แนะเทคนิคการลงทุน สไตล์ วิทูร เลิศพนมวรรณ

 




เรื่อง :   กองบรรณาธิการ
Photo : Otto



    คงไม่มีใครปฏิเสธความต้องการมีความมั่นคงในชีวิต มีเงินทองให้จับจ่ายใช้สอย มีเงินเหลือเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและแก่ชรา แต่ก็นั่นแหละชีวิตย่อมไม่มีอะไรแน่นอน เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ การออมเงินจึงเป็นทางเลือกแรกๆ ที่คนเรามักจะนึกถึงเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเอง แต่กระนั้นในยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำเตี้ยเรี่ยดิน โอกาสที่จะมีเงินไม่พอใช้ในอนาคตก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงยังมีทางเลือกอีกมากมายจัดการกับความไม่แน่นอนทางการเงินในอนาคตของชีวิต เพียงแต่ต้องรู้จักวางแผนทางการเงิน 


    อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีหลายคนไม่กล้าหรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรในการวางแผนทางการลงทุน ในเรื่องนี้ วิทูร เลิศพนมวรรณ ประธานบริหาร บริษัท IFCG ที่ปรึกษาทางการเงิน ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า 


    ประการแรก ควรจะต้องเคลียร์หนี้สินก่อนที่จะมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหนี้จากบัตรเครดิต บ้าน รถ หนี้นอกระบบ

    ประการถัดมา เป็นเรื่องของสภาพคล่อง กล่าวคือควรมีเงินสำรองไว้ส่วนหนึ่ง เพราะการลงทุนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่แค่วันสองวันหรือปีสองปี ฉะนั้นจึงต้องวางแผนและเตรียมสภาพคล่องให้กับตนเอง

    “ต้องเตรียมสภาพคล่องไว้ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน สมมุติมีรายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรต้องมีเงินสดทิ้งไว้ในแบงก์ หรือฝากตราสารหนี้ขั้นต่ำ 6 หมื่นบาทถึง 1.2 แสนบาท แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ด้วยว่าป็นคนโสดหรือมีครอบครัวแล้ว อย่างนักธุรกิจบางทีต้องเตรียม 12 เดือน เพราะมีค่าใช้จ่ายเยอะ และต้องเผื่อธุรกิจชะงักงันด้วย เหตุที่ต้องเตรียมสภาพคล่องเช่นนี้ ก็เหมือนกับการทำธุรกิจที่ถ้าขาดสภาพคล่องไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็จะติดขัดสะดุด บางทีอยากจะซื้อหุ้นตัวนี้ก็ต้องไปขายอีกตัว เพราะต้องการเงินสดออกมา การลงทุนก็จะไม่มีความสุข และสุดท้ายการลงทุนก็จะไม่ถึงเป้าหมาย”

    ประการที่สาม ต้องอุดรอยรั่ว เป็นการเผื่อว่าหากวันหนึ่งอาจมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นเช่นเจ็บป่วย ซึ่งแม้จะมีสภาพคล่องที่เตรียมไว้แล้วแต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ ทำให้อาจต้องไปปิดพอร์ตหุ้น ฉะนั้นแทนที่จะลงทุนทั้งหมด ควรต้องทำประกันไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อถ่ายเทความเสี่ยงไปให้บริษัทประกัน    

    ทั้งนี้ เมื่อเตรียมความพร้อมทั้ง 3 ประการแล้ว วิทูรแนะนำต่อไปว่า จากนั้นจึงค่อยมาวางแผนว่า จะลงทุนอะไรจึงจะเหมาะสม แต่ที่สำคัญที่สุดผู้ลงทุนก็จะต้องใส่ใจต้องดูแลด้วยตนเองถึงแม้ฝากผู้จัดการกองทุนดูแลแล้วก็ตาม โดยเริ่มจากการปรึกษาคนที่รู้ และรู้จักกระจายความเสี่ยงบ้าง     

    “เสื้อผ้าตัวหนึ่งไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน บางตัวสวยมาก แต่ใส่แล้วไม่สบายใจ เหมือนรองเท้าใส่แล้วกัดเท้า  นักลงทุนก็เหมือนกัน บางคนเลือกที่ผลตอบแทนดี แต่พอลงทุนไปแล้วกลับนอนไม่หลับทุกวัน อย่าลงทุนอะไรที่เราไม่สบายใจแล้วเราไม่รู้เรื่องเลย อย่างน้อยควรรู้เรื่องบ้าง หรือถ้าไม่รู้เรื่องเลยต้องมีคนเชี่ยวชาญและไว้ใจมากๆ ในการบริหารแทนเรา แต่ห้ามเด็ดขาดที่เอาเงินทั้งหมดไปลงทุนในสินค้าตัวเดียว เหมือนเอาไข่ทั้งหมดที่มีใส่ในตะกร้าเดียว 

    อย่างไรก็ตาม ด้วยวงจรของการลงทุน เงินมันต้องไหลไปสักที่ในโลก จะไปที่ไหนเท่านั้นเอง ช่วงที่ผ่านมาเอเชียดีเงินไหลเข้าเอเชีย แต่ตอนนี้ไหลออก บางที่ตลาดหุ้นดีเงินก็ไหลเข้าตลาดหุ้นเยอะหน่อย ตลาดหุ้นตกก็ไหลเข้าสู่ตราสารหนี้ ก็มีอยู่แค่นี้ แต่ถ้าเรามีเงินอยู่ทุกตลาด ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยง ถือทองส่วนหนึ่ง ทำประกันส่วนหนึ่ง ซื้อพันธบัตร กองทุน หุ้น ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ แล้วลงทั้งในและต่างประเทศ ถ้าสามารถบาลานซ์การลงทุนได้ทุกที่ความเครียดของการลงทุนจะน้อยลง เพราะหุ้นในประเทศไม่ดี หุ้นต่างประเทศดี หุ้นไม่ดี พันธบัตรดี กระจายความเสี่ยงไป นี่คือเทคนิคอันหนึ่ง”

     เช่นเดียวการดำเนินธุรกิจ หลักของการสร้างความรวยจากการลงทุนก็มี 3 ประการ โดยวิทูรแจกแจงให้เห็นว่า 1.อยากจะรวยต้องมีเงินเป็นอันดับแรก มีเงินเพื่อไปต่อเงิน 2. มีโอกาส เงินหนึ่งล้านกับเงินร้อยล้านย่อมมีโอกาสการลงทุนต่างกันมหาศาล และ 3. ต้องมีกลยุทธ์  

    “วันนี้มีเงิน มีโอกาสเปิดพอร์ตหุ้น แต่ใช้กลยุทธ์นั่งทางในเล่นหุ้น ก็มีโอกาสเจ๊งสูง เราก็ต้องมีกลยุทธ์หลายอย่าง กลยุทธ์ที่ดีที่พูดกันคือซื้อถูกขายแพง แต่ก็ยากมาก ยกตัวอย่างเราจะไปลงทุนในหุ้นก็ต้องมีกลยุทธ์ว่าเราเป็นใคร ไม่ค่อยมีเวลา แต่อ่านงบเก่ง คนบางคนชอบดูกราฟ เป็นสไตล์ไหน เป็นนักเก็งกำไร กลุ่มเทคนิค ก็ใช้สไตล์ของตัวเองในการลงทุน  แต่สำคัญที่สุดคือจะดูก่อนว่าตัวเองมีเงินเท่าไหร่ แล้วเตรียมให้พร้อมสภาพคล่อง ผมเชียร์ให้บริหารภาษีก่อนด้วยการลงทุนใน LTF RMF ประกันชีวิต 

    นี่คือเบื้องต้นที่ควรจะมี ก่อนจะไปลงทุนอย่างอื่น เพราะเป็นการบริหารการเงินที่ไม่ต้องใช้เวลา แต่เลือกกองให้ถูกเท่านั้น และไม่ได้เชียร์ซื้อกองเดียว ให้ซื้อ 2-3 กอง เหมือนฟุตบอลมีกองหน้า กองกลาง กองหลัง ต้องวางแผน ซื้อกองทุนก็เหมือนกัน ต้องดูว่าวันนี้ เกมอย่างนี้จะบุกกองหน้า กองหลัง กองกลาง เท่าไหร่ อย่างไร”

    ทั้งหมดนี้ ยังต้องมีข้อที่ควรระวังคือ อย่าลงทุนอะไรที่ไม่มีเวลาดูแลอย่างเต็มที่ และไม่มีความรู้เลย ที่สำคัญอย่าเชื่อคนๆ หนึ่งจนเกินไป ควรศึกษาและหาคนที่จะมาให้ความเห็นที่สองที่สามก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

RECCOMMEND: FINANCE

หมัดเด็ด วิธีเอาชนะเงินเฟ้อ ฉบับคุณปู่ Warren Buffett ที่ใครก็ใช้ได้

หนึ่งในปัญหาของคนทำธุีกิจวันนี้คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” เงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น แถมขายของก็ไม่ได้ดีเหมือนเก่า เลยชวนมาดูเคล็ดลับบริหารการเงินและลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ จาก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เจ้าพ่อนักลงทุนกัน

รวมสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ช่วยลดภาระหนี้ ธุรกิจไม่สะดุด

ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และวิกฤตที่รุมเร้าเข้ามา อาจทำให้ธุรกิจต้องสะดุด ขาดสภาพคล่องเลยอยากชวนมารีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ อย่างน้อยเพื่อช่วยยืดระยะเวลาการใช้หนี้ออกไป ช่วยลดดอกเบี้ย ไปจนถึงอาจได้เงินอีกสักก้อนมาช่วยหมุนเวียนในธุรกิจ

ขายดีอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยง 5 เคล็ดลับบริหารสภาพคล่องจาก บสย.

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีต้องสะดุดหยุดชะงักหรือไปต่อได้ไม่สุด คือ เงินทุนที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ต่อให้ขายดีเพียงใด ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็กู้เงินจากธนาคารไม่ได้