มิติใหม่ร้านอาหารไทย! Mr.Kanso ธุรกิจบาร์อาหารกระป๋อง จากญี่ปุ่นสู่สาขาแรกในไทยที่สงขลา

Text: Neung Cch.

Photo: Mr.Kanso


     สงขลาไม่ได้มีแค่ทะเลหาดสะมิหลา หรือตลาดกิมหยง แต่ยังมีบาร์อาหารกระป๋องสุดเก๋ที่แรกในไทยและยังเป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

     นี่คือเรื่องราวของ Mr.Kanso บาร์อาหารกระป๋องจากญี่ปุ่นที่ เอก-เศรษฐกรณ์ รัตนาชัยโรจน์ หนุ่มสงขลาได้ลิ้มชิมรสแล้วรู้สึกถูกปากถึงขั้นตัดสินใจขอซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่นที่ใช่จะได้มาง่ายๆ เพราะต้องใช้ลูกตื้อเป็นเวลา 3 ปี กว่าจะทำให้เจ้าของใจอ่อนยอมเปิดใจให้นำเข้ามาเปิดที่สงขลาบ้านเกิด

     หนุ่มใต้คนนี้มองเห็นโอกาสอะไรจากร้านอาหารบาร์กระป๋องทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่ได้ถูกไปกว่าอาหารทั่วไป แถมคนไทยส่วนใหญ่ยังชอบทานอาหารสดปรุงใหม่มากกว่า ที่สำคัญไม่มีธุรกิจต้นแบบ ไม่มีตำรา ไม่มีการการันตีความสำเร็จใดๆ มีแต่ความมั่นใจในตัวสินค้ากับความมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค

     ผ่านไปราวสองปี ร้านแห่งนี้ไม่เพียงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั้งไทยและเทศ ยังได้รับการตอบรับจากร้านอาหาร ภัตตาคารต่างๆ ที่สำคัญยังได้รับการทาบทามให้ไปเปิดร้านในกรุงเทพฯ ซึ่งเอกได้แต่ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลคือ เพื่อรอเวลาที่พร้อมกว่านี้และที่สำคัญ เขาอยากทำบางสิ่งบางอย่างให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับจังหวัดบ้านเกิดตัวเองบ้าง..ก็แค่นั้น

รสชาติที่ชอบกับคอนเซปต์ที่ใช่

     ไม่ใช่แค่ความประทับใจในรสชาติอาหารกระป๋องของ Mr. kanso ที่เอกบอกว่ารสชาติไม่เหมือนกับการทานอาหารกระป๋องแต่เหมือนได้ทานของสด มิหนำซ้ำยังมีให้เลือกมากกว่า 300 SKU มีทั้งของหวาน ขนมเค้ก ผัก ผลไม้ ปลาทะเลน้ำลึกที่หาทานได้ยาก หรือ แม้แต่เนื้อม้า สิงโตทะเล แมวน้ำ

     นอกจากจะเป็นเมนูอาหารที่ว้าวหาทานยากและไม่ผิดกฎหมายในญี่ปุ่นแล้ว ตัวคอนเซปต์ของร้านก็ทำให้เอกรู้สึกว้าวไม่แพ้กันคือ เป็นบาร์อาหารกระป๋องให้คนมานั่งทานกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นการรีแลกซ์หลังเวลาเลิกงาน

     เอก บอกว่าเขารู้จักร้านนี้ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งจุดกำเนิดของกานผลิตอาหารกระป๋องร้านนี้ มาจากประเทศญี่ปุ่นนั้นมีภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติบ่อยมาก ทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว เมื่อเกิดภัยเหล่านี้ประชากรของเขาออกไปไหนลำบาก Mr. Kanso จึงเกิดไอเดียนำวัตถุดิบที่เก็บไว้ได้นานปรุงเป็นอาหารบรรจุกระป๋องเพื่อเก็บไว้กินยามฉุกเฉิน เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ปี 2002 ทำแกงกระหรี่และไข่ม้วน

     "ถ้าให้เปรียบ Mr. Kanso ก็เหมือนแหล่งรวมโอท็อปของดี OTOP ที่ญี่ปุ่นมาจำหน่ายในร้าน และปัจจุบันก็มีกว่า 30 สาขาทั่วประเทศ”

ของดีไม่ต้องตะโกนมาก

     นับจากวันที่เขาไปชิมต้นตำรับอาหารกระป๋องที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2017 และรู้สึกว่าน่าจะมาทำเป็นธุรกิจในไทยได้ และรู้สึกว่าน่าจะมาทำเป็นธุรกิจได้จึงได้พยายามติดต่อที่จะซื้อลิขสิทธิ์ Mr. Kanso เพื่อมาเปิดสาขาในไทย ซึ่งต้องใช้เวลาเจรจากว่า 3 ปี กว่าจะได้มาเปิดที่สงขลาเมื่อปี 2022

     “เนื่องจาก Mr. Kanso จริงๆ เขาไม่อยากส่งออกนอกประเทศ เพราะเขาอยากให้คนในประเทศได้ทานของดีๆ ด้วยความที่ผมเคยทำงานกับคนญี่ปุ่นทำให้พอรู้จักนิสัยใจคอ จึงใช้ลูกตื้อแต่ต้องไม่ใช่การตื้อน่าเกลียดเกินไป เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจจริง กระทั่งเขาใจอ่อนได้เปิดที่ไทยเป็นสาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เอกเล่าถึงสาเหตุที่ต้องใช้เวลาในการเจรจาหลายปี

     การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ว่ายากแล้ว อุปสรรคในการทำตลาดเอกบอกว่าก็ยากไม่แพ้กัน เนื่องจากคนไทยนั้นชอบทานของปรุงสดมากกว่าอาหารกระป๋อง รวมทั้งราคาอาหารกระป๋องที่ค่อนข้างสูง อย่างปูอลาสก้าที่ราคาประมาณ 4,000 แต่ด้วยความเชื่อมั่นใจตัวสินค้า และด้วยความชอบส่วนตัวที่อยากหาทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค เขาจึงตัดสินใจที่จะนำอาหารกระป๋องประมาณ 100 รายการ ที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 95 บาท คือ ไข่นกกระทาต้มเกลือออร์แกนิก ไปจนถึงที่มีราคา 900 กว่าบาท อย่างพีชขาวชิมิสึ ราชินีแห่งพีชจากจังหวัดโอคายาม่า

     “ของบางอย่างไม่ต้องตะโกน มันก็มีคุณค่าของมัน โดยเฉพาะสินค้าญี่ปุ่นทุกกระป๋องจะมีเรื่องเล่า เช่น ปลาไหล ทำจากร้านเปิดมาร้อยกว่าปี ใช้ปลาในทะเลสาบฮามานะมีชื่อเสียงของญี่ปุ่น รสชาติอร่อยไม่คาว ราดด้วยซอสของญี่ปุ่น ดังนั้นเราแค่พยายามที่จะสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ เพื่อทะลายกำแพงเหล่านี้ให้หมดไป”

เล่าเรื่องดีมีผล

     ปัจจุบันเอกเปิดร้าน Mr. Kanso สองสาขาคือ ที่มาเลเซีย กับสงขลา สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักๆ ในจังหวัดสงขลาคือนักท่องเที่ยวทั้งที่มาจากกรุงเทพ ชาวต่างชาติ แล้วก็มีกลุ่ม back pack กลุ่มที่ซื้อของจำนวนมาก ซื้อติดไปแค้มปิ้ง เพราะสะดวก กินง่าย ซึ่งบางอย่างไม่ต้องใช้ไมโครเวฟอุ่นแค่ต้มน้ำให้ร้อนแล้วเอากระป๋องแช่ก็ทานได้

     “การมีเรื่องเล่า ประสบการณ์เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะทำให้ผู้บริโภคสนใจ ถ้าโชคดีเขาเข้าใจและอินกับเรื่องราวเราก็ได้ลูกค้า แต่ถ้าเขายังไม่ซื้อเขาก็อาจไปเล่าให้คนอื่นฟังต่อคนอื่นอาจจะมาเป็นลูกค้าแทนก็ได้ อย่างน้อยก็มีเรื่องคุยสื่อสารระหว่างเรากับลูกค้า” เอกกล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับย้ำว่า ถ้าอยากทำธุรกิจแบบยั่งยืน ไม่ควรธุรกิจตามกระแสแม้จะทำให้คืนทุนได้เร็วแต่ไม่ยั่งยืน อยากให้ผู้ประกอบการมองหาความแตกต่างและศึกษาข้อมูลให้ดีจะทำให้ธุรกิจยั่งยืนมากกว่า

ข้อมูลติดต่อ

Facebook. https://www.facebook.com/mrkansoth/

Tel. 065 232 4685

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เจนลูกสาวป้าดำ คาเฟ่ที่จัดจ้านที่สุดในย่านแบริ่ง กาแฟ เบเกอรี และเล่าเรื่องแบรนด์

ถ้าพูดถึงคาเฟ่ชื่อดังย่านแบริ่ง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “เจนลูกสาวป้าดำ” คาเฟ่ชื่อแปลก แต่กลับสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้าที่มาเยือนรวมอยู่ด้วยแน่นอน

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ