Main Idea
- ณ ตัวอำเภอห่างไกลในจังหวัดปราจีนบุรี มีหมู่บ้านชื่อว่า “มาบเหียง” ที่เคยแห้งแล้ง เหี่ยวเฉาแถมยังเต็มไปด้วยโจรฉกชิงวิ่งราว ชาวบ้านหลายคนถอดใจขายที่ทิ้งจนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เกือบกลายเป็นหมู่บ้านร้าง!
- แต่ด้วยพลังแห่ง Young Smart Farmer และความเข้มแข็งของคนในชุมชน ได้ร่วมกันพลิกฟื้นหมู่บ้านแห่งนี้ให้มีชีวิตขึ้นอีกครั้ง แถมยังชูจุดเด่นของตัวเองอย่างมะม่วงมาพัฒนาพื้นที่จนแข็งแกร่ง
- ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดถึง 1,600 ไร่ ผลิตได้ปีละ 1 พันตัน ส่งออกไปหลายประเทศ แถมยังตั้งเป้าให้ชุมชนมาบเหียงกลายเป็น Mango Land แห่งประเทศไทย ที่มีทั้งศูนย์เรียนรู้ มีฟาร์มสเตย์ตลอดจนคาเฟ่เก๋ๆ อีกด้วย!
หมู่บ้านมาบเหียง เป็นหมู่บ้านที่ไกลจากตัวอำเภอปราจีนบุรีที่สุดแล้ว จะไปตัวอำเภอแต่ละที ปั่นจักรยานไป ใช้เวลาเป็นวัน สมัยก่อนเรียกว่าดงโจรเลย มันเปลี่ยว มีพวกโจร ฆ่าชิงวิ่งราวที่หมู่บ้านนี้แหล่ะ รวมถึงคนที่ทำการเกษตรก็ประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีวิธีแก้ไขก็ขายที่ไปอยู่หมู่บ้านอื่น จนเกือบจะกลายเป็นหมู่บ้านร้าง’
คำบอกเล่าถึงภาพในอดีตจาก Young Smart Farmer ที่คืนถิ่นเพื่อพัฒนาวิถีเกษตรของหมู่บ้านให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยว พร้อมกับสร้างแบรนด์ให้มะม่วงของบ้านมาบเหียงกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ชายคนนี้คือ ‘สายนที ธรรมมะ’ อดีตนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเขาได้เล่าต่อว่า จากหมู่บ้านที่เกือบร้างในวันนั้นได้มีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้ในการสร้างอาชีพให้คนในชุมชน รวมถึงตัวเขาเองที่กลับมาบ้านเกิดหลังจากจบมหาวิทยาลัยและนำเอาองค์ความรู้ต่างๆ มาต่อยอดจากการปลูกมะม่วงธรรมดาของชาวบ้านในชุมชนให้กลายเป็นดินแดนแห่งมะม่วง ณ บ้านมาบเหียง
“หลังจากจบมหาวิทยาลัยเราก็มานั่งคิดว่าจะทำอะไร เป็นมนุษย์เงินเดือนมันไม่ตอบโจทย์เป้าหมายที่เราวางไว้ จึงหันมามองว่าบ้านเรามีอะไร พื้นฐานชุมชนเรามีอะไร ปกติเวลาปิดเทอมหรือว่างๆ ก็จะกลับมาช่วยที่บ้าน เพราะว่าพ่อทำสวนมะม่วง ก็จะต้องมีการออกบิลเวลาที่เก็บมะม่วงเสร็จ คัดขึ้นรถ พอออกบิล เก็บเงิน ขึ้นรถสิบล้อไปได้วันละ 2 แสน 3 แสน พ่อก็จะถามว่า กลับมาอยู่กับพ่อ ทำงานวันละ 2 แสนดีไหม เหมือนเป็นกลวิธีของเขาที่อยากให้เรากลับบ้าน ด้วยความที่เราเป็นคนขี้เกียจ ไม่ได้ขยัน แค่ตื่นไปเรียน 8 โมง เลิก 4 โมง มา 12 ปีก็จะตายแล้ว เรารู้ว่าถ้าทำงานเป็น Routine แบบนั้นอีกไม่ไหวแน่นอน เลยตัดสินใจกลับบ้าน” เขาเล่า
ชีวิตเริ่มต้นของ Young Smart Farmer นอกจากที่จะต้องเรียนรู้วิธีการปลูกมะม่วง วิธีการดูแล วิธีการเก็บเกี่ยวแบบครบองค์รวมแล้ว สายนทียังไม่หยุดแค่การพัฒนาสวนของตัวเอง แต่เขาเริ่มต้นรวมกลุ่มชาวบ้านในชุมชนให้กลายเป็น ‘วิสาหกิจกลุ่มผลิตมะม่วงนอกฤดูบ้านมาบเหียง’
“พอเราเริ่มที่จะทำของตัวเองในพื้นที่กว่า 40 ไร่แล้ว ก็ยังช่วยดูเรื่องของการรวมกลุ่มของเกษตรกร ก่อนหน้านี้มีโอกาสไปได้ On Job Training ที่ฟาร์มมะม่วงที่ออสเตรเลีย 3 เดือน ได้เห็นสิ่งหนึ่งที่แตกต่างนั่นคือ Farmer บ้านเราแปลว่าชาวนา ก็ไม่รู้ว่าใครคิดคำแปลนะ แต่บ้านเขา Farmer แปลว่าคนทำฟาร์มจริงๆ มีระบบต่างๆ มีคนทำงาน มีคนบริหาร มีคนจัดจำหน่าย เหมือนเป็นบริษัทหนึ่งเลย จึงเข้าใจว่าทำไมต้องมีการรวมกลุ่ม การมีกลุ่มจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรได้ เช่น ปัจจัยการผลิต ทุน การรวบรวมผลผลิต การโดนเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง พอรวบรวมผลผลิตได้มากก็มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น รวมผลผลิตให้พ่อค้าที่ตลาดไทย ตลาดส่งออกอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ ต้องมาซื้อที่สวนเท่านั้น เราไม่ออกไปส่ง ตอนนี้มีพื้นที่ผลิตทั้งหมด 1,600 ไร่ สามารถผลิตได้ปีละ 1 พันตัน เรามีอำนาจการต่อรองแล้ว ตอนนี้เลยทำงานเกษตรควบคู่ไปกับงานชุมชน”
สิ่งที่สายนทีทำมีทั้งการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มผลิตมะม่วงนอกฤดูบ้านมาบเหียง(แปลงใหญ่มะม่วง) สร้างแบรนด์ให้มะม่วงของหมู่บ้านมาบเหียงกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ภายใต้แบรนด์ ‘Mango Land’ พัฒนาหมู่บ้านให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวและ Farmstay ตลอดจนการสร้างคาเฟ่เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน เป็นร้านกาแฟ ร้านอาหารและสถานที่วางขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน
“จริงๆ ในชุมชนเรามีหลายอาชีพ เกษตรกรก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่เขาไม่ได้มีพื้นที่ทำการเกษตรก็เกิดการจ้างงาน หลายคนมารับจ้างเก็บมะม่วง ขยับไปสู่การเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะว่าเราตั้งใจอยากทำให้หมู่บ้านของเราเป็น Mango Land ฉะนั้น มีครบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งผลิต แปรรูป การขาย เป็น Farmstay มี Mango Cafe แล้วชาวบ้านแต่ละกลุ่มก็จะมีผลิตภัณฑ์ของเขาเสริมขึ้นมา เช่น กลุ่มแม่บ้านทำน้ำพริก มีภูมิปัญญาของเขาที่สืบทอดกันมา เราเองก็จะช่วยด้านการตลาด ด้านบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ ช่วยในการเพิ่มงาน เพิ่มรายได้ อย่างที่อื่นก็อาจจะทำสวนมะม่วงไป ไม่ได้สนใจชุมชน แต่ชุมชนของเรา การทำสวนมะม่วงเป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน เอาคนในชุมชนมาเป็นหลักเลย” เขาบอกวิธีคิด
สำหรับมะม่วงของชุมชนบ้านมาบเหียง จะมีด้วยกันถึง 4 สายพันธุ์ นั่นคือ มะม่วงแรด มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงฟ้าลั่นและมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ซึ่งขายทั้งในประเทศและส่งออก โดยความตั้งใจสำคัญของสายนทีนั่นคือการเก็บมะม่วงพันธุ์น้ำดอกเกรดดีที่สุดเอาไว้ให้คนไทยได้กิน
“มะม่วงน้ำดอกไม้ เราตั้งใจว่าจะไม่ผลิตเพื่อส่งออกให้คนไทยได้กินมะม่วงน้ำดอกไม้ที่เกรดดีที่สุด เพราะว่าส่วนใหญ่ ถ้าเกรดดีที่สุด เขาจะส่งออก เวลาคนไปซื้อตามตลาดก็จะไม่ได้มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดดี แต่เราอยากให้คนไทยได้กิน จึงสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาด้วย นั่นคือแบรนด์ Mango Land ใช้ในการขายมะม่วงน้ำดอกไม้ ไซรัปมะม่วงน้ำดอกไม้ ผลิตภัณฑ์มะม่วงทั้งหมดจะใช้แบรนด์นี้ เพื่อให้คนจดจำได้”
ก่อนปิดบทสนทนา สายนทีได้เล่าถึงการเป็น Young Smart Farmer ที่ได้กลับไปเป็นเสือคืนถิ่น พลิกฟื้นบ้านเกิดของตัวเองให้กลายเป็นชุมชนที่แข็งแกร่ง
“พอเข้ามาทำงานในชุมชน เราต้องมาสร้างความเข้าใจ สร้างองค์ความรู้ให้สมาชิกเข้าใจวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ต่างจากวิธีการทำงานแบบเดิม ดีกว่าอย่างไร เพื่อให้เขามั่นใจในทิศทางที่เราจะพาเขาไป นอกจากนี้ยังมีการปั้นเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานชุมชน นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่บ้านมาบเหียงได้เปรียบ นอกจากนี้การเป็น Young Smart Farmer ต้องเริ่มจากตัวอย่างที่เขาได้เห็น วัยรุ่นส่วนใหญ่มักมองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ จน เครียด กินเหล้า นั่นคือภาพจำ แต่ภาพจำของพี่คือการที่พ่อให้มาช่วยเก็บบิล ถ้าเราอยากเปลี่ยนมุมมองเขา ต้องมีตัวอย่างให้เห็น อย่างคนที่ประสบความสำเร็จไปแชร์เรื่องราว แชร์ประสบการณ์ คนก็จะเห็นว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่สามารถรวยได้”
เพราะความสามารถของเกษตรกรไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอเพียงแค่คุณไม่หยุดพัฒนาและเริ่มต้นทดลองแนวคิดใหม่ๆ สร้างความเป็นกลุ่มก้อนขึ้นในชุมชนเพื่อเดินไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง หยิบเอกลักษณ์ของชุมชนขึ้นมาสร้างจุดเด่นที่แตกต่าง หมู่บ้านของคุณก็จะกลายเป็นที่รู้จักได้ไม่ยาก!
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี