ซอสกะปิ “เคยนิคะ” ไอเดียทายาทธุรกิจโรงงานกะปิพัทลุง สร้างตลาดใหม่จากรากเหง้าสู่โกลบอล

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ซอสเคยนิคะ





      นี่คือเรื่องราวของอดีตเด็กนอกที่ไปเรียนและทำงานอยู่ประเทศอังกฤษมาประมาณ 7 ปี วันนี้เธอกลับบ้านเกิดที่ จ.พัทลุง เพื่อต่อยอดธุรกิจผลิตกะปิของครอบครัวที่ทำมาหลายสิบปี สู่นวัตกรรมซอสกะปิและน้ำปลาหวาน ในชื่อแบรนด์ “เคยนิคะ” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกะปิใต้ พร้อมตอบรับวิถีชีวิตใหม่ของคนยุคนี้  
               
               
เมื่อเด็กนอกถึงเวลากลับบ้านนอกมาทำธุรกิจ


      ตอนอายุประมาณ 27 ปี “สุขศิริ​ ฤทธิเดช” ทายาทรุ่น 3 โรงงานผลิตกะปิ จ.พัทลุง ที่รู้จักกันในชื่อ “กะปิแม่ยินดี” ได้เดินทางไปประเทศอังกฤษ เธอเรียนภาษาและเริ่มต้นทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างแดน เคยทำงานร้านอาหาร เป็นล่ามแปลภาษา ทำอีเวนต์งานแต่งในโรงแรม และเคยมีบริษัทคอนซัลต์ของตัวเองมาแล้ว   


        จนวันหนึ่งที่ตัดสินใจกลับบ้าน เธอหันมาดูธุรกิจของครอบครัว ที่เริ่มต้นจาก คุณยาย “ยินดี สุวรรณจำรูญ” อดีตแม่ค้าขายข้าวแกงที่คุ้นเคยกับกะปิมากว่า 30 ปี ที่มาของชื่อแบรนด์ “กะปิแม่ยินดี” ต่อยอดโดยคุณแม่ “กัลยา ดวงสุวรรณ” ที่ช่วยกันผลิตกะปิสูตรคุณยาย ซึ่งเป็นกะปิขัดน้ำกรรมวิธีแบบโบราณ ตั้งแต่ใส่กาละมังตักขาย จนมาใส่กระปุกแปะแบรนด์แม่ยินดี และมีโรงงานของตัวเองในเวลาต่อมา แม้จะรู้ว่ากะปิของครอบครัวอร่อยไม่แพ้ใคร แต่ทายาทอย่างเธอรู้ดีว่าตลาดนี้ไม่หมู ยังมีโจทย์หินให้ฟันฝ่าอยู่รอบด้าน





      “เรารู้ว่าตลาดกะปิที่อร่อยยังมีช่องว่างอยู่ นั่นคือมันยังไม่มีมาตรฐาน ส่วนใหญ่ยังทำกันอยู่ในครัวเรือน ฉะนั้นเราจะมาทำกะปิของเราให้มีมาตรฐาน โดยทำเป็นโรงงานและจดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นมา ใช้ชื่อ หจก.เคยนิคะ ซึ่งกะปิในภาษาใต้เราจะเรียกว่าเคย แล้วกะปิก็ทำมาจากตัวเคย (กุ้งเคย) เราเลยใช้คำว่า เคยนิคะ เพื่อบอกว่า นี่ค่ะกะปิ นี่คือกะปิอร่อย เป็น 3 คำ 3 พยางค์ ที่เข้าปากได้พอดี” เธอเล่า  
 

      ปัญหาเกิดเมื่อคิดการณ์ใหญ่ อยากจะเอาสินค้าเข้าไปในห้างฯ อยากจะขายในตลาดโมเดิร์นเทรดกับเขาบ้าง เธอบอกว่า ยังมีเงื่อนไข และข้อจำกัดอีกเยอะมาก ที่กะปิแบบเดิมๆ ไม่สามารถเข้าไปทำตลาดได้


      “ถ้าเราจะเข้าห้างฯ มันยังมีเงื่อนไขอะไรอีกเยอะมาก กะปิเราเป็นกะปิที่ค่อนข้างพรีเมียม เป็นกะปิราคาแพงคนก็ไม่ซื้อ เข้าห้างฯ ไม่ได้ ทีนี้โจทย์เลยตีกลับมาที่ตัวเราเองว่า แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะไม่ต้องไปเหนื่อยกับตรงนั้น เราก็ต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ เราจะสร้างพฤติกรรม สร้างบรรทัดฐานใหม่ เลยเริ่มไปศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค มีการสอบถามกันจริงๆ จังๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมที่ผ่านมารสชาติของกะปิหายไปจากเมนูหลายๆ เมนู ก็พบว่าเพราะทุกคนคิดว่ากะปิมันทำยาก ใช้ยาก อยากจะกินต้องไปที่ร้านอาหารเท่านั้น  แล้วก็มาบวกกับพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เขาไม่ชอบกะปิเพราะกลิ่นเหม็น เราก็เลยนำโจทย์นี้มาคิดเป็นของที่มีนวัตกรรม และมีความว้าวขึ้น เลยเป็นที่มาของ ซอสกะปิ”



 

เอากะปิออกจากกระปุก แต่งตัวใหม่ให้ ง่าย อร่อย สะดวก


       สุขศิริ ไม่ได้เลือกทำของใหม่ แต่ใช้การต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่มาสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบรับวิถีชีวิตของคนยุคนี้มากขึ้น เธอใช้แนวคิด “เอากะปิ ออกจากกระปุก” โดยใช้การลองผิดลองถูก และทดลองสูตรด้วยตัวเอง จนสามารถแปลงร่างกะปิมาเป็นซอส เพื่อตอบโจทย์การทำอาหารที่ง่าย หลากหลาย รสชาติอร่อย เอาอยู่ทุกเมนูด้วยซอสเดียว ถึงขนาดที่มีเชฟเอาซอสของพวกเธอไปทำอาหารฝรั่งมาแล้วด้วย


      “รสชาติซอสเคยนิคะ มาจากกะปิแม่ยินดี เพราะฉะนั้นรสชาติเราจะไม่เปลี่ยน แต่จะต้องทำให้ดีกว่าเดิม โจทย์ของเราคือ เราจะไม่ทิ้งคุณยายไว้ข้างหลัง เพราะนี่คือรากเหง้าของเรา เราจะไม่ทิ้งรากเหง้าของเราเอง เพียงแต่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้มากขึ้น ซึ่งซอสกะปิแตกต่างจากกะปิที่มีอยู่คือ ใช้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเหมาะกับคนยุคใหม่ จากเดิมที่เมนูกะปิหลายๆ เมนูมันหายไป เช่น กุ้งผัดสะตอที่ใส่กะปิ ทุกคนไม่ค่อยทำเพราะมีความรู้สึกว่าทำยาก แต่พอมีซอสของเรา ทุกอย่างกลายเป็นความง่าย และทำให้เขากลับมาทำกับข้าวด้วยตัวเองได้อีกครั้ง” เธอเล่าโอกาสที่เกิดขึ้น


      จากกะปิบรรจุกระปุก พอเปลี่ยนลุคมาเป็นซอสกะปิ สามารถเพิ่มมูลค่าได้หลายเท่า โดยซอสกะปิขนาด 290 กรัม ขายที่ขวดละ 75 บาท ที่สำคัญการนำกะปิมาแต่งตัวใหม่ยังทำให้เพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้นด้วย


      “ซอสกะปิสามารถเพิ่มมูลค่าจากกะปิที่อยู่ในกระปุกได้เยอะมาก เป็นการเอากะปิออกจากกระปุก แล้วจับมาแต่งตัวใหม่ให้กะปิสวยขึ้น เพราะว่าคนยุคนี้ติดแฟชั่น และพร้อมที่จะลองของใหม่ เพราะฉะนั้นนี่คือโอกาสของเรา”


       วันนี้ซอสกะปิที่ง่าย อร่อย สะดวก ยังผลิตอยู่ในโรงงานเดียวกับกะปิแม่ยินดี โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2-3 หมื่นขวดต่อเดือน และพวกเขามีแผนที่จะทำโรงงานใหม่เร็วๆ นี้ ขณะที่ยอดขายก็อยู่ที่ 3-5 พันขวดต่อเดือน และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงโควิด-19  



 

ขับเคลื่อนแบรนด์ท้องถิ่น จากรากเหง้า สู่โกลบอล


      แม้ตลาดในประเทศไทย ยังมีพื้นที่ให้เล่นอีกเยอะมาก กับมูลค่าตลาดซอสปรุงรสหลายหมื่นล้านบาท แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์ในต่างประเทศมาก่อน เธอบอกว่า มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเคยนิคะ ให้กระจายความอร่อยไปในตลาดโลก


       “ยังไม่ต้องมองถึงตลาดยุโรป เอาแค่ในเอเชียและเพื่อนบ้านเราก่อน อย่าง CLMV ทุกคนรู้จักกะปิ และใช้กะปิในการทำอาหารกันอยู่แล้ว จีนก็ใช้กะปิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียต่างก็ใช้กะปิ ทุกที่ในภูมิภาคของเรารู้จักกะปิกันทั้งนั้น ฉะนั้นมันไม่ใช่ของใหม่ แต่เขายังไม่มีนวัตกรรมซอสกะปิแบบเรา แต่ยังเป็นการทำแบบในครัวเรือนอยู่ นี่จึงเป็นโอกาส”


      เมื่อถามถึงความเสี่ยงในการลอกเลียนแบบในอนาต ทายาทคนทำกะปิบอกเราว่า ไม่กลัวคู่แข่ง เพราะเชื่อว่าของดีย่อมมีการเลียนแบบเป็นธรรมดา เหมือนอย่างน้ำปลาก็ยังมีหลายรส หลายแบรนด์ ฉะนั้นการทำธุรกิจจึงเน้นแข่งกับตัวเอง โดยการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น ขณะที่สินค้าตัวนี้ก็เป็นการทำเองตั้งแต่ต้นน้ำ เริ่มจากตัวกะปิ ที่ไม่ได้ซื้อจากคนอื่นแต่มีสูตรของตัวเอง เพราะฉะนั้นหากใครคิดจะเลียนแบบ เพื่อให้ได้รสชาติและความอร่อยที่เหมือนกัน ก็คงไม่ง่ายนัก





      เมื่อถามถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจหลังจากนี้ เธอบอกว่า ตั้งใจจะเอาสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดให้ได้ รวมถึงการทำตลาดส่งออก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเรื่องโรงงานใหม่ และทำระบบหลังบ้านให้แข็งแรง ตลอดจนการรีแพ็กเกจจิ้งใหม่ ซึ่งเร็วๆ นี้ ทุกคนก็จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้มากขึ้น รวมถึงสินค้าใหม่ที่จะทยอยสู่ตลาดในอนาคตอีกด้วย


      “เป้าหมายสูงสุดของเราเลยคือ ทำให้คนกลับมากินกะปิกันมากขึ้น ไม่หลงลืมรสชาติของเรา รสชาติของอาหารใต้ อยากให้คนทั่วโลกได้รู้จักกะปิกันมากขึ้น โดยเฉพาะกะปิของไทย อยากให้สินค้าดีๆ แบบนี้มีขายไปทั่วโลก นำส่งสินค้าจากรากเหง้าสู่โกลบอลได้ตามที่เราตั้งใจไว้”


       ทุกวันนี้เคยนิคะยังเป็นธุรกิจของคน 3 รุ่น ที่มีทั้งคุณยาย คุณแม่ และลูกสาวช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจ ประสบการณ์จากอดีต โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในต่างประเทศ สอนสุขศิริว่า การทำธุรกิจต้องไม่ท้อ และทุกอย่างมีทางออกเสมอ ขอแค่เราไม่ยอมแพ้ไปก่อนเท่านั้น


       “ปัญหาทุกอย่างมีทางออก ไม่มีคำว่า Impossible (เป็นไปไม่ได้) แต่ทุกสิ่ง Possible (เป็นไปได้) เสมอ การทำธุรกิจใช้แค่ 2 อย่าง นั่นคือ Passion (ความรัก) และ Patient (ความอดทน) มีสองอย่างนี้ก็เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้”
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Casper’s Gallery จากของขวัญงานแต่งให้เพื่อน สู่นักวาดภาพงานแต่งเจ้าแรกในไทย 3 ชม. รายได้ตกหมื่นกว่าบาท

ใครจะคิดว่าจากภาพวาดของขวัญวันแต่งงานให้เพื่อนที่ทำอย่างตั้งใจ จะทำให้ แคท - นรินนา ศรีวรรณา ที่ชื่นชอบการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ เห็นโอกาสในการทำธุรกิจภาพวาดงานแต่งขึ้นมา จนสามารถทำรายได้หลักหมื่นบาทในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ไทรสุก ธุรกิจสุดครีเอท เล่าเรื่องเขาใหญ่ผ่านไอศกรีม

จากการผนวกความฝันของ “เต้ย-ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน” ไกด์นำเที่ยวสำรวจป่าเขาใหญ่ และ “แนน วราภรณ์ มงคลแพทย์” แฟนสาวเจ้าของธุรกิจแปรรูปผลไม้ เกิดเป็น “ไทรสุก” ร้านไอศกรีมที่ถ่ายทอดเรื่องราวสัตว์ป่าผ่านรสชาติแสนอร่อยและสีสันที่สวยงาม