื้อ-ขายให้
อย่างไรก็ตาม ในการซื้อ-ขายดอลลาร์ฯ ล่วงหน้าจะแตกต่างจากการทำสัญญา Forward กับธนาคาร ตรงที่ในการซื้อ-ขายดอลลาร์ฯ ล่วงหน้านั้น จะไม่มีการส่งมอบเงินดอลลาร์ฯ กันจริง แต่จะใช้วิธีชำระกำไรขาดทุนตามส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไปแทน
สำหรับผู้ที่กังวลว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นหรืออัตราแลกเปลี่ยนจะปรับตัวลดลง เช่น ผู้ส่งออกอาจจะกังวลว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ง่ายๆ แค่ส่งคำสั่ง “ขาย” ดอลลาร์ฯล่วงหน้า ซึ่งจะเท่ากับเป็นการล็อกอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต ณ ราคาที่ซื้อ-ขายไว้ หากในอนาคตอัตราแลกเปลี่ยนปรับลดลง ผู้ส่งออกก็จะได้รับกำไรจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง เพื่อไปชดเชยกับรายได้ที่ได้ลดลงจากการส่งออก
ส่วนผู้ที่กังวลว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง เช่น ผู้นำเข้าอาจจะกังวลว่าหากเงินบาทอ่อนลงจะทำให้ต้นทุนจากการนำเข้าสูงขึ้น ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงง่ายๆ แค่ส่งคำสั่ง “ซื้อ” ดอลลาร์ฯล่วงหน้าโดยหากในอนาคตอัตราแลกเปลี่ยนปรับเพิ่มขึ้นจริง ผู้นำเข้าก็จะได้รับกำไรจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น เพื่อไปชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
สำหรับผู้ลงทุนที่อาจไม่มีธุรกิจนำเข้าส่งออกอยู่ แต่สนใจทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนก็สามารถซื้อหรือ ขาย ดอลลาร์ฯ ล่วงหน้าได้ โดยหากค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่คาดไว้ ก็จะได้รับกำไรตามส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไป
สุดท้ายนี้มีคำแนะนำจากเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการทีเฟ็กซ์ ว่า ดอลลาร์ฯ ล่วงหน้าเหมาะกับผู้ประกอบธุรกิจและผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีรายได้หรือรายจ่ายในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เช่น ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก ผู้ลงทุนชาวไทยที่เคยซื้อ-ขายในตลาดอนุพันธ์และผู้ลงทุนชาวไทยที่ยังไม่เคยซื้อ-ขายในตลาดอนุพันธ์ แต่มีความสนใจ และสามารถรับความเสี่ยงจากการซื้อ-ขายได้