“Molto” คราฟต์ไอศกรีมราคาเหยียบพัน ที่ลูกค้ายอมจ่ายตั้งแต่ยังไม่ได้ลองชิม

TEXT :    นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : Molto Premium Gelato






        จากการทำธุรกิจไอศกรีมแบบ B2B ให้กับโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ มานานกว่า 8 ปี แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้นมาทำให้ยอดขายจากลูกค้าหลายแห่งต้องหยุดชะงักลง บางที่ต้องปิดกิจการลงชั่วคราว จึงทำให้ ธฤษณุ คมโนภาส เจ้าของธุรกิจไอศกรีมเจลาโต้พรีเมียมสัญชาติไทยต้องคิดทบทวนหาทางออก จนกลายเป็นที่มาของโมเดลธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต สร้างอีกหนึ่งประสบการณ์ทางเลือกของการสั่งซื้อไอศกรีมมารับประทานที่บ้านให้กับผู้บริโภคชาวไทย ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Molto Premium Gelato”
 

ตอบโจทย์ความต้องการที่ยังไม่มีใครทำ
 
               
       “พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าโรงแรมและร้านอาหารลดลงเยอะมาก  เพราะเขาเองก็ขายไม่ได้ ทำให้เราต้องมาทบทวนธุรกิจใหม่ว่าจะไปต่อทางไหนดี ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคตอนนั้นที่ส่วนใหญ่นิยมสั่งซื้ออาหารเครื่องดื่มมารับประทานที่บ้านเป็นจำนวนมาก เพราะออกนอกบ้านไม่ได้ จึงทำให้เรามองเห็นว่าน่าจะลองสร้างแบรนด์ไอศกรีมที่ให้บริการจัดส่งถึงหน้าบ้านขึ้นมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภค เพราะโดยปกติก็มักไม่ค่อยมีใครซื้อไอศกรีมกลับมารับประทานที่บ้านกันอยู่แล้ว เหตุผลเพราะว่าละลายบ้าง คุณภาพไม่อร่อยเหมือนกินที่ร้านบ้าง เลยคิดว่าถ้าสามารถให้บริการตรงนี้ขึ้นมาได้น่าจะช่วยตอบโจทย์ให้กับหลายๆ คนได้ที่อยากมีไอศกรีมคุณภาพดีๆ อยู่ในระดับท็อปแช่เก็บไว้ในตู้เย็นที่บ้านได้ โดยมีรถห้องเย็นขับไปส่งถึงหน้าบ้านเลย” ธฤษณุเล่าที่มาของไอเดียโมเดลธุรกิจใหม่ให้ฟัง
               

       จากการรับผลิตไอศกรีมตามออร์เดอร์ให้กับโรงแรมและร้านอาหาร เมื่อต้องเปลี่ยนมาเป็นการสร้างแบรนด์เพื่อผลิตไอศกรีมให้กับผู้บริโภคโดยตรง ธฤษณุเล่าถึงความยากว่าเขาต้องฉีกตัวเองออกจากกรอบหมดทุกอย่าง ตั้งแต่การดีไซน์รสชาติให้มีความวาไรตี้และหลากหลายมากขึ้น ไปจนถึงการเฟ้นหาวัตถุดิบคุณภาพดีจากแหล่งผลิตทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้เอาชนะใจลูกค้าได้



               

      “โจทย์ของ Molto คือ เราอยากทำไอศกรีมที่พรีเมียมขึ้น อร่อยขึ้น โดยใช้วัตถุดิบที่ดันเพดานด้านต้นทุนขึ้นไปอีก เพื่อให้สามารถทำไอศกรีมที่ให้คนชอบและอร่อยได้เต็มที่มากขึ้น”
               

        หากจะว่าไปแล้วจริงๆ โมเดลธุรกิจที่ธฤษณุคิดขึ้นมาใหม่นั้น อาจไม่ได้มีเขาทำขึ้นมาเป็นรายแรก เพียงแต่ส่วนใหญ่แล้วที่มีอยู่ในตลาดมักเป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีร้านสาขากระจายไปทั่วประเทศ แต่สำหรับแบรนด์คราฟต์ไอศกรีมเล็กๆ เรียกว่าอาจมีอยู่น้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะขนส่งจากจุดๆ เดียวเพื่อกระจายสินค้าออกไปทั่วประเทศได้
               

       โดยการบริหารการจัดส่งนั้นธฤษณุใช้วิธีเซ็ตทีมขนส่งจากภายนอกเข้ามา โดยเขาจะเป็นผู้ควบคุมระบบและบริหารจัดการเอง ซึ่งในแต่ละวันจะมีการสรุปยอดสั่งซื้อจากลูกค้า หลังจากนั้นจึงค่อยนำมาวางแผนการจัดส่งและคำนวณเส้นทางเพื่อส่งมอบไอศกรีมให้กับลูกค้าในวันถัดไป โดยราคาไอศกรีมของ Molto Premium Gelato จะอยู่ที่ 4 ถ้วย (ขนาด 16 ออนซ์) 999 บาท จัดส่งฟรีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ต่างจังหวัดบวกเพิ่มค่าขนส่ง 150 บาท) โดยปัจจุบันขายผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ ได้แก่ Facebook, Line@ และอนาคตจะมีแอปพลิเคชั่นของตัวเองด้วย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเก็บสะสมแต้มคะแนนได้



 

สร้างความว้าว! ออกรสใหม่ให้เลือกทุกเดือน
 

      นอกจากความยากของการบริหารจัดการแล้ว เนื่องจากเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่และยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากนัก  ธฤษณุเล่าว่าอีกหนึ่งความยากในการทำธุรกิจของเขา ก็คือ ทำยังไงให้ลูกค้าที่ยังไม่เคยได้ทดลองชิมรสชาติไอศกรีมของเราเลย สามารถตัดสินใจสั่งซื้อได้ในราคาที่เกือบหลักพันบาท
               

       “ความยากที่สุดในการทำธุรกิจของเรา ก็คือ เรากำลังจะขายสินค้าราคาอีกไม่กี่บาทก็ถึงพันแล้วให้กับลูกค้าโดยที่เขาไม่ได้ทดลองชิมด้วยซ้ำ เราจะทำยังไงให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นได้ให้รู้สึกว่าสั่งมากินแล้วอร่อย คุ้มค่า นี่คือ สิ่งที่เราต้องเจอและเป็นโจทย์หินที่สุด ซึ่งช่วงเดือนแรกขายได้ไม่ถึง 30 เซ็ตด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายด้วยการบอกต่อ ทำให้ทุกวันนี้เรามีลูกค้าเริ่มรู้จักเยอะขึ้น ถึงจะยังไม่มากเท่าไหร่นัก แต่ก็อยู่ในจุดที่เราพอใจ”
               

        ซึ่งหากไม่นับถึงความเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ อีกหนึ่งอย่างที่ถือเป็นจุดเด่นของธุรกิจไอศกรีม Molto Premium Gelato ก็คือ ความหลากหลายของรสชาติ ซึ่งมีออกมาใหม่เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ผู้บริโภคได้สนุกกับรสชาติวาไรตี้ใหม่ๆ  ได้แบบไม่จำเจ



               

       “ในทุกๆ เดือนเราจะมีรสชาติใหม่ออกมาให้ลูกค้าได้เลือกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4 รสชาติด้วยกัน เป็นโจทย์ที่เราตั้งไว้เลยตั้งแต่แรก บางเดือนถ้าไอเดียบรรเจิดออกมา 7- 8 รสเลยก็มี ซึ่งนับมาจนถึงทุกวันนี้เราลองผลิตออกมาแล้วประมาณ 70 - 80 รสด้วยกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกเดือนเราจะต้องทำทั้งหมดทุกรสชาติ จะมีรสยอดนิยมที่เป็นรสชาติประจำอยู่ และก็รสออกใหม่ด้วย เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อและได้ทดลองรสชาติใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยไอศกรีมเจลาโต้ของเราจะเป็นรสชาติที่ถูกปากคนไทย คือ หวานน้อย กินเท่าไหร่ก็ไม่เลี่ยน
               

       “เคยมีหลายครั้งสั่งลงไลน์การผลิตไปแล้ว แต่ผมมาเปลี่ยนเอาวินาทีสุดท้ายต้องทิ้งของที่เตรียมไว้ทั้งหมดก็มี เหตุผลเป็นเพราะเราอยากให้ลูกค้าได้ตักชิมไอศกรีมของเราแล้ว คำแรกก็สามารถจดจำเราได้เลย โดยรสชาติไอศกรีมของเราจะเป็นไอศกรีมที่ชัดเจน เข้าใจง่าย สื่อสารแบบตรงไปตรงมาเลยว่าเรากำลังทำรสอะไรอยู่  ชาไทยก็ชาไทยเต็มๆ เข้มข้นไปเลย โดยเราพยายามคัดสรรและเลือกใช้วัตถุดิบชั้นดีจากทุกมุมโลก เพื่อรังสรรค์เป็นรสชาติสุดพิเศษออกมา อย่างวนิลาก็มาจากมาดากัสก้า โยเกิร์ตเรานำเข้าจากอิตาลี หรืออย่างในไทยเองเราก็ใช้ ล่าสุด คือ มะยงชิดซึ่งเป็นอีกหนึ่งสุดยอดผลไม้ที่มีรสชาติดีและราคาค่อนข้างสูง เราก็นำมาใช้”



 

รู้จัก - เข้าใจ เคล็ดลับรังสรรค์รสชาติสุดพิเศษ
 
               
      เห็นทำไอศกรีมออกมาหลากหลายรสชาติให้เลือกแบบนี้ แต่ธฤษณุเล่าว่าทุกครั้งก่อนที่จะผลิตไอศกรีมออกมา เขาจะต้องทำความรู้จักและเข้าใจถึงที่มารสชาติความอร่อยของวัตถุดิบแต่ละอย่างให้ถ่องแท้ก่อน
               

        “ก่อนที่จะทำไอศกรีมออกมาสักรสหนึ่ง ผมต้องรู้ให้ได้ก่อนว่ารสชาตินั้นๆ ที่เรียกว่าอร่อย จริงๆ แล้ว คือ รูปแบบไหน อย่างรสชาเขียวจริงๆ แล้วถึงจะเป็นอีกหนึ่งรสยอดนิยม แต่ก็เพิ่งเริ่มทำออกมาได้มานาน เพราะจริงๆ แล้วผมเป็นคนไม่กินชาเขียวใส่นมเลย จึงไม่รู้ว่ารสชาติที่คนอื่นๆ รู้สึกเพลิดเพลินหรืออร่อยจากชาเขียว คือ รสชาติแบบไหน จนสุดท้ายก็ทดลองชิมไปเรื่อยๆ เป็นหลายสิบร้าน จนไปเจอร้านกาแฟร้านหนึ่งที่ต่างประเทศ แล้วรู้สึกว่า นี่แหละใช่เลย ความอร่อยของชาเขียวต้องแบบนี้  เลยกลับมาทำไอศกรีมชาเขียวแบบนั้นออกมา หรือรสส้มยูสุก็เช่นกัน ผมก็ทดลองชิมไปเรื่อยๆ จนไปเจอร้านอร่อยที่สิงคโปร์เลยรู้สึกรสชาติอร่อยต้องสดชื่นแบบนี้นะ สุดท้ายขอเขาเข้าไปดูในครัว จนรู้ต้นตอยูสุที่อร่อย เลยนำกลับมาทำเป็นรสชาติไอศกรีมออกมา ผมว่าจริงๆ วัตถุดิบทุกอย่างมีความอร่อยในตัวเอง เพียงแต่เราต้องสื่อสารออกมาให้ถูกต้องว่าอร่อยยังไง”



               

       สุดท้ายกับเป้าหมายโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตั้งใจไว้ธฤษณุกล่าวเพียงสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า
               

       “จริงๆ เราแค่อยากทำไอศกรีมที่อร่อยและสร้างรูปแบบการกินไอศกรีมที่บ้านขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคคนไทยจะได้มีของหวานติดตู้เย็นไว้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง ซึ่งจากเมื่อก่อนเป็นเรื่องยากมากที่เราจะซื้อไอศกรีมที่ยังคงคุณภาพดีๆ เหมือนกินอยู่ที่ร้านกลับมาที่บ้านได้ และจริงๆ ทุกคนก็ชื่นชอบการกินไอศกรีมกันอยู่แล้ว ทุกเพศทุกวัยไม่ว่าใครก็ตาม” ธฤษณุกล่าวทิ้งท้าย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน