เรื่อง : กรุงศรี SME
www.krungsri.com/sme
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายคนอาจไม่มีความมั่นใจว่า หากเดินไปขอสินเชื่อธุรกิจกับธนาคารแล้วจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ แท้จริงแล้วการขอสินเชื่อไม่ใช่เรื่อง “ยาก” เพียงแต่ต้องหมั่นสร้าง “วินัยทางการเงิน” อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับธนาคาร
ทั้งนี้ เจ้าของกิจการบางส่วนขาดความรู้ในเรื่องของผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น นำสินเชื่อบุคคลซึ่งมีดอกเบี้ยสูงมาใช้ในธุรกิจ เพราะไม่รู้ว่าจะขอสินเชื่อธุรกิจอย่างวงเงินเบิกเกินบัญชีหรือ O/D สินเชื่อระยะยาวหรือ Term Loan อย่างไร ทั้งนี้ ถ้าต้องการสินเชื่อระยะสั้นก็ต้องขอวงเงิน O/D เพื่อหมุนเวียนระยะสั้น แต่หากต้องการเงินลงทุนระยะยาวเพื่อลงทุนก้อนใหญ่ต้องใช้สินเชื่อ Term Loan
ขั้นตอนแรกของการเตรียมพร้อมที่จะกู้เงิน คือ หนึ่ง...ต้องมีเอกสารราชการ เช่น ใบจดทะเบียนนิติบุคคล ทะเบียนพาณิชย์ ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีบางส่วนไม่ยอมจดทะเบียนการค้า เพราะกลัวว่าจะต้องเสียภาษี ธนาคารจะปฏิเสธลูกค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ดำเนินธุรกิจจริง หรือทำมาแล้วกี่ปี โดยมากธนาคารมักพิจารณา Statement หรือรายการเดินบัญชีประกอบเพราะสามารถแสดงถึงรายได้รายจ่ายที่เข้าออกของกิจการ นอกจากนี้ ธนาคารยังจะขอดูเอกสารคู่ค้าด้วยว่าทำธุรกิจกับใคร เพื่อประกอบการพิจารณา เจ้าของกิจการจึงควรจดทะเบียนธุรกิจอย่างถูกต้องตั้งแต่วันแรก
ต่อไปคือ ถ้ามีรายได้จากธุรกิจควรจะนำเงินนั้นเข้าบัญชีธนาคาร เพื่อให้มีตัวเลขหมุนเวียนยืนยันกับสถาบันการเงินได้ว่ามีกระแสเงินสดไหลเข้าออกจริง ธุรกิจบางกลุ่มที่ซื้อ-ขายด้วยเงินสด ธนาคารจะไม่รู้ประวัติ นอกจากนี้ ถ้าลูกค้ามีวงเงินหมุนเวียน O/D ควรนำเงินเข้าบัญชีเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพว่านอกจากมีเงินออกก็ยังมีรายได้หรือเงินขาเข้าหมุนเวียนอยู่ในธุรกิจ
นอกจากนี้ ต้องมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ที่ชื่อผู้ใช้เป็นชื่อเดียวกับผู้ขอสินเชื่อ อย่างเช่น บางรายจ่ายหนี้ล่าช้า ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม จะมีผลต่อการให้สินเชื่อในอนาคตด้วย ถ้าหากเป็นหนี้ก็ควรจะชำระให้ตรงเวลา
ปัจจุบันนี้สถาบันการเงินได้หันมาให้ความสนใจกับประวัติการเป็นหนี้ผ่านเครดิตบูโรเพื่อเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่จะปล่อยสินเชื่อ โดยถ้าหากลูกหนี้มีประวัติการผิดนัดชำระตั้งแต่หนึ่งเดือนจนถึงสามเดือนขึ้นไป เครดิตบูโรจะบันทึกไว้ สถาบันการเงินจะนำประวัติการชำระหนี้มาพิจารณาวินัยทางการเงิน ถ้าหากผิดนัดชำระบ่อยๆ จะมีผลต่อการขอสินเชื่อได้ โดยเครดิตบูโรจะเก็บประวัติดังกล่าวไว้สามปี
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการควรจะเริ่มต้นเก็บบันทึกการเป็นหนี้ผ่านเครดิตบูโร เช่นบัตรเครดิต เนื่องจากสถาบันการเงินจะพิจารณาสินเชื่อจากประวัติการเป็นหนี้ ถ้าสามารถรักษาวินัยทางการเงินก็จะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อในวงเงินที่ใหญ่ขึ้นต่อไป
ที่สำคัญคือภาระหนี้ต่อเดือนกับผลกำไรที่ทำได้ต่อเดือนต้องไม่สูงจนเกินไป ตัวเลขที่เหมาะสมคือหนี้ต่อกำไรจะต้องไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ เช่น มีกำไร 1 ล้านบาท ควรมีหนี้ไม่เกิน 600,000 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงเกินไป
คุณสมบัติอื่นๆ เช่น เจ้าของธุรกิจต้องมีประสบการณ์ 2 ปี มีอายุตั้งแต่ 20-65 ปี และต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น เงินฝาก พันธบัตร สิ่งปลูกสร้าง โรงงาน โกดัง ออฟฟิศ ส่วนมากแล้วธนาคารจะไม่อนุมัติสินเชื่อให้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของหลักทรัพย์ค้ำประกัน สิ่งอื่นๆ ที่จะสามารถยืนยันประสบการณ์การทำธุรกิจกับธนาคารได้ เช่น เอกสารการซื้อ-ขายกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Invoice เจ้าของกิจการควรจะเก็บไว้
เรื่องง่ายๆ ที่เจ้าของกิจการอาจละเลย คือ จัดทำระบบบัญชีอย่างเป็นระบบทำให้ไม่รู้ว่ากิจการขาดทุนหรือกำไรเท่าไร ไม่รู้ระดับการคืนทุนว่าลงเงินไปเท่าไรถึงได้กำไร เป็นเพราะเคยชินกับธุรกิจเงินสดที่เงินในธุรกิจกับเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นก้อนเดียวกัน หากมีพฤติกรรมแบบนี้ สถาบันการเงินจะไม่รู้ว่าธุรกิจของเรามีกระแสเงินสดเข้ามาต่อวันต่อเดือนเท่าไร นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทำบัญชีสองเล่มซึ่งสถาบันการเงินจะให้ความสำคัญอย่างมาก หากมีพฤติกรรมดังกล่าวแสดงว่าผู้ประกอบการไม่มีวินัยทางการเงินและความน่าเชื่อถือ
คำแนะนำอีกข้อคือ เงินเริ่มต้นในธุรกิจควรจะใช้เงินตัวเองให้น้อยและฉลาดที่สุด เช่น ยังไม่ต้องซื้อเป็นเจ้าของ ให้เช่าไปก่อน ส่วนของทุนอาจจะเริ่มจากคนในครอบครัวเช่นเพื่อนมาร่วมหุ้นกัน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่แนะนำให้ใช้สินเชื่อบุคคลหรือหนี้นอกระบบเนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ทางที่ดีควรจะค่อยๆ ทำธุรกิจไปให้กิจการเริ่มอยู่ตัวแล้วจึงค่อยขอสินเชื่อกับธนาคารหากมีความต้องการ สิ่งสำคัญคือจะต้องมีวินัยทางการเงิน เช่นนำรายได้จากธุรกิจเข้ามาในระบบทั้งหมดและจัดการชำระหนี้ต่างๆ ให้ตรงเวลา เนื่องจากปัจจุบันเครดิตบูโรได้เชื่อมข้อมูลถึงกันหมดแล้ว
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีบุคคลค้ำประกันก็จะได้รับการพิจารณาด้วย โดยธนาคารจะพิจารณาประสบการณ์ในธุรกิจของผู้ค้ำประกันซึ่งจะต้องอยู่ในธุรกิจเดียวกันหรือผู้เป็นพ่ออาจจะค้ำประกันให้ลูกก็ได้ ตามหลักการแล้วธนาคารจะพิจารณาคนกู้เป็นหลักอยู่ดีโดยจะพิจารณาผู้ค้ำประกันเป็นปัจจัยรองลงมาเท่านี้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีหลักประกัน ผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลเพราะมีหลายสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อโดยไม่มีหลักประกันได้ แต่ต้องรับภาระดอกเบี้ยที่สูงกว่า หรือหากขาดหลักประกันเพียงบางส่วน ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งก็เข้าร่วมโครงการช่วยสนับสนุนค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกันในส่วนที่ขาดหลักประกันได้โดยได้อัตราดอกเบี้ยปกติ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงแหล่งการเงินง่ายขึ้นในหลายรูปแบบทั้งจากภาครัฐและเอกชน
วินัยทางการเงินเหล่านี้ เป็นเคล็ด "ไม่" ลับง่ายๆ เพียงใส่ใจการขอสินเชื่อเอสเอ็มอีก็จะไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อมอีกต่อไป