ทายาทงัดสูตรลับประจำตระกูล เต้าหู้ยูนนาน สู่สินค้าส่งออกซิดนีย์ในปีเดียว

Text: จีราวัฒน์ คงแก้ว

 Photo: เจษฏา ยอดสุรางค์

 

     หลังสถานการณ์โควิดทำให้ร้านอาหารทะเลขวัญใจชาวต่างชาติ Aloha Hot & Juicy ที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว “แนน-ปานรดา ปัญญาอธิสิน” ผู้ประกอบการนักคิด จึงตัดสินใจฟื้นสูตรลับประจำตระกูลกว่า 70 ปี มาแจ้งเกิด “เต้าหู้ยูนนาน”​ (Yunnan Tofu) แบรนด์เต้าหู้น้องใหม่ที่ขายดิบขายดีในออนไลน์ มีหน้าร้านทั้งในกรุงเทพและตัวแทนจำหน่ายในภูเก็ต เพียงปีเดียวสามารถส่งขายได้ทั่วไทย และไปไกลถึง ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

     ภาพผลิตภัณฑ์เส้นเต้าหู้ แบรนด์เต้าหู้ยูนนาน ที่ถ่ายคู่สัญลักษณ์ของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในเพจเฟซบุ๊ก เต้าหู้ยูนนาน สะท้อนความไม่ธรรมดาของแบรนด์น้องใหม่ ที่แจ้งเกิดในตลาดพร้อมกับโควิด-19 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลงานของผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในธุรกิจอาหารมาหลายปี โดยเริ่มจากขายหมูปิ้งในตลาดนัดรถไฟใช้ชื่อ “หมูปิ้งแม่หมู” เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน และเคยออกรายการดังมาแล้ว ก่อนจะเป็นที่รู้จักอีกครั้งหลังมาเปิดร้านอาหารทะเลในชื่อ Aloha Hot & Juicy ที่เริ่มจากตลาดนัด ART BOX  ก่อนย้ายมา เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา

     ก่อนเกิดวิกฤตไวรัส ธุรกิจขายดิบขายดี จนมาหยุดชะงักลงเพราะสถานการณ์โควิด ปานรดา เลยใช้เวลาว่างทั้งหมดที่มี มามองหาธุรกิจใหม่ จนได้คำตอบเป็นมรดกใกล้ตัวอย่าง “เต้าหู้”   

     “มานั่งคิดว่าจะขายอะไรดีในสถานการณ์แบบนี้ พบว่าที่บ้านเคยทำเต้าหู้สูตรยูนนานมาก่อน แต่ขาดช่วงไปนานเพราะไม่มีใครมาสานต่อ คุณพ่อเองก็จำได้ลางๆ เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมจนเจอว่า เต้าหู้สูตรยูนนานยังไม่ค่อยมีคนทำเท่าไร จึงมาลองทำดู เป็นเต้าหู้สูตรยูนนานที่ใช้กรรมวิธีผลิตแบบดั้งเดิม และทำจากถั่วเหลือง​ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ผสมแป้ง ไม่ใส่สารกันบูด เต้าหู้จะไม่แข็งและไม่อ่อนจนเกินไป เหมาะกับการทอด มีความกรอบนอกส่วนเนื้อสัมผัสด้านในจะคล้ายๆ ชีส นุ่ม อร่อย แม้ทานเปล่าๆ” เธอบอกความอร่อยจากสูตรลับประจำตระกูลที่กลายมาเป็นโอกาสธุรกิจใหม่

     เพราะต้องการจะรักษาความเป็นสูตรดั้งเดิมและธรรมชาติของการทำเต้าหู้ยูนนานไว้ เลยเลือกกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ใช้เครื่องจักร แม้ในตลาดจะมีเครื่องผลิตเต้าหู้ที่ทำได้ง่ายๆ อยู่มากมายก็ตาม โดยเธอยังคงเน้นการผลิตแบบโฮมเมดเป็นหลัก ปานรดาให้เหตุผลแบบคนทำธุรกิจว่า เลือกวิธีนี้เพราะ “เลียนแบบยาก”  

     “ด้วยความที่ทำธุรกิจ เลยมองเห็นว่า ถ้าเราทำของยาก คนจะเลียนแบบน้อย เราก็จะมีจุดขาย ถามว่าขายได้เยอะไหมมันอาจจะไม่ได้เยอะมาก เพราะเราเองยังทำกันในครอบครัว และใช้คนน้อยอยู่ จึงยังผลิตได้จำกัด โดยเริ่มต้นเราผลิตได้ที่ประมาณ 80 แพ็กต่อวัน ปัจจุบันผลิตได้ที่เกือบ 300 แพ็กต่อวัน ส่วนหนึ่งมีขายที่หน้าร้านของเราเองด้วย ส่วนยอดขายออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เธอเล่า

     ปัจจุบันแบรนด์เต้าหู้ยูนนาน มีวางขายที่หน้าร้านตรง ซอยชินเขต ถ.งามวงศ์วาน และตลาดรวมทรัพย์ อโศก ต่างจังหวัดมีฝากขายที่หน้าร้านตรง ถ.สุรินทร์ ซ.5 อ.เมือง จ.ภูเก็ต ส่วนช่องทางออนไลน์ขายผ่านเพจเฟซบุ๊ก YunNan ToFu พร้อมส่งทั่วประเทศ โดยกรุงเทพ คิดค่าส่งตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 59 บาท ส่วนต่างจังหวัด เริ่มต้น 120 บาท เพราะต้องส่งโดยรถควบคุมอุณหภูมิ     

            

     จากเต้าหู้ยูนนานสูตรดั้งเดิม ก็เริ่มพัฒนามาสู่สูตรฟักทองญี่ปุ่น และสาหร่ายวากาเมะ ผลิตภัณฑ์เส้นเต้าหู้ ฟองเต้าหู้สด และฟองเต้าหู้แห้ง เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้า ใช้ความจริงใจ เรียนรู้ ปรับปรุงพัฒนา ค่อยๆ ขยับขยายฐานคนรักเต้าหู้ยูนนานที่เริ่มจากกลุ่มเพื่อนฝูงและบอกต่อปากต่อปาก จนฐานแฟนคลับเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าที่ซื้อไปต่างประเทศด้วย และนั่นเองที่ทำให้ปานรดาเห็นโอกาสทำตลาดในอนาคต

     “ปัจจุบันสินค้าของเรามีไปต่างประเทศด้วย โดยลูกค้ามาซื้อไปอีกที ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากตัวเต้าหู้เส้นอยู่ เพราะมองเห็นโอกาสตอนที่ไปอเมริกา พบว่า การทานมังสวิรัติ (vegan) ของเขาค่อนข้างไปไกลกว่าเรามาก รวมถึงเทรนด์แพลนเบสต่างๆ จึงยังเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์อย่างเราในอนาคต อย่างพวกกากถั่วเหลือเอง ยังสามารถพัฒนาไปได้อีก ซึ่งเรามีอยู่เยอะมาก แต่คงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เป้าหมายในฝันก็อยากมีโรงงานใหญ่ๆ ชั้นวางสินค้าในห้างฯ มีแบรนด์ยูนนานอยู่เต็มเชลฟ์ แล้วคนก็หยิบไป แต่ก็คงเป็นได้แค่ฝันไปก่อน เพราะเราไม่ได้มีกำลังเยอะขนาดนั้น และถ้าสเกลใหญ่ขึ้นจริงๆ ก็ยังกังวลเรื่องคุณภาพอยู่ เอาเป็นว่า ตอนนี้ขอแค่ลูกค้าชอบสินค้าของเรา ทานแล้วบอกว่าอร่อยไม่เหมือนของคนอื่น มีจุดวางขายให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ทำเท่าที่เราไหว ลูกค้ากลับมาแล้วบอกต่อ จนเราค่อยๆ เติบโตขึ้นทีละนิดๆ เท่านี้ก็ดีที่สุดแล้ว” เธอบอก

     ปานรดาเป็นผู้ประกอบการที่ชอบอยู่หลังบ้าน เธอชอบทำงานฝ่ายผลิตเป็นหลัก และยอมรับว่าอาจตอบคำถามเรื่องการตลาดได้ไม่ดีเท่าทีมงานที่ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ เธอชอบเรื่องผลิต เพราะมองว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ก็ถ้าเริ่มจากทำของไม่ดี ธุรกิจคงไปได้ไม่ไกล ฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไร ก็อยากให้ “คุณภาพดีที่สุด”

Did You Know     

     “เต้าหู้ยูนนาน” เลือกใช้ชื่อแบรนด์ที่แสนจะธรรมดาและตรงตัวที่สุด เพราะมองว่าคนได้ยินแล้วจะจดจำได้ทันที รู้ว่าเป็นสินค้าอะไร ชัดเจนว่าเป็นสูตรยูนนานขนานแท้ ที่สำคัญหากจะมีใครทำสินค้าที่เหมือนกันตามมาหลังจากนี้ หรือจะขายความเป็นเต้าหู้สูตรยูนนาน ยังไงทุกคำโฆษณา ทุกจุดขาย ก็จะย้อนกลับมาเป็นผลดีให้กับ “เต้าหู้ยูนนาน” แบรนด์ของพวกเขาอยู่ดี เหมือนมีคนมาช่วยขายเสียด้วยซ้ำ    

FB : YunNan ToFu (www.facebook.com/yunnantofu)

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก