Text : ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง เมื่อประเทศไทยอาจกลายเป็นทางผ่านให้ผู้ผลิตจากจีนและประเทศอื่นใช้เป็นช่องทางหลบเลี่ยงกำแพงภาษีผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและซัพพลายเชน
SME ไทยจำนวนมากยังทำธุรกิจด้วยรูปแบบดั้งเดิม ขาดระบบบริหารจัดการที่ทันสมัย บุคลากรมีทักษะจำกัด ไม่มีทีมดิจิทัล ไม่มีเงินจ้างที่ปรึกษา ไม่มีงบโฆษณา และไม่สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้แนวทางเช่น "ยกระดับแบรนด์" หรือ "เข้าสู่ตลาดเฉพาะ" จะเป็นคำแนะนำที่ดีในเชิงทฤษฎี แต่สำหรับ SME ส่วนใหญ่แล้ว กลับยังไม่มีต้นทุน ทักษะ เครือข่าย และทรัพยากรที่จำเป็นเพียงพอที่จะเดินไปในเส้นทางนั้นได้ทันเวลา
การจะช่วยให้ SME อยู่รอดและตั้งหลักได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้จริง เห็นผลได้เร็ว และเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบร่วมกัน แบ่งปันเครื่องจักร หรือใช้ทีมการตลาดร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสเข้าถึงช่องทางตลาด เป็นต้น
การจัดตั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้การดูแลของรัฐหรือความร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศ ที่ให้ SME ไทยสามารถจำหน่ายสินค้าออนไลน์โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มสูงเกินควร พร้อมมีระบบช่วยเรื่องโลจิสติกส์และการชำระเงิน จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสนับสนุน SME ในยุคดิจิทัล
สนับสนุนงบประมาณสำหรับการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบ การตลาด หรือดิจิทัล โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องนำไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้เกิดผลลัพธ์ที่วัดได้ เป็นอีกมาตรการที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของ SME ให้แข่งขันได้ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือรายพื้นที่ โดยมี "โค้ชธุรกิจ" หรือ "พี่เลี้ยง" จากมหาวิทยาลัย หน่วยงานพัฒนาธุรกิจ หรือภาคเอกชนจิตอาสา คอยให้คำปรึกษาแบบใกล้ชิดและต่อเนื่อง จะช่วยให้ SMEs มีที่ปรึกษาที่เข้าใจบริบทของธุรกิจและสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานการณ์
นโยบายที่มุ่งเน้นให้ SME แข่งขันในตลาดโลกอาจไม่ตอบโจทย์หากปราศจากรากฐานที่แข็งแรง รัฐจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการสร้าง "ความสามารถพื้นฐาน" ของ SME อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบบัญชีและการจัดการภายในที่โปร่งใส ส่งเสริมให้ SME มีระบบบัญชีมาตรฐาน พร้อมจัดทำต้นทุนและกำไรที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถวางแผนธุรกิจและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
การสนับสนุนการจัดการสต๊อกและซัพพลายเชนเบื้องต้น ผ่านการใช้เครื่องมือหรือแอปพลิเคชันจัดการสินค้า จะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถบริหารสต๊อกได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย ซึ่งเป็นต้นทุนที่หลาย SME มองข้าม
การจัดอบรมทักษะดิจิทัลระดับพื้นฐานที่เข้าถึงได้ ทั้งแบบออนไลน์หรือการอบรมแบบพบตัวให้กับเจ้าของกิจการและลูกจ้างในระดับที่เหมาะสม โดยไม่ใช้ศัพท์เทคนิคมากเกินไป พร้อมแบบฝึกหัดที่นำไปใช้ได้จริง จะช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัลที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขันยุคปัจจุบัน
การส่งเสริมให้ SME มี "ความรู้เรื่องสิทธิของตนเอง" เช่น การป้องกันตนเองจากคู่ค้าต่างชาติที่ไม่เป็นธรรม หรือการร้องเรียนสินค้าเลียนแบบในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นอีกมิติสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปกป้องธุรกิจของตนจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดโลก
ในบริบทของสงครามการค้า การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง SME กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในประเทศจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ ช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า และสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม
การทำข้อตกลงกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำในการให้พื้นที่พิเศษหรือเงื่อนไขพิเศษสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย อาจเป็นอีกแนวทางที่ช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดออนไลน์ที่มีการแข่งขันสูง ภาครัฐอาจพิจารณาการสนับสนุนค่าธรรมเนียมหรือการลดหย่อนภาษีให้กับแพลตฟอร์มที่ให้ความร่วมมือในการสนับสนุน SMEs ไทย
SME ที่มีอยู่กว่า 3 ล้านรายในประเทศไทย หรือคิดเป็นกว่า 99% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในประเทศ คงไม่สามารถรอดพ้นจากคลื่นเศรษฐกิจโลกได้ด้วยตัวเอง หากปราศจากเครื่องมือสนับสนุนจากรัฐและสังคมโดยรวม หากประเทศไทยต้องการให้ SMEs เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว ก็จำเป็นต้องลงทุนในสิ่งที่มองไม่เห็นทันที เช่น ความรู้พื้นฐาน ความมั่นคงของระบบธุรกิจ และเครือข่ายความร่วมมือ
ด้วยเหตุนี้ ในโลกที่สงครามการค้ากลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและเศรษฐกิจ ความอยู่รอดของ SMEไทย จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ประเทศไทยสามารถ "ปกป้องเศรษฐกิจฐานราก" ได้จริงเพียงใด ท่ามกลางกระแสสินค้าราคาถูกที่ไหลทะลักจากประเทศต่าง ๆ ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและการค้าข้ามพรมแดน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี