Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
อย่างที่ทราบกัน ผลไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวจีนนิยมบริโภคมากที่สุดคือทุเรียนหรือ “ราชันแห่งผลไม้” นั่นเอง ส่งผลให้จีนเป็นตลาดใหญ่สุดและนำเข้าทุเรียนมากกว่าทุกประเทศในโลก ข้อมูลระบุ ปี 2021 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนสดปริมาณ 821,500 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,210 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.5 แสนล้านบาท) โดยนำเข้าจากไทยมากสุดเป็นมูลค่า 3,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตามองว่าสถานการณ์การนำเข้าและส่งออกทุเรียนระหว่างจีนกับไทย รวมถึงมาเลเซียที่เริ่มผันมาปลูกทุเรียนป้อนตลาดจีนเช่นกันจะเป็นอย่างไรเมื่อมีรายงานล่าสุดว่าสวนทุเรียนทางใต้ของจีนที่มลฑลกวางตุ้งและมณฑลไห่หนานที่จีนซุ่มทดลองปลูกนั้นเริ่มให้ผลผลิตแล้ว
ไห่หนานทีวีรายงานว่าปัจจุบันพื้นที่ปลูกทุเรียนในไห่หนาน (ไหหลำ) ที่ให้ผลผลิตมีเกินกว่า 2,000 เฮกตาร์ (12,500 ไร่) คาดว่าปี 2024 จะสามารถส่งผลผลิตออกวางจำหน่ายได้ราวปีละ 45,000-75,000 ตัน ทั้งนี้ ตู้ ไป่จง กรรมการผู้จัดการบริษัทไห่หนาน ยูฉี อะกริคัลเจอรัล (Hainan Youqi Agricultural) เผยว่าสวนทุเรียนของบริษัทดำเนินไปได้ด้วยดี โดยทุเรียนเกือบ 100 ต้นสามารถให้ผลผลิตแล้ว
ด้านกัน หันเจียง ผู้อำนวยการฮั่วเส็ง อีโคโลติคอล อะกริคัลเจอร์ เบสซึ่งดำเนินธุรกิจสวนทุเรียนอีกรายในไห่หนานกล่าวว่าต้นทุเรียนที่ปลูกให้ผลผลิตมากขึ้นในแต่ละปี บางต้นออกลูกจำนวนหลายสิบลูกเลยทีเดียว โดยลูกที่หนักสุดมีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม ปัจจุบัน บริษัทเพิ่งปลูกต้นกล้าทุเรียนไป 200,000 ต้น สำหรับต้นที่ปลูกก่อนหน้าก็ให้ผลผลิตแล้ว คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนตค.นี้
จากการรายงานของไห่หนานทีวี ต้นกล้าทุเรียนถูกนำมาปลูกที่ไห่หนานครั้งแรกช่วงทศวรรษ 1950 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้นทุเรียนไม่เติบโตและไม่ออกดอกออกผลเนื่องจากการขาดความรู้ด้านเทคนิคการปลูก กระทั่งปี 2019 มีรายงายว่าทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่เป่าถิงซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษบนเกาะไหหลำจำนวน 44 ต้นได้ออกผล ถือเป็นความสำเร็จที่จุดประกายให้บรรดาเกษตรกรในไห่หนานเกิดการตื่นตัวอีกครั้ง
บรรดาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นต่างพากันศึกษาและทดลองแผนการปลูกตั้งแต่การควบคุมแมลง การให้น้ำและปุ๋ย ส่งผลให้อัตราการอยู่รอดของต้นกล้าทุเรียนเพิ่มขึ้นเกินกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนานระบุอุตสาหกรรมการปลูกทุเรียนในไห่หนานพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ที่ปลูกทุเรียน อาทิ เป่าถิง ซานย่า หลิงสุ่ย เลตง และอีกหลายเมืองเริ่มให้ผลผลิตแล้วบนพื้นที่มากกว่า 12,500 ไร่
เจ้าหน้าที่สถาบันแนะนำให้ปลูกบนพื้นที่ภูเขาทางใต้และตอนกลางของไห่หนานก่อนขยับขยายพื้นที่ปลูกไปทางเหนือ โดยทางสถาบันจะนำเทคนิคต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณต้นกล้าทุเรียนให้พอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร
นอกจากไห่หนานแล้ว มณฑลกวางตุ้งก็เป็นอีกแหล่งที่ปลูกทุเรียนและเริ่มให้ผลผลิตเช่นกัน ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการปลูกทุเรียนนอกเกาะไหหลำซึ่งอยู่ในเขตร้อน ทุเรียนที่นำมาปลูกมีหลายสายพันธุ์ รวมถึง ทุเรียนมูซังคิง และทุเรียนหนามดำอันขึ้นชื่อจากมาเลเซีย โดย 2 พันธุ์นี่เริ่มปลูกเมื่อปี 2018 บนพื้นที่ 125 ไร่ในเมืองเหมาหมิง ทางตะวันเฉียงใต้ของกวางตุ้ง ปัจจุบัน เหมาหมิงกลายเป็นพื้นที่หลักในการปลูกผลไม้เขตร้อนหลายชนิด รวมถึง กล้วยและลิ้นจี่
แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่สุดไปยังจีน ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาที่ต้องการชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนด้วยเช่นกัน อีกทั้งจีนก็เริ่มปลูกทุเรียนได้เอง จึงเป็นที่น่าจับตาว่าการส่งออกทุเรียนของไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ชี เจ้อหมิง ทูตพาณิชย์สถานทูตจีนประจำมาเลเซียให้ความเห็นว่าความต้องการทุเรียนในจีนจะยังคงสูงอยู่ เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ชาวจีนชอบบริโภคและนิยมซื้อเป็นของขวัญของฝากแก่สมาชิกครอบครัว มิตรสหาย และใช้เป็นของกำนัลในแวดวงธุรกิจด้วย
Source:
https://www.producereport.com/article/chinese-durians-are-almost-here-hainan-durians-hit-market-2024
https://www.producereport.com/article/guangdong-provinces-first-durian-orchard-fruiting
https://www.ciie.org/zbh/en/news/exhibition/focus/20220426/32318.html
https://www.scmp.com/magazines/style/news-trends/article/3106842/why-china-loves-durian-smelly-fruit-popular-thailand
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี