D'Art Cafe & Coffee Lab คาเฟ่ในหอศิลป์ จ.นราธิวาส จุดเชื่อมโยงที่อยากให้ผู้คนได้ใกล้ชิดศิลปะ

TEXT / PHOTO : ชาญชัย หาสสุด


     นราธิวาสเป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำให้ใครหลายคนนึกถึงภาพความสวยงามของการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรม เมืองเล็กและผู้คนยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากครั้งล่าสุดที่ผมเห็น มีแค่ร้านน้ำชาบางร้านที่เริ่มถูกดัดแปลงเป็นร้านกาแฟตามยุคสมัย คนรุ่นใหม่เริ่มเปลี่ยนผ่านสถานที่รวมตัว D'Art Cafe & Coffee Lab จึงเกิดขึ้นในหอศิลป์ De' Lapae Art Space Narathiwat เพราะอยากจะให้ผู้คนได้ใกล้ชิดศิลปะ โดยมีคาเฟ่เป็นจุดเชื่อมโยง

     ปรัชญ์- ปรัชญ์ พิมานแมน อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ริเริ่ม่ให้มีหอศิลป์ที่นราธิวาสบ้านเกิด แล้วตัดสินใจเปิดร้านกาแฟ D'Art Cafe & Coffee Lab คู่พื้นที่แสดงงานศิลปะ เผยที่มาคร่าวๆ ให้ผมฟัง

     “เมื่อแปดถึงเก้าปีก่อน ผมรู้สึกว่าที่นี่ยังขาดพื้นที่ให้ความรู้ทางศิลปะ  จึงอยากสร้างพื้นที่ศิลปะสำหรับน้องๆ  และตัวเองได้แสดงงานด้วย มีแกลอรี่ไว้ให้คนในพื้นที่ดู แม้ว่าศิลปะอาจไม่ได้ช่วยในแง่ของเศรษฐกิจ แต่ก็ช่วยในการสร้างภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมและผู้คน”

     ศิลปะสร้างเสน่ห์ให้เราซึมซับความงดงามของความรู้สึกได้เสมอ

     ผมตั้งใจฟังปรัชญ์บอกเล่าเรื่องราวของหอศิลป์กับร้านกาแฟต่อ

     “เรามีความถนัดเรื่องศิลปะ แต่หอศิลป์มีรายจ่าย ร้านกาแฟจึงเป็นตัวช่วยให้มีรายได้และเป็นช่องทางในการสร้างคอมมูนิตี้ กาแฟเป็นตัวเชื่อมให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้น และทำให้เรามีความรู้สึกว่าสามารถส่งสารให้ภาพของศิลปะชัดขึ้น  มีพื้นที่ที่พูดถึงการรับรู้เรื่องศิลปะ รวมถึงกาแฟ งานคราฟต์ เหมือนสนามที่ทุกคนต้องต่อสู้กับพื้นที่กับความเข้าใจ มีความเข้าใจในเรื่องคุณค่าของศิลปะและสามารถสร้างมูลค่าได้ในที่สุด”

     ไม่ใช่อยากเปิดร้านกาแฟเพียงเพื่อให้มีรายได้ช่วยธุรกิจ แต่ปรัชญ์ยังเอาจริงเอาจังกับการเรียนรู้จนมีดีกรีเป็น Q grader และผ่านคอร์ส Butcher เพื่อเสริมเมนูเนื้อเข้ามาในร้าน

     “ที่นี่แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน มีส่วนของหอศิลป์ที่จัดแสดงงานและส่วนของคาเฟ่ มีกาแฟและอาหารบางเมนูที่เราถนัด ลูกค้าของร้านเราตอนนี้ เน้นกลุ่มครอบครัว คนทำงาน เสริมอาหารเข้ามา มีเมนูเนื้อย่าง เบอร์เกอร์ ขนมปังโฮมเมด ทำทุกอย่างจากต้นน้ำ กลางน้ำ จนปลายน้ำ สร้างคอมมูนิตี้ให้สมบูรณ์ขึ้น ให้คนเสพได้ทั้งความสวยงามและความอร่อย”

     จากแนวคิดที่มองกลับด้านจากนักธุรกิจ วางความเป็นศิลปะมาก่อนธุรกิจ สร้างโมเดลจากสิ่งที่รู้ลึกรู้จริง ทำให้ D'Art Cafe & Coffee Lab และ De' Lapae Art Space Narathiwat สามารถอยู่รอดยืนยาวมาถึง 9 ปี และเริ่มขยายธุรกิจไปยังจังหวัดปัตตานีด้วยแนวคิดเดิม

     ในวันที่คนนอกยังมองนราธิวาสด้วยความสับสน ทั้งกล้า ทั้งกลัวที่จะเดินเข้ามา เวลาเดียวกันที่คนในยังคงดำเนินชีวิตอย่างธรรมดา ผมเชื่อว่า ร้านกาแฟและหอศิลป์ของปรัชญ์ยังตั้งใจเสมอในการทำหน้าที่เชื่อมความสุนทรีของศิลปะไปสู่เมืองและผู้คน

     ข้อมูลติดต่อ

     D' Art Cafe & Coffee Lab : https://www.facebook.com/@deartcafe?locale=th_TH

     De' Lapae Art Space Narathiwat : https://www.facebook.com/Delapaeartspace/?locale=th_TH

     P.Art.Y Gallery CAFE : https://www.facebook.com/profile.php?id=100089800853518&locale=th_TH

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

"Samarn craft" คราฟต์เบียร์ชาไทยรายแรกที่เตรียมตีตลาดจีน

Samarn Craft แบรนด์คราฟต์เบียร์ชาไทยกำลังจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการคราฟต์เบียร์ไทย ที่ไม่เพียงเป็นเบียร์ถูกกฎหมาย แต่ เจ็น-ชาญชัย รัศมี เจ้าของแบรนด์ Samarn craft ยังมีเป้าหมายที่จะพาคราฟต์เบียร์ชาไทยตัวนี้ไปตีตลาดจีน

นคร แขฉายแสง จากแรงบันดาลใจในปรัชญาอิคิไก สู่ CATUP โดมแมวอัปไซเคิล

นคร แขฉายแสง วิศวกรผู้รักในงานประดิษฐ์ และลองผิดลองถูกกับการปลุกปั้นชิ้นงานต่างๆ เพื่อหวังเติบโตทางธุรกิจ แต่แล้วในวันหนึ่งเมื่อเขาเข้าใจปรัชญาอิคิไกอย่างลึกซึ้ง จึงเริ่มต้นทำธุรกิจอีกครั้งด้วยความมั่นใจ และคาดหวังว่าจะความยื่งยืนในวิถีอิคิไก

ศิลินลักษ์ ตุลยานันต์ CEO ที่เคยเกือบถูกไล่ออกจากบริษัทของตัวเอง

เรื่องราวของ เฟิร์น - ศิลินลักษ์ ตุลยานันต์ CEO บริษัท ฟู้ด อีควิปเม้นท์ จำกัด ผู้นำเข้าและผลิตเครื่องจักรแปรรูปอาหาร ที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบถูกไล่ออกจากบริษัทของตัวเอง จากความมุ่งมั่น และจริงจังในการทำงานที่มีมากเกินไปจนล้น เป็นยังไง ไปติดตามกัน