ในขณะที่คำว่า “คราฟต์” กำลังแทรกตัวอยู่ทั่วไปในสังคม คราฟต์ของแต่ละคนอาจจะมีความหมายต่างกัน บางคนอาจถึงกับเรียกอะไรก็ตามที่ทำด้วยมือว่า คราฟต์ ในขณะที่อีกกลุ่มต้องรับรู้ถึงความตั้งใจของการผลิตงานฝีมือและสร้างคุณค่าให้ได้ก่อน แล้วค่อยเรียก คราฟต์ ปัณณ์อารีย์ เป็นหนึ่งในกลุ่มหลังที่ออกตัวว่า เป็นแค่แม่ค้าขายความสุข
ทราย - รุ่งทิวา โคตวงศ์ หัวเราะเบาๆ เมื่อผมถามความเป็นมาของชื่อ ปัณณ์อารีย์ เธอบอกว่าไม่รู้จะเริ่มต้นบอกยังไงดี อาจเริ่มจากการได้มาเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ที่กาญจนบุรี การอยู่ในวัดป่าได้ใช้ชีวิตช้าๆ ทำงานด้านการศึกษาร่วมกับทางวัดและเจ้าหน้าที่อุทยาน พอย้ายกลับมาอยู่ลำพูน กำลังตั้งท้องได้ไม่กี่เดือน ก็เลยต้องหาอะไรทำเพราะมีลูก จึงคิดว่างานผ้าน่าจะตอบโจทย์เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยทำเสื้อยืดเพนต์ลายขายมาก่อน ส่วนสามีมีทักษะด้านงานไม้ก็หยิบเอาพวกเศษไม้มาประดิษฐ์เป็นของเล่นไม้ เช่น หุ่นยนต์ และรถไม้บ้าง
แบรนด์ปัณอารีย์ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น โดยตั้งตามชื่อของลูกสาว ทรายเล่าเพิ่มว่าการกลับมาเริ่มต้นทำงานผ้าอีกครั้งเริ่มจากการซื้อเก็บสะสมของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ตัวเองชอบก่อน ไม่ว่าจะเป็นผ้าเก่า หรือชิ้นงานฝีมือต่างๆ เซึ่งหากเป็นคนอื่นอาจทิ้งไม่ได้เก็บไว้ แต่เธอมองว่าสิ่งของเหล่านั้นยังมีคุณค่า สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์และไปต่อได้ เพราะเชื่อว่ายังมีคนที่ชอบเหมือนกัน จนวันหนึ่งเมื่อได้ทำขึ้นมา ก็เหมือนได้ส่งต่อความสุขระหว่างกัน
ซึ่งการย้ายมาลำพูนสำหรับทรายแล้ว ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย ความเป็นอยู่ไม่ได้แตกต่างจากที่อยู่กาญจนบุรีเลย เธอยังพอใจกับชีวิตที่มีต้นทุนน้อยๆ และถึงแม้ค้นพบว่าลำพูนจะเป็นแค่เมืองผ่านและค่อนข้างเงียบ แต่เธอสามารถนำงานไปขายที่กรุงเทพฯ ได้ เพราะคอนเนคชันส่วนมากอยู่ที่นั่น
ผมนั่งฟังเธอเล่าความสุขต่อว่า ทุกวันนี้ทำงานเอาความสนุกเป็นที่ตั้ง และเป็นข้ออ้างให้ได้อยู่กับลูกอยู่กับครอบครัว บริบททางสังคมที่เปลี่ยนจากความเงียบมากจากเคยอยู่วัดอยู่มูลนิธิย้ายมาอยู่ในเมืองอาจรู้สึกสบายกว่า แต่ก็ต้องทำมาหากินให้เป็นกิจจะลักษณะ โดยก่อนหน้านี้เคยเอาบ้านมาเปิดเป็นหน้าร้าน แต่พอลูกเริ่มโตขึ้นบวกกับสถานการณ์โควิดเริ่มแพร่ระบาดมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้ต้องปิดร้านและเอางานตะเวนขายตามที่ต่างๆ จนทำให้ค้นพบว่าการขายงานด้วยตัวเองมีความสุขที่สุด เพราะได้พูดคุยได้สื่อสารออกไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานอีเวนต์ที่จัดที่กรุงเทพฯ
โดยบอกว่ากว่าจะได้ออกมาแต่ละชิ้นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ทรายเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยรับงานจากคนจีนปักเสื้อไม่ถึงยี่สิบตัว แต่ใช้เวลาเกือบปี เพื่อให้ได้เงินแค่สี่ห้าหมื่น แต่ตอนทำงานไม่ได้รู้สึกอะไร รู้แค่ว่าสนุกและมีความสุขที่จะได้ส่งต่อให้คนที่ชอบเหมือนกัน ไม่ได้คิดถึงต้นทุนกำไรอะไรมากนัก
ผมถามว่าแล้วคุ้มไหม เพราะผลตอบแทนอาจจะไม่ได้ตามเกณฑ์ของหลักธุรกิจ ทรายตอบว่าจะคุ้มหรือไม่นั้น คงต้องดูส่วนอื่นประกอบด้วยว่าในเมื่อเธอเองไม่ได้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายอะไรมากนัก ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว และมีความสุขอยู่ในปริมาณที่คาดหวังได้ บางครั้งอาจมากกว่าด้วยซ้ำ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว โดยเล่าว่าในช่วงวิกฤติโควิดราว 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้รู้สึกลำบากอะไรมาก มีความสุขที่ได้คิดทำโน่นทำนี่ เพื่อช่วยเหลือคนอื่น ทั้งทำแมสก์แจก จ่าย มีขายบ้างตามราคาที่แล้วแต่ผู้รับจะให้ เพื่อเอาเงินที่ได้ไปทำบุญ
ในช่วงล็อกดาวน์ก็ได้ส่งปิ่นโตตามบ้าน ปั่นจักรยานขายก๋วยเตี๋ยวหลอด บางครั้งก็แจกคนที่ลำบากกว่าด้วยการคิดโปรเจกต์ “ก๋วยเตี๋ยวสองหลอดรอดไปด้วยกัน” เมื่อเพื่อนๆ รู้ก็ช่วยกันอุดหนุน จึงเกิดความสนุกที่จะทำอะไรต่อ พอถึงหน้าหนาวก็ขายขนมปังปิ้งชื่อ “มรรคปัง” ส่วนก๋วยเตี๋ยวหลอดใช้ชื่อว่า “มรรคหลอด” ตั้งตามประสบการณ์ที่เคยได้ไปอยู่วัดอยู่มูลนิธิมาก่อน
จนเมื่อหลายคนเริ่มรู้จักชื่อ ทรายสองหลอด (ฉายาของเธอที่เพื่อนเรียก) จึงเป็นโอกาสให้หลายคนได้รู้จักตัวตนของเธอและงานของเธอในความเป็นคราฟต์มากขึ้น จนส่งผลให้ชื่อปัณณ์อารีย์เป็นที่รู้จักในวงการงานฝีมือมากขึ้น
ซึ่งในขณะที่หลายคนอาจกำลังเคร่งเครียดเอาตัวรอดจากวิกฤต แต่ทรายกลับใช้โอกาสนี้ในการสร้างความเพลิดเพลิดลองผิดลองถูกให้กับงานของตัวเอง เธอเคยขายสินค้าด้วยวิธีส่งงานไปก่อนกับแจ้งเพียงราคาต้นทุนขั้นต่ำ ที่เหลือก็แล้วแต่ลูกค้าว่าจะจ่ายมาเท่าไหร่ก็ได้ตามความพอใจ เพราะมั่นใจว่าถ้าลูกค้าเห็นคุณค่างานเหมือนกับเธอ ก็คงพร้อมจะสนับสนุนเช่นกัน ความสุขจึงอยู่ที่ความสบายใจของทั้งสองฝ่าย เวลาส่งของให้ลูกค้าเธอมักชอบใส่ของเล็กๆ น้อยๆ ติดไปด้วย โดยไม่คิดราคาเพิ่มเพราะใจอยากให้
“เคยส่งเสื้อไปให้ลูกค้า เราบอกแค่เริ่มที่ต้นทุน 400 บาท แต่ลูกค้าโอนมาให้ 1,000 บาท หรืออย่างตัวล่าสุดบอกราคาขั้นต่ำไปว่า 5,000 บาท แต่ลูกค้าโอนมา 8,000 บาท ก็มี หรือให้น้อยกว่าที่คิดไว้ก็มี อย่างแมสก์ผ้าที่มีปักลายขายอยู่อันละ 150 บาท ลูกค้าสั่งมา 4 อัน แต่โอนให้ 350 บาท ก็มี เพราะส่วนใหญ่เราจะส่งของไปก่อน แล้วค่อยให้เขาโอนมาทีหลัง” ทรายเล่า
วันนั้นผมชวนทรายออกมาคุยนอกบ้าน เรานั่งคุยกัน พร้อมๆ ที่เธอนั่งเกลียวเชือกกล้วยให้เป็นสายคล้องแมสก์ไปด้วย เสียดายที่ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ทำงานมากกว่านั้น แต่การได้คุยกัน ได้เห็นงานที่ฝากวางขายอยู่ในร้านกาแฟ PICK BAAN ที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองลำพูน ก็เพียงพอที่จะยืนยันความเป็นตัวตนที่ปัณณ์อารีย์ตั้งใจสร้างงานให้มีคุณค่าในความเป็นคราฟต์ และขายต่อความสุขอย่างที่ตั้งใจไว้
ข้อมูลติดต่อ
https://www.facebook.com/Punaree-home-801411783252509
โทร. 087 922 4122
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี