TEXT : Surangrak Su.
PHOTO : Flower in Hand by P.
ทุกวันนี้กระแสรักษ์โลกมาแรงก็จริงอยู่ แต่จริงๆ แล้วสามารถทำได้ทุกธุรกิจไหม เป็นคำถามคาใจให้กับผู้ประกอบการหลายคน วันนี้จะพามาดูตัวอย่างของ “Flower in Hand by P.” ร้านดอกไม้เล็กๆ บนถนนประดิพัทธ์ ที่มีโนฮาวรักษ์โลกเป็นของตัวเอง ตั้งแต่การลด ละ เลิกใช้วัสดุที่เป็น Single-used หรือใช้ครั้งเดียวทิ้ง จนถึงการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ร้านดอกไม้จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ไปดูกัน
เคยทำขยะล้นพีคสุด 10 ถุงต่อวัน
แพร พานิชกุล เจ้าของร้าน Flower in Hand by P. เล่าว่าร้านเปิดดำเนินการมาได้ 6-7 ปีแล้ว โดยครั้งแรกเริ่มต้นเปิดร้านอยู่ที่ซอยอารีย์มาก่อน ต่อมาจึงได้ย้ายมาที่ถนนประดิพัทธ์เพื่อขยายร้านให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยจุดเริ่มที่มาของการหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น ก็คือ เพื่อต้องการลดการสร้างขยะที่เกิดขึ้นจากตัวร้าน
“เราเป็นร้านดอกไม้เล็กๆ ก็จริง แต่ด้วยความที่เราให้ความสำคัญกับคุณภาพของดอกไม้ที่ส่งมอบให้กับผู้บริโภคค่อนข้างมาก จึงทำให้ในแต่ละวันมีเศษขยะที่เหลือทิ้งจากการจัดแต่งทำช่อดอกไม้ ตั้งแต่ดอกไม้ รวมถึงบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกที่ใช้ห่อช่อดอกไม้ค่อนข้างมาก ปกติเฉลี่ยวันหนึ่ง คือ 1-3 ถุงใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาล เช่น วันลาเลนไทน์ วันแม่ เคยพีคสุด 10 ถุงก็มี จนวันหนึ่งมีแม่บ้านของคอนโดมิเนียมตอนที่เรายังเปิดร้านเดิมอยู่ที่ซอยอารีย์ เดินมาบอกว่าขอให้ช่วยแยกขยะให้หน่อย เพราะไม่งั้นเขาต้องไปแยกเอง และขยะเราก็ค่อนข้างเยอะ เลยเริ่มทำให้เราหันกลับมามองว่าอยากหาวิธีช่วยลดปริมาณขยะเหล่านั้นให้น้อยลง หรืออีกครั้งหนึ่ง คือ เพื่อนมาเห็นดอกไม้ที่ร้าน จริงๆ มันช้ำแค่นิดหน่อย แต่เราก็ต้องทิ้ง เพราะไม่สามารถนำไปจัดให้กับลูกค้าได้ เพื่อนก็ถามว่าจะทิ้งทำไมยังใช้ได้อยู่เลย เลยทำให้เราเริ่มหันมามองเรื่อง Sustainable หรือการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น จนเกิดเป็นที่มาของการคิดไอเดียต่างๆ ขึ้นมา” แพรกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียให้ฟัง
เปิด 4 ไอเดีย Upcycle ช่วยโลก ช่วยธุรกิจ
หลังจากตั้งเป้าให้กับตัวเองว่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างมลภาวะให้กับโลกใบนี้ให้น้อยที่สุด แพรเริ่มต้นปรับปรุงตนเองด้วยการจัดการกับขยะก่อนเป็นอันดับแรก โดยพยายามนำทุกอย่างกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะทิ้งไป จนเกิดเป็น 4 ไอเดียสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
1. กรอบรูปใส่ดอกไม้แห้ง ตัวดอกที่สมบูรณ์ มีความช้ำเล็กน้อย ไม่สามารถนำไปจัดช่อให้กับลูกค้าได้จะถูกนำมาตากแดดและอบเพื่อทำเป็นดอกไม้แห้ง จากนั้นจึงนำมาใส่กรอบรูปไซส์ A4 เพื่อนำไปใช้ประดับตกแต่งบ้าน จำหน่ายราคาอันละ 1,500 บาท โดยสามารถส่งมาเปลี่ยนดอกไม้ด้านในได้ฟรีภายในระยะเวลา 6 เดือนฟรี
2. การ์ดอวยพรจากกลีบดอก สำหรับดอกที่ไม่สมบูรณ์จะถูกนำมาแกะกลีบออก จากนั้นจึงนำไปตากแห้ง และจัดเรียงเป็นการ์ดอวยพรจากดอกไม้ จำหน่ายแผ่นละ 200 บาท
3. กระดาษห่อช่อจากใบไม้ สำหรับใบไม้ที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะถูกนำมาตากแห้ง และส่งให้กับโรงงานกระดาษสาที่เชียงใหม่ เพื่อนำไปปั่น ผ่านกระบวนการผลิตเป็นกระดาษสาในที่สุด เพื่อนำมาใช้เป็นกระดาษห่อช่อดอกไม้ในร้าน
4. ทำสีย้อมผ้าจากดอกไม้ ไอเดียสุดท้าย คือ การนำมาผลิตเป็นสีย้อมผ้า ขั้นตอนนี้แม้จะยังอยู่ในขั้นทดลอง ยังไม่ได้มีการผลิตเพื่อนำมาจำหน่าย แต่ก็ได้มีการทดสอบและลองทำขึ้นมาเพื่อจัดแสดงโชว์ในร้านแล้ว
หันมาใช้ถุงกระดาษแทนพลาสติก และการ์ดจากดอกไม้แห้ง
ซึ่งกว่าจะได้ออกมาแต่ละไอเดียได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกระบวนการวางแผนระบบหลังบ้านที่ดีก่อน โดยในแต่ละสัปดาห์เธอจะวางแผนให้พนักงานแยกจัดเก็บเศษดอกไม้ใบไม้ออกเป็นถังๆ ก่อน เพื่อใช้เวลาในช่วงเย็นสัปดาห์ละ 2-3 วันในการจัดการแยกและเก็บเป็นประเภทต่างๆ ตามที่วางแนวทางไว้ ได้แก่ ดอกที่สมบูรณ์ เพื่อทำดอกไม้แห้งใส่กรอบรูป, กลีบดอก เพื่อนำมาทำการ์ด จนถึงใบไม้เพื่อนำไปทำกระดาษสาและย้อมสีธรรมชาติ ส่วนขยะอื่นๆ ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้แล้ว จึงค่อยแยกทิ้งไปตามปกติ
จากวิธีการดังกล่าวทำให้เธอสามารถลดปริมาณขยะต่อวันลงได้มาก จากที่เคยทิ้งวันละ 1-3 ถุง ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงแค่ 3 วันต่อ 1 ถุงเท่านั้น
“ตอนนี้เรามีพนักงานประจำทั้งหมด 5 คน โดยน้องๆ จะช่วยกันดูแลทั้งหมด ทั้งงานหน้าร้านจัดดอกไม้ให้กับลูกค้า และงานหลังบ้านที่คอยจัดการคัดแยกเศษดอกไม้ ใบไม้ต่างๆ รวมถึงการเข้ากรอบรูปและทำการ์ดเอง นอกจากนี้เรายังมีจ้างพาร์ทไทม์มาช่วยเพิ่มอีก 2 คนในวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้มาช่วยดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะด้วย ถ้าคิดเป็นสัดส่วนของงานทั้งหมดใน 1 วัน งานระบบหลังบ้านจะอยู่ที่ราว 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าไม่ต้องทำทุกวัน ถามว่าคุ้มค่าไหมกับที่ทำไป นอกจากได้จัดการกับขยะอย่างที่ตั้งใจไว้แล้ว เราก็มีรายได้เพิ่มจากไอเดียการขายสินค้าใหม่ เช่น กรอบรูป และการ์ดเพิ่มขึ้นมาด้วย ที่สำคัญถ้าเราทำตรงนี้ให้ดี ให้ยั่งยืนได้ ต่อไปจะไปต่อทางไหน ก็สะดวก มันแตกออกไปได้ไกลกว่า โดยไม่ต้องมาแก้ปัญหาในภายหลัง ทำธุรกิจได้อย่างสบายใจ”
ช่อดอกไม้จากถุงผ้า ทางเลือกใหม่ของสายกรีน
นอกจากความพยายามในการจัดการกับขยะที่เกิดขึ้นแล้ว แพรยังตั้งเป้าเกี่ยวกับการลด ละ เลิกใช้วัสดุแบบ Single-use plastic หรือใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น พลาสติกห่อช่อดอกไม้ โดยได้มีความพยายามเปลี่ยนมาใช้เป็นช่อกระดาษแทน รวมถึงบรรจุภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ เช่น แจกันดอกไม้, ตะกร้า จนล่าสุด คือ ทดลองนำผ้า และถุงผ้ามาใช้ห่อช่อดอกไม้แทนพลาสติก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ สร้างความฮือฮาให้กับลูกค้าที่พบเห็น เพราะยังไม่เคยเห็นจากร้านดอกไม้ร้านใดมาก่อน
“ทุกวันนี้จะทำสินค้าอะไรออกมา เราจะเริ่มคิดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเลยว่า ทำยังไงตั้งแต่ต้น จนถึงปลายทางให้เกิดการทิ้งเป็นขยะให้น้อยที่สุด หรือลูกค้านำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ อย่างพลาสติกห่อช่อดอกไม้ในต้นปีนี้เราก็ทำสำเร็จแล้ว คือ เลิกใช้ไปเลย แต่หันมาใช้เป็นกระดาษแทน โดยพยายามใช้เป็นกระดาษสาที่ผลิตเองให้มากที่สุด แต่ถ้าลูกค้าบางคนรีเควสอยากได้เป็นกระดาษต่างประเทศเราก็ยังคงมีให้อยู่
ช่อดอกไม้จากผ้า ที่สามารถนำมาดัดแปลงใช้ต่อได้ในภายหลัง
“นอกจากกระดาษเรายังลองใช้เป็นผ้า และถุงผ้าแทนด้วย โดยทดลองทำในช่วงวันวาเลนไทน์ปีหนึ่ง ลูกค้าก็ให้การตอบรับค่อนข้างดี เพราะเขาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ และก็ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน หลายคนก็ชอบคอนเซปต์เรามาก แต่ไม่รู้จะซื้อให้ใคร เลยซื้อให้ตัวเองก็มี ถามว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนขึ้นมาไหม จริงๆ แล้วก็พอๆ กับกระดาษต่างประเทศที่เรานำเข้ามาใช้ ต้นทุนจึงไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่เพิ่มมูลค่าให้ตัวสินค้าได้มากขึ้น มีความคุ้มค่ามากกว่า อย่างทุกวันนี้ถ้าเป็นช่อดอกไม้ปกติทั่วไปห่อกระดาษเราเริ่มต้นจำหน่ายที่ช่อละ 2,000 บาท ถ้าเป็นช่อถุงผ้าก็เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อยเป็น 2,200 บาท” แพรกล่าว
กระดาษสาจากใบไม้ และกลีบดอกไม้แห้ง
ต่อยอดโปรเจกต์อนาคตไกล
จากความพยายามจัดการกับขยะที่เกิดขึ้น การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวดอกไม้เองทางร้าน Flower in Hand by P. ก็เริ่มหันมาใช้ดอกไม้จากในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ และด้วยแนวคิดนี้เองที่ต่อยอดทำให้แพรคิดไปถึงอนาคตโปรเจกต์อันใกล้ที่ปัจจุบันเธอได้เริ่มต้นลงมือทำแล้ว
“นอกจากเปิดร้านดอกไม้แล้ว ตอนนี้เรากำลังเริ่มทดลองทำฟาร์มดอกไม้อินทรีย์ด้วย ถ้าทำได้นอกจากใช้ในร้านแล้ว ก็อาจลองส่งขายให้กับร้านดอกไม้อื่นๆ ที่ต้องการด้วย ไปจนถึงถ้าสำเร็จก็อยากนำมาเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อให้หันมาปลูกดอกไม้อินทรีย์ใช้กันเยอะขึ้น เพราะปลอดภัยทั้งต่อตัวเขาและผู้บริโภคด้วย อีกเรื่องที่เรากำลังศึกษา คือ การทำดอกไม้แห้งให้คงทนอยู่ได้นานขึ้น สีไม่ซีด เราคิดว่าถ้าทำได้จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้อีกเยอะ และมีความปลอดภัยสูงด้วย เพราะมาจากธรรมชาติ ไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ ตอนนี้เราพยายามเก็บข้อมูลจากบริการที่ให้ลูกค้านำกรอบรูปดอกไม้แห้งที่ซื้อไปเปลี่ยนฟรีได้ภายใน 6 เดือน และก็กำลังดีลกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อทำงานวิจัยร่วมกันด้วย ซึ่งถ้าทำได้ก็อาจเป็นธุรกิจอีกตัวที่ต่อยอดออกไป”
และนี่คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจเล็กๆ ที่สามารถสร้างโมเดลรักษ์โลกของตัวเองขึ้นมาได้ นอกจากจะส่งผลดีต่อโลกใบนี้ ยังกลายเป็นการสร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจให้ไปได้ไกลมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
“มีหลายคนเลยที่สงสัยว่าร้านดอกไม้มาทำเกี่ยวกับรักษ์โลกได้ไง ทำไมถึงคิดต่อยอดออกไปได้ไกล จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งแพรว่าถ้าเราได้เห็นเยอะ ดูเยอะ มันสามารถช่วยได้เยอะเลย ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องที่เราทำอยู่นะ หมายถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย การที่เราสะสมเอาไว้วันหนึ่งอาจกลายเป็นประโยชน์ให้เราได้ในอนาคต การอยู่กับอะไรนานๆ บางทีอาจคิดไม่ออก ลองออกจากกรอบมาลองมองในมุมมองลูกค้าหรือคนอื่นดูบ้างว่าถ้าเราเป็นเขา เราอยากจะได้อะไร เราอาจได้ไอเดียเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลย” เจ้าของร้าน Flower in Hand by P. ฝากทิ้งท้ายเอาไว้
Flower in Hand by P. FB : https://web.facebook.com/flowerinhandbyp โทร. 062 758 2233 |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี