เชลล์ถึงขั้นต้องชวนชิม “Rock Ice” น้ำแข็งจอมอึดจากแดนอาทิตย์อุทัย

TEXT      : กองบรรณาธิการ

PHOTO  : SME Thailand

 




Main Idea


เรื่องมหัศจรรย์ของน้ำแข็งละลายช้า
 
  • ลงทุนเดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเลจากญี่ปุ่น เพื่อมาทำตลาดในไทย
 
  • ยอมขายขาดทุนต่ำกว่าราคาจริง เพื่อให้ผู้บริโภคกล้าทดลองใช้
 
  • นำนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความแตกต่าง
 
  • รักษาคุณภาพมาตรฐานของแบรนด์ แม้ผู้บริโภคจะบอกว่าแพง แต่วันหนึ่งพิสูจน์แล้วด้วยคุณภาพ
 
              



     อากาศหนาวเริ่มมาเยือนแล้ว วันนี้เลยอยากลองหาเรื่องเล่าอะไรเย็นๆ มาฝากกัน ซึ่งถ้าพูดถึงสินค้าที่มีความเย็นที่สุดคงหนีไม่พ้น “น้ำแข็ง” แน่นอน โดยนอกจากประวัติความเป็นมาของน้ำแข็งโลกที่ว่ากันว่ามีใช้มานานนับพันปีจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ จนนำเข้ามาในไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 เรายังพบเรื่องราวที่น่าสนใจของน้ำแข็งอีกยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งหากเอ่ยชื่อมาย่อมต้องร้องอ๋อเป็นแน่ โดยน้ำแข็งที่เรากำลังพูดถึง ก็คือ “Rock Ice” ต้นตำรับน้ำแข็งละลายช้าที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนั่นเอง
 




 
เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากญี่ปุ่น
              

     Rock Ice เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นขึ้นจากการนำเข้าน้ำแข็งใส่เรือบรรจุอยู่ในห้องเย็นเดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น  เพื่อเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ในช่วงแรกนั้นเป็นการจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตและใช้กันในร้านอาหารญี่ปุ่นไม่กี่แห่งเท่านั้น โดยจะซื้อขายกันเป็นกิโล ไม่ได้บรรจุใส่ถุงสำเร็จรูปเหมือนเช่นปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งว่ากันว่ายอมขายขาดทุนลดราคาลงจากปกติที่ขายในประเทศญี่ปุ่นกิโลกรัมละ 85 บาท เพื่อให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น
              




     กระทั่งในปี 2548  จึงได้มีการเปิดโรงงานผลิตขึ้นในเมืองไทยที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ชื่อบริษัท โคคุโบะ ร็อกไอซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยผลิตออกมาจำหน่ายเป็นน้ำแข็งถุงสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ “ร็อกไอซ์” ในราคาเริ่มต้นถุงละ 12 บาท
              

     โดยผู้ก่อตั้งและคิดค้นน้ำแข็งร็อกไอซ์ขึ้นมา คือ “Yoshi Kokubo” ก่อตั้งขึ้นมาภายใต้ชื่อบริษัท โคคุโบะ ไอซ์ จำกัด เมื่อประมาณปี 2516 ว่ากันว่าเป็นบริษัทผลิตน้ำแข็งที่ถือส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ในตลาดญี่ปุ่นในยุคนั้น โดยมีโรงงานผลิตน้ำแข็งเป็นของตัวเองมากกว่า 17 แห่งด้วยกัน
 



 
ละลายช้า เพราะใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย
              

     หากไม่นับเรื่องราคาที่แพงกว่าน้ำแข็งถุงสำเร็จรูปทั่วไปอยู่ 1 -2 เท่า จุดเด่นที่ทำให้ใครต่างรู้จักร็อกไอซ์กันดี ก็คือ การเป็นน้ำแข็งจอมอึดที่ละลายช้า ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งก็ได้ที่ทำให้มีราคาแพงกว่าน้ำแข็งอื่น โดยน้ำแข็งยุนิตปกติทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 9 บาท ขณะที่ร็อกไอซ์ขายอยู่ที่ 18 บาท
              




     โดยว่ากันว่าเหตุผลที่น้ำแข็งร็อกไอซ์ละลายช้านั้น มาจากนวัตกรรมการผลิตที่คิดค้นมาอย่างดี ไปจนถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เก็บความเย็นได้ดีเป็นพิเศษทีเดียว เริ่มจากกระบวนการผลิตมีการควบคุมคุณภาพและนำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ครบทุกด้าน ตั้งแต่ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยความแข็งของน้ำแข็งร็อกไอซ์เกิดจากการควบคุมอุณหภูมิในการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตน้ำแข็งทั่วไปถึง 3 เท่า จึงทำให้มีมวลหนาแน่นมากกว่า ลักษณะก้อนน้ำแข็งที่ได้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมตัน ใส สะอาด ไม่ขุ่น ไม่มีกลิ่นคลอรีนตกค้าง ทำให้ละลายช้ากว่าน้ำแข็งปกติทั่วไป ขณะเดียวกันถุงพลาสติกที่ใช้ใส่เป็นถุงลามิเนต 2 ชั้น และเป็นฟู้ดเกรดจึงทำให้ปกป้องการรั่วซึมและการเข้าของอากาศภายนอกได้ดีกว่า

 


 
น้ำแข็งอร่อย จนเชลล์ (ยัง) ชวนชิม
              

     จากการใส่ใจคุณภาพการผลิตที่ทั้งสะอาด ปลอดภัย ละลายช้า จึงใช้ใส่เครื่องดื่มทำให้ได้รสชาติอร่อยเต็มๆ มากกว่า จึงทำให้ร็อกไอซ์กลายเป็นน้ำแข็งในไม่กี่แบรนด์ที่ได้รับการการันตีจากหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ จนถึงขั้นยกตราเชลล์ชวนชิมให้เลยทีเดียว
              

     ปัจจุบันนอกจากการผลิตน้ำแข็งถุงสำเร็จรูปขายบริษัท โคคุโบะ ยังมีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ร้านคาเฟ่น้ำแข็งใสชื่อ K-Lab อีกหนึ่งผลพวงที่ได้จากการผลิตน้ำแข็งคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาด
              




     และนี่คือ เรื่องราวที่มาทั้งหมดของ Rock Ice น้ำแข็งพันธุ์อึดจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยในทุกวันนี้แล้ว
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย

วิธีเปลี่ยนไอเดีย “ตัน” เป็น “มันส์” แบบ Matty Benedetto ยอดนักประดิษฐ์จอมกวน  

เพราะคำว่า “ไม่จำเป็น” ≠ “ไม่มีประโยชน์” ชิ้นงานแสนฮาของ Matty Benedetto “อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย” จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีให้กับผู้ประกอบการที่ตกอยู่ในอาการไอเดียตัน คิดอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมได้ลองมาเรียนรู้กัน

เสื้อยืดช่วยฟอกอากาศ ใส่เท่ แล้วยังช่วยดักจับก๊าซ CO₂ ได้

เชื่อไหมแค่ใส่เสื้อยืด (นี้)..ก็ช่วยกอบกู้โลกได้.. โดยล่าสุดมีการเปิดตัว “Ar.voree T-shirt” เสื้อยืดที่ทำมาจากนวัตกรรมสารเคลือบพิเศษที่เรียกว่า “COzTERRA” เพื่อใช้ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้