คุยกับ SHE KNOWS แบรนด์ที่ทำเสื้อผ้าสูงสุดถึง 18 ไซส์ สร้างสมดุลธุรกิจยังไงให้เป็น Sustainable Brand และเข้าถึง FC

 

 

     ปกติแล้วเสื้อผ้าในร้านต่างๆ ก็มักจะมีขนาดมาตรฐานตั้งแต่ S,M,L,XL มากสุดก็คงถึง XXL แต่เราได้พบกับแบรนด์ SHE KNOWS ที่เสื้อผ้าแต่ละแบบมีให้เลือกสูงสุดถึง 18 ไซส์! นั่นเป็นประเด็นที่ทำให้เราอยากพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ถึงวิธีคิดการทำธุรกิจแฟชั่นที่ตอบโจทย์สาวๆ ที่มีรูปร่างหลากหลาย แต่เมื่อได้พูดคุยกับ เซน–ธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ และ ปันปัน–ปานไพลิน พิพัฒนสกุล เราได้พบว่า SHE SKOWS เป็น Sustainable Brand ต่างหาก

     แล้ว 2 เรื่องนี้มาบรรจบกันในแบรนด์เดียวได้อย่างไร ไปดูกัน

พลิก Fast Fashion สู่ก้าวแรกของ Sustainable Brand

      เริ่มแรก SHE KNOWS ผลิตเสื้อผ้าที่เป็น Fast Fashion ทำแบบเน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ แต่ขายได้เร็ว ตอบสนองสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในตอนนั้นเหมือนกับแบรนด์แฟชั่นที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด

     “ช่วงนั้นมักจะมีงานอีเวนต์ต่างๆ เซนกับปันปันก็ไปขายของ จะมีจังหวะที่เรายืนมองในรอบๆ แล้วเห็นว่าเสื้อผ้ามันเยอะมาก ของที่เหมือนกับเราถ้าขายไม่ได้มันจะไปไหนต่อ” ปันปันเล่าถึงจังหวะที่ทำให้พวกเธอคิดอยากเปลี่ยนแปลง

     เซนเองก็รู้สึกผิดเพราะ SHE KNOWS ก็ไม่ต่าง เธอรู้อยู่แก่ใจว่าตะเข็บไม่ดี ผ้าไม่ได้คุณภาพดีนัก และกระบวนการผลิตก็เป็นแบบเย็บโหลในราคาตัวละ 10-20 บาท

     “มี 2 ประเด็นคือ 1. เราไม่พอใจกับสินค้าของเราเอง เราไม่ใส่สินค้าของเราเอง และ 2. เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เรามองเห็นว่าขยะมันเยอะมากๆ ของพวกนี้จะกลายเป็นขยะภายใน 2-3 เดือน เพราะว่าผู้บริโภคสมัยนี้ใส่รอบเดียวก็ทิ้งแล้วหรือเอาไปบริจาค โดยหวังว่ามันจะถูกกำจัดหรือนำไปรีไซเคิล แต่มันไม่ใช่แบบนั้น ทำให้ตัดสินใจว่าเราจะมารีแบรนด์ทุกอย่างแล้วทำทุกอย่างใหม่หมดเลย”

3 เหลี่ยมแห่งความยั่งยืน

     เริ่มจากการปรับเปลี่ยนผ้าและคุณภาพการตัดเย็บ จากที่เคยใช้ช่างเย็บโหลตัวละ 10-20 บาทเปลี่ยนมาใช้ช่างฝีมือระดับ Tailor Made ที่เคยตัดเย็บสูทมาก่อน ส่วนผ้าที่เคยใช้ High Impact Fiber ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้ผ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำลง อย่าง ผ้ารีไซเคิลหรือผ้าออแกนิกคอตตอน แม้จะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์เพราะยังต้องใช้ผ้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงอยู่บ้างเพราะทน ลูกค้าสามารถใส่ซ้ำได้หลายปี เมื่อเทียบกันแล้วหากใช้ผ้าที่รักษ์โลกที่มีนิ่มเกินไปไม่เหมาะกับโปรดักต์ เช่น กางเกง ลูกค้าใส่ไปแค่ 2-3 ครั้งก็ย้วยแล้วกลายเป็นขยะในเวลาไม่นาน

     “เราอยากเปลี่ยนทุกอย่าง ถ้าเป็นไปได้ทุกเรื่องที่เราแตะต้อง Sustainable จริงๆ และมันต้องสร้างผลกระทบที่ดีด้วย” เซนบอกอย่างนั้น ซึ่ง 3 เรื่องที่พวกเธอให้ความสำคัญมาก คือ ลูกค้า สิ่งแวดล้อม และช่าง

    “เรื่องแรกคือ ช่าง เราจ้างในราคาที่เขาอยู่ได้ อยากให้เขาได้รับเงินที่เขาพอใจและเรายินดีจะจ่ายไม่เอาเปรียบกันและกัน เราไม่เชื่อในธุรกิจที่เหยียบหัวคนอื่น เราพยายามที่จะทำธุรกิจที่เราภูมิใจดีกว่า

     สอง คือ สิ่งแวดล้อม เราพยายามใช้ผ้า Low Impact ถ้าเป็นไปได้ใช้ผ้ารีไซเคิลจะดีที่สุด และเราคิดว่าจะรับเอาเสื้อผ้ากลับมาซ่อมไหม รับคืนมารีไซเคิลได้หรือเปล่า

     และสุดท้าย ลูกค้า เราอยากให้ลูกค้าได้สินค้าที่รักษ์โลกไปในราคาที่สมเหตุสมผล เซนเข้าใจนะว่ากางเกงตัวละ 1,400 บาทไม่ได้ถูก แต่ถ้าเทียบกับคุณภาพที่เราให้ กล้าการันตีได้ว่าสินค้าของเราเนี้ยบพอๆ กับราคา 3,000-4,000 บาทในท้องตลาด ต้นทุนผ้าเราสูงกว่าแฟชั่นในราคาเดียวกันมากๆ เราพยายามให้ลูกค้าได้ซื้อในราคาที่สบายกระเป๋าขึ้น”

สร้างสมดุลของการทำธุรกิจและการใส่ใจสิ่งแวดล้อม          

     Essential หรือ หัวใจของแบรนด์ SHE KNOWS คือการผลิตเสื้อผ้าคุณภาพที่ดี ทั้งแพทเทิร์นและคัตติ้ง แต่เมื่อมีลูกค้าเดินเข้ามาที่ร้านแล้วไม่สามารถสวมใส่เสื้อผ้าของพวกเธอได้ ซึ่งปันปันบอกว่า “จังหวะนั้นเรารู้สึกละอายใจเพราะตอนนั้นเราพูดไว้ว่า ไซส์นี้เป็นฟรีไซส์ค่ะ ทุกหุ่นใส่ได้ เซนกับปันก็คิดว่านั่นเป็นความผิดเราที่ทำให้ลูกค้าเสียความมั่นใจ”

     เซนเสริมว่า “เราอยากให้ทุกคนใส่แล้วสวย และอีกอย่างคือระหว่างไซส์ ตอนนั้นเราทำกางเกงเอว 24 นิ้ว แล้วก็ 26 นิ้ว แล้วปันปันเขาเอว 25 นิ้วก็คิดว่าไม่เป็นไร หยิบตัวเอว 26 นิ้วไปเอาเอวเข้านิ้วนึงก็ได้ แต่ทำไมคนที่เอว 25 นิ้วต้องเสียตังค์แก้กางเกงเพิ่มล่ะ มันไม่ใช่ความผิดเขา เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่าเราแก้ไขตรงนี้แล้วกัน ลงทุนตรงนี้ ทำไซส์เพิ่มจนตอนนี้มี 18 ไซส์”

    จะว่าไปแล้วการผลิตเสื้อผ้าที่มีไซส์ให้เลือกเยอะมากดูไม่ใช่ทิศทางเดียวกันกับความเป็น Sustainable Brand สักเท่าไร จึงเป็นเรื่องที่ทั้งสองสาวต้องสร้างสมดุลระหว่างความพึงพอใจของลูกค้า สิ่งแวดล้อม และการทำธุรกิจ เพราะแน่นอนว่าการผลิตจำนวนมากขนาดนี้ย่อมต้องแบกความเสี่ยงเรื่องสต็อกสินค้าและต้นทุน

     “เราพยายามเลือกผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พยายามขายให้หมดไม่ค้างสต็อก และในแง่ธุรกิจนั่นเป็นเหตุผลที่เราพยายามขายในราคาที่เราขายได้เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่ต้องผลิตสต็อกจำนวนมาก ซึ่งเราไม่มีทางมีกำไรเท่ากับแบรนด์อื่นๆ ที่ขายราคาเท่ากันในตอนนี้ และไม่มีทางเท่า Sustainable Fashion อื่นที่ขายในราคา 3,000-4,000 บาท แต่ถึงแม้จะได้ส่วนต่างกำไรค่อนข้างน้อยเราก็อยากจะซื่อตรงกับเรื่องความยั่งยืนด้วย เราไม่อยากเสียสละสักอย่าง”

เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า

     ถึงจะมีความตั้งใจปรับแบรนด์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่การพลิกแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ คงไม่มีต้นทุนมากพอจะเปลี่ยนทุกอย่างได้ภายในชั่วข้ามคืน แต่ใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มสินค้าแบบใหม่ทดแทนแบบเดิม ทั้ง 2 สาวมีความรู้เรื่องแฟชั่น เรื่องการผลิตเสื้อผ้ามามากกว่า 5 ปีจากประสบการณ์ทำแบรนด์ที่ชื่อว่า Motif มาจนถึง SHE KNOWS แต่ Sustainability ยังเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเธอต้องค่อยๆ ศึกษา และค่อยๆ ทำไป รวมถึงสื่อสารสิ่งที่กำลังทำให้ลูกค้ารับรู้ไปพร้อมกัน

     “ถ้าลูกค้าเคยชอบเราอยู่แล้วเขาจะชอบเรามากขึ้น” เซนบอกว่าลูกค้าของ SHE KNOWS เป็นคนกลุ่มเดิมที่ชื่นชอบดีไซน์ของแบรนด์มาตั้งแต่แรกแล้วโตไปด้วยกัน

     “เราค่อยๆ เปลี่ยนให้ดีขึ้นทีละนิด พอสินค้าล็อตเดิมหมดอันไหนเปลี่ยนได้เราก็เปลี่ยนแล้วบอกลูกค้าว่าเราเปลี่ยนแล้วนะ ทำให้รู้ว่าเพราะการสนับสนุนของพวกเขาทำให้เราสามารถจ่ายให้กับผ้าพวกนี้ได้ การที่เราพูดเรื่อง sustainable ออกไปเราไม่ได้คาดหวังว่าลูกค้า 100 เปอร์เซ็นต์จะซื้อแบรนด์เราแบรนด์เดียว เพราะฉะนั้นก็เหมือนเป็นการให้ข้อมูลลูกค้าว่าบางทีสิ่งที่เขาเห็นข้างนอกทุกวันนี้ ตัวละ 300-400 บาทมันไม่ยั่งยืนเขากำลังสนับสนุนธุรกิจแบบนี้อยู่ แล้วถ้าเขาสนับสนุนธุรกิจของเราก็จะทำให้ดีที่สุด ที่จะ Make a Positive Impact ให้กับลูกค้า ให้กับช่าง และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่ธุรกิจเล็กๆ นี้จะทำได้”

     ล่าสุด SHE KNOWS ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมทำเพื่อโลก ด้วยการแบ่ง 1 เปอร์เซ็นต์ของกำไร บริจาคกลับไปสมทบทุนฟื้นฟูโลกผ่านเว็บไซต์ Ecology ด้วยความช่วยเหลือของลูกค้าปีที่แล้ว SHE KNOWS สามารถปลูกต้นไม้ไปแล้ว 1,308 ต้นในหลายพื้นที่รอบโลก ทั้งเอธิโอเปียหรือแม้แต่ที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ Ecology

     ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงระหว่างการเดินทางสู่ความยั่งยืนของ SHE KNOWS แต่นี่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่เซนกับปันปันอยากทำ ปีนี้เราจะได้เห็นเว็บไซต์โฉมใหม่ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของระบบ Circular System อย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากการผลิตและจำหน่ายแล้ว จะมีการรับแก้ รีไซเคิล และขายสินค้ามือสองด้วย

Text : รุจรดา วัฒนาโกศัย
photo: SHE KNOWS


ข้อมูลติดต่อ SHE KNOWS

Facebook: www.facebook.com/sheknowsofficial

Instagram: sheknowsofficial

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก