เจนลูกสาวป้าดำ คาเฟ่ที่จัดจ้านที่สุดในย่านแบริ่ง กาแฟ เบเกอรี และเล่าเรื่องแบรนด์

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Sunun Lorsomsab

     ถ้าพูดถึงคาเฟ่ชื่อดังย่านแบริ่ง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “เจนลูกสาวป้าดำ” คาเฟ่ชื่อแปลก แต่กลับสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้าที่มาเยือนรวมอยู่ด้วยแน่นอน เพราะไม่เพียงแค่ชื่อเท่านั้นที่โดดเด่น หากแต่ที่นี่ยังถูกพูดถึงในเรื่องกาแฟดี เบเกอรีอร่อย ที่สำคัญ คือ การเล่าเรื่องแบรนด์แบบสนุกๆ ตามกลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า Storytelling Brand จนทำให้ธุรกิจแตกต่างขึ้นมาได้

     โดยวันนี้เราได้มีโอกาสพบกับ ณภัสนันท์ ขุนบรรเทา (อีฟ), ณัฐพร อาจกูล (ปาล์ม) และปัญญวัฒน์ ฐิติรัฐพงศ์ (ต้น) เหล่าสมาชิกผู้ร่วมหุ้นที่ช่วยกันปลุกปั้นร้านขึ้นมา มานั่งร่วมล้อมวงเมาท์มอยเรื่องราวของร้านและพวกเขาให้ฟังกัน

(จากซ้าย) ณัฐพร อาจกูล (ปาล์ม), ณภัสนันท์ ขุนบรรเทา (อีฟ) และ ปัญญวัฒน์ ฐิติรัฐพงศ์ (ต้น)

ทำไมต้องเป็น ‘เจนลูกสาวป้าดำ’ ?

     อีฟ ปาล์ม และต้น เล่าที่มาของร้านให้ฟังว่า เดิมทีนั้น ตั้ม-ธเนศ อาจจินดา ผู้ก่อตั้งร้านได้เปิดโรงคั่วและร้านกาแฟเล็กๆ ขึ้นมาก่อนในพื้นที่บ้านของพ่อชื่อว่า Roastery at Home ตั้งใจอยากให้เป็นร้านลับในซอยลึก แต่บังเอิญคนรู้จักเยอะไปหน่อย จึงทำให้ร้านเริ่มคับแคบขึ้น ในระหว่างนั้น เจน แฟนสาวของเขาก็ได้เริ่มฝึกปรือฝีมือทดลองทำเบเกอรีมาขายเพิ่มเติมไปด้วย จนฝีมือเริ่มเข้าขั้น จึงมีความคิดอยากขยับขยายธุรกิจในรูปแบบร้านกาแฟและเบเกอรีแบบเต็มตัวมากขึ้น เลยได้ชักชวนเหล่าเพื่อนฝูง ที่บางคนก็เป็นลูกค้าขาประจำ มาร่วมหุ้นทำโปรเจกต์ร้านใหม่ในชื่อ “เจนลูกสาวป้าดำ” บนทำเลที่ตั้งใหม่  ขนาดใหญ่ขึ้น รองรับลูกค้าได้มากขึ้น ไม่ไกลจากถนนใหญ่ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยขยับจากกลางซอยวัดด่านสำโรง ขยายมาที่แบริ่ง ซอย 9

     “จริงๆ พวกเรา ก็เป็นลูกค้าของเจนกับตั้มมาก่อน มาบ่อยจนสนิท จนกลายเป็นเพื่อนกัน อยู่มาวันหนึ่ง ลูกค้าเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ มากันจนล้น บางทีเก้าอี้ไม่พอนั่ง ต้องยืนดื่มกาแฟกันเลย ตั้มกับเจนเลยคุยว่า อยากเปิดร้านใหม่ เพราะธุรกิจเดิมเน้นโรงคั่ว เลยอยากได้พาร์ทเนอร์มาร่วมทำงานด้วยกัน เพราะคิดคนเดียวอาจจะยากเกินไปสำหรับธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น ก็เลยชวนเพื่อนๆ ที่มีความถนัดแต่ละด้าน เช่น สถาปนิก, นักบัญชี, การตลาด ฯลฯ มาเป็นหุ้นส่วน เพราะทั้งตั้มและเจนมีความถนัดด้านกาแฟและเบเกอรีอยู่แล้ว พวกเราก็เลยได้มาร่วมงานกัน โดยร้านใหม่ก็ใช้เป็นชื่อเจนเลย ซึ่งมีแม่ชื่อป้าดำจริงๆ” เหล่าสมาชิกร้านเจนลูกสาวป้าดำเล่าที่มาให้ฟัง

Mass ได้ ด้วยกลยุทธ์ Storytelling Brand

     และจากจุดนี้เองที่ทำให้ เจนลูกสาวป้าดำ ถูกพูดถึงมากขึ้น จากการคิดทำโปรเจกต์สนุกๆ เพื่อทำการสื่อสารกับลูกค้า ก็กลายเป็นร้านที่โดดเด่นในการใช้กลยุทธ์ Storytelling Brand

     “จริงๆ มันเป็นการเชื่อมต่อกัน เราต้องการสื่อให้ลูกค้ารู้ว่า เจนลูกสาวป้าดำ คือ ใคร มาจากไหน โดยเรามีดีเป็นโรงคั่วกาแฟที่ได้รับการพูดถึงมากอยู่แล้ว เลยพยายามออกแบบวิธีการสื่อสารเพื่อหาจุดเชื่อมโยงให้คนรู้ว่า เรา คือ ธุรกิจเดียวกันที่ต่อยอดมาจาก Roastery at Home นะ แค่ขยับออกมาให้เดินทางได้สะดวกขึ้น ร้านกว้างขวางมากขึ้น และเรามีอะไรน่าสนใจบ้าง จาก Roastery at Home คั่วกาแฟที่บ้านพ่อ ก็เลยเดินทางมาสู่ เจนลูกสาวป้าดำ Run Away From Home ภารกิจหนีออกจากบ้านขึ้นมา โดยทำขึ้นมาเป็นตอนๆ ออกมาให้ติดตาม ส่วนตัวมองว่าเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เราได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าไปในตัวด้วย เหมือนเราเขียนเรื่องขึ้นมา เขาได้อ่าน ก็จะได้รู้สึกอินไปกับเราด้วย” อีฟเล่าให้ฟัง

     เพื่อทำความรู้จักกับเจนลูกสาวป้าดำให้มากขึ้น ปาล์มและต้นเสริมขึ้นมาว่า นอกจาก เจน จะหมายถึงหญิงสาวที่ทำเบเกอรีอร่อย มีตัวตนอยู่จริง (และยังมีคุณแม่ชื่อป้าดำจริงๆ) พวกเขายังอยากให้ เจน เป็นตัวแทนของความ Friendly เข้าถึงได้ง่าย เป็นคาเฟ่ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาได้ ไม่ว่าจะสวมชุดอยูบ้าน, เสื้อบอล, รองเท้าแตะ ก็มาได้ เหมือนกับรูปวาดการ์ตูนผู้หญิงที่นำมาใช้เป็นโลโก้ร้าน

     “เราอยากทำให้เป็นคอมมูนิตี้ มีความอบอุ่นเป็นกันเอง เพื่อนนัดกันมากินข้าว กินขนม มานั่งเมาท์มอยกัน มีเกมให้เล่น หรือเอางานมานั่งทำก็ได้ มาแล้วสบายใจ ไม่ต้องเกร็ง มาได้ทุกวัน ไม่ต้องพิธีรีตองอะไรให้มากมาย”

     ปาล์มให้แนวคิดว่าถึงเจนจะโด่งดัง เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวันนี้ แต่พวกเขาไม่เคยลืมหัวใจสำคัญของธุรกิจที่แท้จริงด้วย

     “ถึงเราจะทำการตลาดออกไปดีแค่ไหน แต่ก็ต้องไม่ลืม Core Value จริงๆ ของธุรกิจ เช่น เราอยากขายสิ่งไหน สิ่งนั้นต้องทำให้ดี อย่างขายก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวก็ต้องอร่อยจริง ถึงจะไปได้ดี อย่างเจนลูกสาวป้าดำ ผมมองว่าที่ลูกค้ามาทุกวัน เป็นเรื่องของ 1.กาแฟที่เราต้องเก่งจริง 2.เบเกอรรีโฮมเมดที่อร่อย ราคาดี กินได้ทุกวัน และอาหาร อาจมีเมนูไม่เยอะมาก แต่เราเลือกเมนูที่เราคิดว่าเราทำแล้วอร่อย ต้องดีไปด้วยกันทุกส่วน แค่นี้เลย”

รวมพลังเพื่อนเจน

     อย่างที่ทั้งสามคนเล่าให้ฟังว่า เจนลูกสาวป้าดำ คือ โปรเจกต์ที่ตั้มและเจน จับมือทำร่วมกับเพื่อนๆ ดังนั้น แต่ละคนจึงมีหน้าที่แตกต่างกันไป เพื่อเข้ามาช่วยเติมเต็มคอมมูนิตี้นี้ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดย ต้น น้องเล็ก บาริสต้ามือต้นๆ ของร้านรับหน้าที่การเฟ้นหาเมล็ดกาแฟในแบบฉบับของเจนมานำเสนอตามโจทย์ที่ตั้มให้มา โดยอยากได้กาแฟที่สามารถดื่มได้ทุกวัน ไม่ต้องพิเศษ หรือหรูหรามาก แต่มีคุณภาพ เมล็ดกาแฟส่วนใหญ่ที่ใช้ในร้าน เป็นกาแฟนำเข้าจากหลายพื้นที่ต่างๆ อาทิ ลาว, บราซิล, กัวเตมาลา, เอธิโอเปีย, แอฟริกาใต้

     ส่วน อีฟ ทำหน้าที่สถาปนิกสาวผู้คุมการออกแบบและก่อสร้างให้ตรงกับความเป็นเจนที่เน้นความเรียบง่าย เป็นกันเอง มองดูคล้ายกับบ้านการ์ตูนที่วาดขึ้นมาอย่างง่ายๆ ส่วน ปาล์ม ช่วยเป็นที่ปรึกษาการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ การเข้าถึงลูกค้า นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ จากหุ้นส่วนที่ร่วมทำมาด้วยกัน ส่วนหน้าที่การสื่อสารจะมีตั้มเป็นผู้คอยให้คอนเซปต์หลักและน้องๆ ในทีมอีกที

     ปัจจุบันเจนลูกสาวป้าดำ กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 อีฟ ปาล์ม ต้น เล่าว่าถึงเวลาที่ต้องสร้างคอนเซปต์ใหม่ๆ กันอีกสักรอบหนึ่ง

     “ตอนนี้เรากำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 3 เพื่อตอกย้ำให้ทุกคนรู้ว่า เจนลูกสาวป้าดำ คือ ใคร มีอุปนิสัย ลักษณะโดดเด่นอะไร เราเลยสร้างคอนเซปต์ขึ้นมาใหม่ จาก เจนลูกสาวป้าดำ Run Away From Home ในตอนแรกที่เริ่มต้นทำร้าน มาเป็น เจนลูกสาวป้าดำ ที่บ้านขายของชำอยู่กลางซอย เพื่อต้องการย้ำให้เห็นว่า เราเป็นร้านกาแฟที่เข้าถึงได้ง่าย สบายๆ มาได้ทุกวันเหมือนร้านขายของชำ เพราะมีครบกาแฟ เบเกอรี อาหาร อยากให้ทุกคนได้ลองมาเป็นเพื่อนกับเจนดู คุณอาจจะได้เจอความสุขอีกแบบหนึ่ง”

     จากที่ได้พูดคุยกันในวันนี้ ทำให้เรารู้จักความเป็นเจนลูกสาวป้าดำมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยความอยากรู้ ก็อดถามไม่ได้ว่า จริงๆ แล้ว เจนลูกสาวป้าดำ ดังมากแค่ไหนกัน เพราะใครๆ ต่างก็พูดถึง

     ต้น : “ถามว่าดังแค่ไหน เวลาเจอเพื่อนๆ บาริสต้าด้วยกัน เขาถามว่า ทำงานอยู่ร้านไหน พอบอกว่า เจนลูกสาวป้าดำ เขาก็บอกว่า ทำอยู่ร้านนั้นเลยเหรอ ร้านดังนะ คือ รู้จักได้โดยไม่ต้องบอกอะไร”

     อีฟ : เวลาไปออกแบบบ้านให้ลูกค้า พอเขารู้ว่าเป็นร้านของเราด้วย เขาก็ตื่นเต้น บอกว่า ร้านนี้ดังนะ หรือคุยกันกับเพื่อนๆ ว่าชวนไปกินกาแฟ พอแนะนำว่ามาร้านนี้ไหม เราทำอยู่ เขาก็บอกว่า เป็นร้านที่ปักหมุดเอาไว้เลยว่าอยากจะมา”

     ปาล์ม : “ถามว่าดังแค่ไหน คิดว่าก็จัดจ้านที่สุดในย่านนี้ละกัน ทั้งกาแฟ เบเกอรี ความเป็นกันเองง่ายๆ สบายๆ ใครก็มาได้”

     ก่อนจากกันวันนั้น เรายังแอบได้ยินว่า เจนลูกสาวป้าดำ เคยได้รับการติดต่อให้มาร่วมงานด้วยจากแก้วแบรนด์ดัง Stanley มาแล้ว เช่นเดียวกับในปีนี้ที่ได้รับการติดต่อจากแก้ว YETI ให้ร่วมแจมออกบูธ โดยนำอุปกรณ์จากทางแบรนด์มาใช้ และคิดสูตรเครื่องดื่มสุดพิเศษให้เช่นกัน…ดังไม่ดัง ก็ลองคิดกันเอาเอง

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/JaneLuksawPaDam

โทร. 092 299 1591

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

มิติใหม่ร้านอาหารไทย! Mr.Kanso ธุรกิจบาร์อาหารกระป๋อง จากญี่ปุ่นสู่สาขาแรกในไทยที่สงขลา

เรื่องราวของ Mr.Kanso บาร์อาหารกระป๋องจากญี่ปุ่นที่ เอก-เศรษฐกรณ์ รัตนาชัยโรจน์ หนุ่มสงขลาได้ชิมแล้วถูกปากถึงขั้นขอซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้ลูกตื้อเป็นเวลา 3 ปี กว่าเจ้าของจะใจอ่อนยอมให้นำเข้ามาเปิดที่สงขลาบ้านเกิด

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ