ทลายปม “ผักโขมอบชีส” Reo’s Deli แตกยอดนวัตกรรม ทำแพ็กเกจจิ้งแก้ปัญหา Frozen Food

TEXT : กองบรรณาธิการ




               
       เพราะในการทำธุรกิจอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ ขอเพียงไม่หยุดนิ่ง คิดขวนขวายพัฒนาธุรกิจขึ้นมาเรื่อยๆ วันหนึ่งอาจพบโอกาสไม่คาดคิดรออยู่เบื้องหน้าก็เป็นได้ เหมือนเช่นกับ “Reo’s Deli” แบรนด์ผู้ผลิตผักโขมอบชีส ที่อยู่ดีๆ วันหนึ่งจากคิดแก้โจทย์ปัญหาการอุ่นร้อนของบรรจุภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็กลับกลายเป็นการต่อยอดสร้างโอกาสให้กับธุรกิจตัวใหม่ขึ้นมาได้แบบไม่ทันตั้งตัว

 
เพราะความสงสัยเป็นเหตุ
 
               
     “เราทำธุรกิจขายผักโขมอบชีสแช่เย็นกึ่งสำเร็จรูป และเมนูอาหารอิตาเลียนอื่นๆ ที่กินง่าย มีชีสเป็นส่วนผสมหลัก อาทิ มักกะโรนีอบชีส ลาซานญ่า มันฝรั่งอบชีส ส่งขายให้กับโมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อต่างๆ มากว่า 8 ปีแล้ว ช่วงแรกที่ทำเราทำเป็นลักษณะให้ซื้อกลับไปอุ่นรับประทานที่บ้านเป็นไซส์ใหญ่ 150 กรัม ขายอยู่ที่แม๊กซ์แวลู, ท็อป มาร์เก็ต ต่อมาได้เรียนรู้ว่าลูกค้าตัวจริงที่รับประทานสินค้าของเรา คือ เด็กๆ ถึงผู้ปกครองจะเป็นคนซื้อ แต่ก็ซื้อไปให้ลูกๆ รับประทานอยู่ดี ในช่วงต่อมาเราจึงวางตำแหน่งของสินค้าใหม่และปรับให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 100 กรัม โดยเน้นให้เป็นอาหารอุ่นร้อนที่สามารถซื้อแล้วรับประทานได้ทันที พอเล็กลงราคาก็ย่อมเยากว่า เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเราทดลองส่งเข้ามาขายในแฟมิลี่มาร์ทก่อน และปัจจุบันขายอยู่ในเซเว่น อีเลฟเว่นเกือบทั่วประเทศ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี


     “แต่พอเปลี่ยนกลุ่มตลาดใหม่ทำให้เราได้สัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น จึงมองเห็นปัญหาว่าในการอุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟแต่ละครั้งอาหารที่อยู่ขอบรอบนอกจะร้อนพอดี แต่ตรงกลางกลับไม่ร้อน ซึ่งจริงๆ ก็เป็นปัญหาของอาหารแช่เย็นและแช่แข็งที่รู้กันดีอยู่แล้ว และเป็นที่ยอมรับได้ของผู้บริโภค แต่เราอยากทำให้ดีขึ้น เพราะถ้าไม่ร้อน ผักโขมอบชีสของเราก็ไม่ยืด กินก็ไม่อร่อย จึงพยายามคิดหาเหตุผลและทดลองทำเองก่อน จนในที่สุดก็ได้เป็นแนวทางออกมา” ชณา วสุวัต กรรมการผู้จัดการ บริษัทแวลู ซอร์สซิ่ง จำกัด เล่าถึงจุดเปลี่ยนธุรกิจที่อยู่ดีๆ จากผู้รังสรรค์เมนูอาหาร ก็มาลงลึกในเรื่องบรรจุภัณฑ์ด้วย



 

ต่อยอดธุรกิจ ด้วยวิทยาศาสตร์


     หลังจากทดลองศึกษาด้วยตัวเองก่อน จนเริ่มเห็นแนวทางความเป็นไปได้ ชณาก็เริ่มหันมาปรึกษากับหน่วยงานภาครัฐและนักวิจัย เพื่อพิสูจน์ในสิ่งที่เขาคิดและหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ขึ้นมา


     “จริงๆ ตอนที่ทดลองทำด้วยตัวเอง เราก็เริ่มรู้แนวทางรู้สาเหตุที่เกิดขึ้นแล้วว่าทำยังไงถึงจะให้อาหารที่อยู่ตรงกลางซึ่งอุ่นด้วยไมโครเวฟถึงจะร้อนขึ้นมาได้ แต่เราไม่แน่ใจว่าที่ทำไปหรือที่เข้าใจเป็นหลักการที่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ไหม พอดีได้เข้าไปปรึกษาที่ Innovative House เขาก็แนะนำให้ไปลองหานักวิจัย เพื่อยื่นขอทุนทำโครงการวิจัยขึ้นมา โดยหากเป็นโครงการที่น่าสนใจภาครัฐจะสนับสนุนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ผมจึงได้ติดต่อกับอาจารย์หมุดตอเล็บ หนิสอ ซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญเรื่องคลื่นไมโครเวฟ และจนในที่สุดเราก็ได้ร่วมกันพัฒนาออกมาเป็นผลสำเร็จ





     “วิธีคิดของเรา ก็คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีตัวสกัดคลื่นไมโครเวฟ ทำให้จากบางพื้นที่ที่คลื่นไม่สามารถเข้าถึงเพื่อทำให้เกิดความร้อนได้ ก็กลับได้รับความร้อนมากขึ้น ทำให้อุณภูมิของขอบอาหารด้านนอกและใจกลางไม่แตกต่างกันมาก อาหารจึงสุกและเฉลี่ยร้อนได้ทั่วถึงกันทั้งอัน”


     โดยชณาอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างบรรจุภัณฑ์ทั่วไปกับบรรจุภัณฑ์ที่เขาร่วมคิดค้นวิจัยขึ้นมาว่า โดยปกติแล้วหากใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทั่วไปที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ อุณหภูมิที่ขอบด้านนอกอาจสูงถึง 84 -90 องศาแล้ว แต่อุณหภูมิที่ใจกลางอาหารยังอยู่แค่ 50 -55 องศาเท่านั้น แต่หากเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เขาได้ร่วมคิดขึ้นมาใหม่ อุณหภูมิระหว่างขอบด้านนอกและใจกลางจะต่างกันเพียงไม่เกิน 10 องศาเท่านั้น เช่นหากอาหารที่ขอบด้านนอกอยู่ที่ 80 องศา อาหารด้านในตรงกลางก็จะอยู่ที่ 70 องศา ซึ่งเบื้องต้นเขาได้ตั้งชื่อเรียกบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่นี้ว่า “Heat Wave Tech” แปลตรงตัวว่าความร้อน ไมโครเวฟ และเทคโนโลยีนั่นเอง




 
ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่เป็นนวัตกรรม
 
               
     และจากบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาได้นี่เอง จึงทำให้เขาเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาและต่อยอดธุรกิจออกมาสู่การสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้ใช้แค่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มตลาด Frozen Food อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งที่มักขายได้ยากกว่าอาหารแช่เย็น ทั้งที่สามารถเก็บรักษาได้นานกว่า เพราะเก็บอยู่ที่อุณหภูมิ -18 องศา ขณะที่อาหารแช่เย็นจะเก็บอยู่ที่อุณหภูมิ 0 - 6 องศาเท่านั้น แต่เป็นเพราะการนำมาอุ่นเพื่อรับประทานต้องใช้เวลามากกว่า ส่วนใหญ่จึงมักซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านมากกว่าที่จะซื้อรับประทานตอนนั้นเลย
               

     “จากนวัตกรรมที่คิดขึ้นมานี้ ผทมองว่านอกจากช่วยแก้ปัญหาให้กับธุรกิจของเราได้แล้ว ยังสามารถที่จะนำไปต่อยอดเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับอาหารแช่แข็งและแช่เย็นอื่นๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งที่ปกติยอดขายอาจไม่เท่ากับแช่เย็น เพราะขายได้ยากกว่า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการอุ่นนาน แต่ถ้าเราสามารถทำบรรจุภัณฑ์ออกมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ก็อาจเป็นการปิดจุดด้อย สร้างโอกาสให้กับอาหารแช่แข็งได้มากขึ้นด้วยอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งตอนนี้งานวิจัยเป็นผลสำเร็จออกมาแล้ว เหลือแค่กระบวนการผลิตออกมา เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ในเชิงพาณิชน์อย่างเดียวเท่านั้น” ชณากล่าวทิ้งท้าย   









 
www.smethailandclub.com     
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

มิติใหม่ร้านอาหารไทย! Mr.Kanso ธุรกิจบาร์อาหารกระป๋อง จากญี่ปุ่นสู่สาขาแรกในไทยที่สงขลา

เรื่องราวของ Mr.Kanso บาร์อาหารกระป๋องจากญี่ปุ่นที่ เอก-เศรษฐกรณ์ รัตนาชัยโรจน์ หนุ่มสงขลาได้ชิมแล้วถูกปากถึงขั้นขอซื้อลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น ซึ่งต้องใช้ลูกตื้อเป็นเวลา 3 ปี กว่าเจ้าของจะใจอ่อนยอมให้นำเข้ามาเปิดที่สงขลาบ้านเกิด

เจนลูกสาวป้าดำ คาเฟ่ที่จัดจ้านที่สุดในย่านแบริ่ง กาแฟ เบเกอรี และเล่าเรื่องแบรนด์

ถ้าพูดถึงคาเฟ่ชื่อดังย่านแบริ่ง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “เจนลูกสาวป้าดำ” คาเฟ่ชื่อแปลก แต่กลับสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้าที่มาเยือนรวมอยู่ด้วยแน่นอน

House of Gems BKK จากพนักงานโรงแรมสู่คุณแม่ฟูลไทม์ที่ปั้นแบรนด์เครื่องประดับจากน้ำนมแม่

เพราะตัดสินใจออกมาจากงานโรงแรมเพื่อเลี้ยงลูก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ House of Gems BKK ที่บิ้ว-กัลยา อภิชัยกุล ใช้น้ำนมแม่มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเครื่องประดับจากน้ำนมที่ทั้งสวยและทัชใจคุณแม่หลายคน เป็นธุรกิจใหม่ของคุณแม่ฟูลไทม์