คิดค่าบริการเพิ่มดีไหม? ฟังกูรูวิเคราะห์ กระแสร้านอาหารต่างประเทศ ชาร์จเงินพ่อแม่ที่คุมลูกไม่ได้

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • “Toccoa Riverside” ร้านอาหารหรูประเทศจอร์เจีย ใช้มาตรการเด็ดขาดปรับเงินผู้ปกครองที่นำบุตรหลานเข้าใช้บริการ แต่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นเงิน 50 ดอลลาร์

 

  • พาเด็กเข้าร้าน แล้วควบคุมไม่ได้ จริงๆ ควรเก็บค่าบริการเพิ่มไหม? ชวนมาคิดวิเคราะห์ไปพร้อมกัน

 

       

     ปัญหาเด็กซนกับการเข้าใช้บริการร้านอาหาร เป็นสิ่งที่พูดกันมาหลายครั้ง เราอาจได้ยินข่าว หรือเห็นมาตรการที่หลายร้านนำมาใช้ เช่น ติดประกาศป้ายไม่รับ บ้างก็เลือกที่จะจัดโซนเฉพาะสำหรับโต๊ะที่มีเด็กมาด้วย เพื่อป้องกันความวุ่นวาย ไม่ให้รบกวนลูกค้าท่านอื่น ล่าสุดมีข่าวร้านอาหารแห่งหนึ่งในประเทศจอร์เจียงัดมาตรการเด็ดขาด ปรับเป็นเงินสูงถึง 50 ดอลลาร์ สำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ไม่สามารถควบคุมบุตรหลานได้ คิดเห็นกันอย่างไร ลองไปดูรายละเอียดกันก่อน

ไม่ดูแล ควบคุมไม่ได้ = ปรับ

     ร้านดังกล่าวมีชื่อว่า “Toccoa Riverside” เป็นร้านอาหารบรรยากาศเงียบสงบ อยู่ติดริมแม่น้ำ มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ตั้งอยู่ในเทือกเขาบลูริดจ์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจอร์เจีย ให้บริการอาหารสไตล์อเมริกัน เช่น พาสต้า แซนด์วิช ไปจนถึงอาหารระดับไฮเอนด์ โดยได้มีการระบุไว้ที่ด้านล่างของเมนูชัดเจนว่า “มีค่าบริการสำหรับพ่อแม่ ที่ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลควบคุมบุตรหลานได้”

     เหตุที่ทำให้เป็นข่าวขึ้นมาเกิดขึ้นหลังจากครอบครัวหนึ่งได้พาลูกๆ เข้าไปใช้บริการ และเจอเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มจากค่าอาหารปกติเป็นเงินถึง 50 ดอลลาร์ จึงได้มีการนำมาโพสต์ต่อว่าบนสื่อออนไลน์ และเตือนลูกค้าคนอื่นๆ ที่มีลูก หรือเด็กเล็กไม่ให้ไปใช้บริการ เพราะอาจเจอค่าปรับมหาโหดได้ จนเกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมา มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 1,200 คอมเมนต์ และกดไลค์โพสต์ดังกล่าวกว่า 12,500 ราย โดยมีทั้งที่ไม่เห็นด้วย มองว่าร้านทำเกินกว่าเหตุ คิด ค่าปรับแพงเกินไป ขณะที่บางคนกลับเห็นด้วยกับร้าน ว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยลูกหลานจนเกินไป ถ้าพามาก็ต้องควบคุมให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องยอมโดนปรับ

กูรูร้านดังแนะ ควรแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอ

     จากกรณีที่เกิดขึ้น SME Thailand ได้ลองสอบถามไปยังกูรูธุรกิจร้านอาหาร ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี หรือ “ต่อ ชาบูเพนกวิน” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu โดยได้แสดงความคิดเห็นและให้คำแนะนำว่า

     “สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้น ผมอยากให้มองไปที่ต้นตอของสาเหตุก่อนดีกว่าไปแก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งการที่เด็กวุ่นวาย ไม่อยู่นิ่ง หรือวิ่งไปวิ่งมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนั่นคือ ธรรมชาติตามวัยของเขา ซึ่งเมื่อไม่มีอะไรให้โฟกัส การจะให้อยู่นิ่งๆ เฉยๆ นานๆ ก็เลยทำไม่ได้ ดังนั้นหากเราเข้าใจตรงนี้ได้ และลองหากิจกรรมหรืออะไรให้เขาได้โฟกัสมากขึ้น เช่น ตุ๊กตา, ตัวต่อเลโก้, การวาดภาพระบายสี เมื่อมีอะไรให้ทำ เขาก็จะไม่ไปวิ่งเล่น ซุกซน หรืออยู่นิ่งได้นานขึ้น พ่อแม่ก็แฮปปี้ขึ้น

     “ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเรายังสามารถนำมาคิดต่อยอดได้ด้วย เช่น อาจจะทำเป็นสมุดระบายสีของแบรนด์ เล่าสตอรีแบรนด์ ช่วยให้รู้จักแบรนด์ได้มากขึ้น หรืออาจทำเป็นสินค้าที่ระลึกจากแบรนด์ขายไปด้วยเลยก็ได้ เอาจุดอ่อนมาสร้างเป็นจุดแข็ง ผมว่าสามารถทำได้หมด ในอีกส่วนของทางร้านเอง เราอาจมีการเทรนด์พนักงานให้มีการรับมือและช่วยดูแลเด็กๆ มีวิธีการหลอกล่อ วิธีเล่นกับเด็กๆ ผมว่าจะทำให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเกิดความประทับใจในแบรนด์มากขึ้นด้วย ดีกว่าการตั้งกฎที่บางครั้งอาจไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์” กูรูร้านดังฝากเอาไว้ให้คิด

     แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง…

ที่มา : https://www.businessinsider.com/georgia-restaurant-charging-diners-for-misbehaving-kids-slammed-online-2023-10

https://www.yourtango.com/entertainment/restaurant-charges-parents-with-unruly-kids

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

ทำร้านเบเกอรี่ยังไงให้เนื้อหอม? SmoreBite ชลบุรี แค่ 2 เดือนมีห้างดังรุมจีบ

 แค่ 2 เดือน “เซฟ-ปัณฑา ลอออรรถพงศ์” หนุ่มน้อยวัย 24 ปี ก็พา SmoreBite ร้านเบเกอรี่ในชลบุรี ปังจนห้างดังอย่างพารากอนและเดอะมอลล์ต้องมาจีบ ... เขาทำได้อย่างไร

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก