รู้จัก Mindbrew ร้านกาแฟในฮ่องกงที่ช่วยฮีลใจ ด้วยการจ้างงานผู้มีปัญหาทางจิต

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     ต้องยอมรับว่าด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางชีวภาพ ด้านจิตใจ หรือสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการทำให้ผู้ป่วยทางจิตเพิ่มจำนวนขึ้นมากในสังคม อาการอาจจะรุนแรงหรือบางเบามากน้อยต่างกันไป และปัญหาอย่างหนึ่งที่คนกลุ่มนี้พบเจอคือแม้จะรักษาตัวจนหายหรือกำลังอยู่ระหว่างการบำบัด บ่อยครั้งพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับ และถูกกีดกันจากสังคม

     อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก "social inclusivity" หรือการโอบรับผู้คนทุกกลุ่มให้อยู่ร่วมในสังคมกำลังเป็นกระแสที่มาแรง หลายบริษัทและองค์กรได้น้อมนำมาปฏิบัติ ทำให้คนที่มีความแตกต่างซึ่งรวมถึงผู้มีปัญหาทางจิตด้วยได้รับการยอมรับและมอบโอกาสในการทำงาน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดน่าจะเป็น “มายด์บรูว์” (Mindbrew) ร้านกาแฟในฮ่องกงที่พนักงานทุกคนในร้านเคยมีประสบการณ์ป่วยทางจิต

     มายด์บรูว์เป็นร้านกาแฟป๊อป-อัพหรือร้านกาแฟชั่วคราวที่ตระเวนเปิดบริการตามสถานที่ต่าง ๆ เช่นล่าสุดมาให้บริการที่ห้างแลนด์มาร์ค เอเทรียมในเขตเซ็นทรัลของเกาะฮ่องกง แม้จะเปิดเป็นร้านป๊อป-อัพชั่วคราวแต่ก็ให้บริการเครื่องดื่มและเบเกอรี่ที่ครบครัน เครื่องดื่มเด่นที่เป็นลายเซ็นประจำร้านได้แก่ ลาเต้สตรอว์เบอร์รี่ชาเขียวมัทฉะ และ “Mind Tonic” เครื่องดื่มที่เสิร์ฟพร้อมเมล็ดกาแฟที่ผ่านการคัดสรรอย่างดีและผลไม้หรือดอกไม้ที่รับประทานได้ ส่วนเบเกอรี่จะอบสดใหม่จากครัวของโรงแรมแลนด์มาร์ค แมนดาริน โอเรียนเต็ล ที่ขายดีคือ คานาเล่ มาเดอแลน และบรูคกี้หรือบราวนี่หน้าคุกกี้ 

     ร้านกาแฟมายด์บรูว์เป็นโครงการล่าสุดที่ริเริ่มโดย “มายด์เซ็ต” (Mindset) องค์กรการกุศลด้านสุขภาพจิตที่ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัทจาร์ดีน เมเธอสัน จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักและรับรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิต และให้การสนับสนุนผู้มีปัญหาทางจิตที่บำบัดแล้วให้กลับคืนสู่สังคม

     แอนดรูว์ หว่อง ประธานมายด์เซ็ตให้สัมภาษณ์ว่าบาริสต้าและพนักงานทั้งหมดในร้านมายด์บรูว์เป็นอดีตผู้ป่วยจิตเวชและผ่านการฝึกอาชีพกับโครงการของมายด์เซ็ตมาแล้ว “มันเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขา โดยมีการสอนทักษะการชงกาแฟเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่จะก้าวไปสู่อาชีพที่มีศักยภาพอย่างบาริสต้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพนักงานได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ระหว่างปฏิบัติงานเราจะมีนักสังคมสงเคราะห์คอยวัดชีพจรให้หากพนักงานรู้สึกตื่นเต้น เต็มตื้น หรือท่วมท้น”

     ด้านแซลลี่ (นามสมมติ) บาริสต้าฝึกหัดของที่ร้านกล่าวว่าโครงการฝึกอาชีพที่มายด์บรูว์ที่มีบาริสต้าผ่านการฝึกมาแล้ว 25 คนนับว่าเปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนที่มักถูกตีตราในสังคม “ในฐานะที่เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งฟื้นจากความป่วยไข้ทางจิต การหางานทำเป็นอะไรที่ยากและใช้เวลามาก ที่มีเคยมีปัญหาทางจิตมักถูกตีตราอยู่บ่อย ๆ” นอกจากสร้างอาชีพและการจ้างงาน ร้านกาแฟมายด์บรูว์ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสนับสนุนและให้กำลังใจแก่พนักงานที่เคยป่วยทางจิตอีกด้วย

     ทั้งนี้ ข้าง ๆ ร้านมายด์บรูว์ยังมีบูธของมายด์เซ็ตตั้งอยู่เพื่อให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้หรือหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตซึ่งกำลังเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกหลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์การอนามัยโลกเผยวิกฤติโควิดเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซนต์  ขณะที่ในฮ่องกงเอง มีการประเมินว่า 1 ใน 5 ของประชากรฮ่องกงกำลังต่อสู้กับอาการป่วยทางจิต  

     สำหรับสาเหตุของอาการทางจิต หลายอย่างเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน การแบ่งประเภทของโรคทางจิตเวชนั้น เกณฑ์ที่นิยมใช้กันคือ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

     1.อาการวิตกกังวล

     2.ความผิดปกติทางอารมณ์ อาจจะเป็นแบบซึมเศร้า (Depression) หรือตื่นตัวคึกคัก (Mania หรือ Hypomania)

     3.ความผิดปกติทางจิต

     4. โรคหรืออาการที่มีสาเหตุมาจากยา สารเสพติด หรือความเจ็บป่วยทางกาย

     และ 5. อื่น ๆ เช่น บุคลิกภาพผิดปกติ ความผิดปกติทางกายที่มีสาเหตุมาจากจิตใจ ความผิดปกติทางการนอน หรือทางเพศ เป็นต้น

ที่มา : https://bit.ly/3zQhpTH

https://www.landmark.hk/en/whats-on/editorials/oct2022-mindbrew-popup

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

ทำร้านเบเกอรี่ยังไงให้เนื้อหอม? SmoreBite ชลบุรี แค่ 2 เดือนมีห้างดังรุมจีบ

 แค่ 2 เดือน “เซฟ-ปัณฑา ลอออรรถพงศ์” หนุ่มน้อยวัย 24 ปี ก็พา SmoreBite ร้านเบเกอรี่ในชลบุรี ปังจนห้างดังอย่างพารากอนและเดอะมอลล์ต้องมาจีบ ... เขาทำได้อย่างไร

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก