“มณีอินเนอร์แวร์” ผู้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ พลิกธุรกิจชุดชั้นในสู่ ‘หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ’

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
  • ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ แถมยังเป็นสัปดาห์ที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤต คุณคิดว่าจะสามารถสร้างสรรค์อะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง
 
  • สำหรับ “มณีอินเนอร์แวร์” ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรี และแอคทีฟแวร์ ที่อยู่ในตลาดมากว่า 15 ปี พวกเขาใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ พลิกธุรกิจเดิม มาทำหน้ากากผ้าปิดจมูก ก่อนต่อยอดสู้นวัตกรรมหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ สนองบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์โควิด-19ได้อย่างเยี่ยมยุทธ์



     ระหว่างที่เจอกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หลายคนจมอยู่กับความบอบช้ำ บางคนเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ เพื่อรอให้วิกฤตพ้นผ่าน แต่สำหรับบางคนกลับเลือกใช้นาทีนั้นแจ้งเกิดธุรกิจใหม่ เพื่อให้กิจการที่สร้างมายังคงอยู่รอดและเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตร้อน


     เรากำลังพูดถึง “มณีอินเนอร์แวร์” ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรี และแอคทีฟแวร์ ที่ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการพลิกธุรกิจเดิม มาทำหน้ากากผ้าปิดจมูก ก่อนต่อยอดสู้หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ นวัตกรรมใหม่ที่ป้องกันสารคัดหลั่งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนองบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์โควิดได้อย่างเยี่ยมยุทธ์





     เบื้องหลังการปรับตัว มาจากผู้ประกอบการนักสู้ที่ชื่อ “มณี เจนจรรยา” กรรมการ บริษัท มณีอินเนอร์แวร์ จำกัด อดีตพนักงาน บมจ.ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ทำงานกับแบรนด์ชุดชั้นในวาโก้ (Wacoal) มากว่าสิบปี ภายหลังสามีรู้จักกับคนไต้หวันจึงลาออกมาลงทุนทำธุรกิจชุดชั้นในร่วมกัน ก่อนแยกตัวออกมาทำ “มณีอินเนอร์แวร์” ซึ่งนับถึงวันนี้ก็อยู่ในตลาดมากว่า 15 ปีแล้ว 


     โควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนักหน่วง แต่ก็ไม่ใช่วิกฤตแรกของ มณีอินเนอร์แวร์ เธอเล่าให้ฟังว่า ธุรกิจเดิมคือการเป็นโออีเอ็มผลิตชุดชั้นในให้กับลูกค้าในตลาดโลก ในช่วงหนึ่งธุรกิจชุดชั้นในมีปัญหา โดยตลาดโลกเริ่มไม่ดี ลูกค้าซื้อได้น้อยลง ขณะที่ยังต้องไปสู้กับคู่แข่งอย่างจีน และเวียดนาม ที่มีกำลังการผลิตสูงลิ่ว และค่าแรงถูกกว่า แตกต่างจากโรงงานผลิตไทยๆ ที่พวกเขาทำได้จำนวนน้อย แถมต้นทุนแพง ถ้ายังขายในราคาถูกก็คงสู้กับยักษ์ในตลาดโลกไม่ได้
การปรับตัวแรกจึงพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากชุดชั้นในธรรมดา ก็ปรับมาเป็นชุดชั้นในสตรีเกรดพรีเมียม  เพื่อให้สอดคล้องกับค่าแรงและข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตที่มีอยู่





     เวลาเดียวกันก็หาโอกาสใหม่ๆ จากผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกำลังต้องการ นั่นคือ แอคทีฟแวร์  หรือเสื้อผ้าออกกำลังกาย ทำให้ธุรกิจที่จะตกไปตามตลาดโลก พอมีช่องทางให้ยังคงเติบโตได้ กิจการเล็กๆ จึงประคับประคองตัวเองมาได้เรื่อยๆ โดยมีแรงงานอยู่ประมาณ 100 คน มีลูกค้าหลักคือ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร  ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส มีสัดส่วนส่งออกอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือทำตลาดในประเทศ
               

     แต่โควิด-19 เป็นวิกฤตที่ดูจะหนักหน่วงกว่าทุกรอบที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการปิดห้างสรรพสินค้า เส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยง มณีอินเนอร์แวร์ ก็หยุดลงแค่นั้น
               

     มณีเล่าให้เราฟังว่า ตลาดหลักของเธอ คือร้านค้าที่จำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เมื่อห้างปิดทำให้ส่งสินค้าให้ลูกค้าไม่ได้ ธุรกิจจึงหยุดชะงักตามไปด้วย
               

     หลายคนเจอสถานการณ์นี้อาจเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ เพื่อรอโชคชะตาจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ไม่ใช่กับมณีอินเนอร์แวร์ เพราะในเวลา 2 สัปดาห์ ที่เริ่มเห็นสัญญาณโควิด-19 พ่นพิษหนัก สิ่งที่พวกเขาทำคือปรับไลน์การผลิตชุดชั้นในและแอคทีฟแวร์ มาออกผลิตภัณฑ์ใหม่หน้ากากผ้าปิดจมูกสินค้าสุดฮิตในโควิด-19
               

     มณีบอกว่าเมื่อสินค้าเดิมทำไปก็ไม่มีตลาด แต่ภาระขององค์กรคือยังมีลูกน้องต้องดูแล เธอจึงกลับมามองต้นทุนที่มีพบว่า พนักงานมีทักษะในการเย็บที่ดีมากอยู่แล้ว เพราะการทำชุดชั้นในเป็นงานละเอียด และหลายขั้นตอน  จึงเห็นโอกาสที่จะทำผ้าปิดจมูก เลยลองทำแพทเทิร์นแล้วไปเสนอลูกค้าดู เริ่มต้นก็เลือกใช้ผ้าที่มีคุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม มาทำหน้ากาก เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าสาลู ผ้ามัสลิน
               




     จากนั้นก็ได้ร่วมกิจกรรมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้ากับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้พัฒนานวัตกรรม “หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ” ป้องกันสารคัดหลั่งจากการไอ จาม เสมหะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปราศจากสารประกอบฟูลออโรคาร์บอนที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยตอบโจทย์เรื่องดีไซน์ที่สวยงามตามความเชี่ยวชาญของมณีอินเนอร์แวร์อีกด้วย โดยสามารถผลิตได้ถึง 40,000 ชิ้นต่อเดือน
               

     เส้นเลือดที่เคยถูกตัดขาด เลยมีเลือดเส้นใหม่เข้ามาหล่อเลี้ยง แถมยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกำลังต้องการอย่างสูงมากในวันนี้
               

     เมื่อถามว่าทำไมถึงปรับตัวได้เร็ว ทั้งที่เจอวิกฤตมาอย่างหนักหน่วง เธอบอกว่า
               

     “ท้องหิว เลยต้องพยายาม”
               




     และย้ำว่า ไม่ท้อ เพราะชีวิตต้องเดินต่อ แม้การทำหน้ากากผ้า อาจไม่ได้ทำให้มีกำไรมากมาย แต่เธอมองว่า อย่างน้อยก็ยังมีรายได้หล่อเลี้ยงลูกน้อง สามารถรักษาตัวธุรกิจไว้ได้ และยังได้ร่วมทำบุญโดยนำสินค้าไปบริจาคให้หมอและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่ขาดแคลน ที่สำคัญยังเห็นโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่สินค้าใหม่เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตได้อีกด้วย
               

     เมื่อถามว่าแผนธุรกิจของมณีอินเนอร์แวร์จากนี้คืออะไร เธอบอกแค่ว่า คงไม่ใช่การวางแผนยาวๆ อีกต่อไป แต่ต้องทำทุกอย่างในตอนนี้ให้ดีอย่างต่อเนื่อง เธอว่า วันนี้หลายๆ ธุรกิจถูกหักปากกาเซียนไปหมดแล้ว ยุคนี้เป็นการสร้างตำราเล่มใหม่ และแน่นอนว่ามณีอินเนอร์แวร์ก็จะสู้ด้วยตำราที่มาจากการเรียนรู้ของพวกเขาในวันนี้
               

     ระหว่างที่หลายคนกำลังบอบช้ำกับโควิด-19 และหวาดกลัวกับอนาคต ทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน มณีบอกหัวใจ 3 ข้อ นั่นคือ
               
  •      หนึ่งใจต้องสู้
               
  •      สองต้องมองรอบข้างว่าเขาไปทางไหน
 
  •      สามต้องก้าวเดินไปตามทางที่มองว่าดี ตามกำลังความสามารถที่มี สุดท้ายก็จะสำเร็จเอง
               

     เธอทิ้งท้ายไว้แค่นั้น



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​