อยากดิสรัปต์องค์กร ก่อนถูกโลก ‘ดิสรัปต์’ ต้องเริ่มจาก 3 หัวใจนี้



 
Main Idea
 
  • ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดยคาดว่ามีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง 
 
  • นั่นเองคือเหตุผลที่องค์กรต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการ SME ต้องรีบลุกขึ้นมาปรับตัวทำเรื่อง Digital Transformation  เพราะหากอยากอยู่รอด ต้องดิสรัปต์ตัวเอง ก่อนจะถูกโลกดิสรัปต์

 


     ความท้าทายของการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ คือความพร้อมในการปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็ว เพื่อให้รับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สำหรับผู้ประกอบการ SME เรื่องนี้อาจไม่ใช่งานง่าย แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้ายังทำอะไรแบบเดิม ไม่ปรับหรือขยับตัว ก็อาจถูกกลืนหายในโลกยุคใหม่ได้ 


     “อย่ามองว่าเทคโนโลยีเป็นแค่เทคโนโลยี แต่ให้มองว่าเทคโนโลยีส่งผลกระทบเชิงลึกอย่างไรบ้างต่อชีวิตและธุรกิจของเรา หากอยากอยู่รอด ต้องดิสรัปต์ตัวเอง ก่อนจะถูกดิสรัปต์” 




     นี่คือมุมมองของ “Jaspreet Bindra” ผู้ก่อตั้ง Digital Matters บริษัทให้คำปรึกษาเรื่อง Digital Transformation ผู้มีประสบการณ์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กรอย่างมีกลยุทธ์และชั้นเชิงทางธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วย เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 


     โดยเขาย้ำว่า “ไม่มีองค์กรไหนที่จะสามารถพลิกโฉมธุรกิจได้โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วย แต่ผู้นำองค์กรจะต้องเข้าใจกระบวนการทำ Digital Transformation ก่อนว่าการวางกลยุทธ์ทางดิจิทัล ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพียงเท่านั้น หากองค์กรอยากจะปรับเปลี่ยนต้องตระหนักถึง 3 หัวใจสำคัญของ Digital Transformation ที่จะต้องทำงานสอดคล้องประสานกัน”



 
  • 3 หัวใจที่ว่า ประกอบด้วย


1. เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งผลต่อโมเดลธุรกิจ (Business Model) 

     โดยผู้ประกอบการจะต้องรู้จักมองหาเทรนด์และทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้งถึงรูปแบบการใช้ชีวิต และความต้องการของพวกเขา เช่น การเติบโตของโมเดลธุรกิจแบบ Platform อันเกิดจากเทรนด์เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่กำลังมาแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ที่หันมาลงทุนกับประสบการณ์ที่เน้นการเช่า-ยืมแทนการครอบครอง เพื่อลดทรัพยากรส่วนเกิน (Excess Capacity) และจัดสรรให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด 


2. การให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า (Customer Experience) 

     โดยผู้ประกอบการต้องรู้จักวิเคราะห์ Consumer Journey และทำการวางรูปแบบตลาดให้สอดคล้องกันทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ (Online & Offline Strategy) เพราะทุกวันนี้เราไม่สามารถแยกสองเรื่องนี้ได้ในการวางกลยุทธ์องค์กร เนื่องจากชีวิตของคนในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ต้องเจอกับเรื่องออนไลน์และออฟไลน์ผสมผสานกันอยู่ตลอดเวลา 


3. คนและวัฒนธรรมขององค์กร (People and Culture) 

     คนและวัฒนธรรมองค์กรนั้น ถือเป็นแกนหลักที่สำคัญที่สุด จนอาจพูดได้ว่าการทำ Digital Transformation ได้ประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย แต่การทำ Digital Transformation ที่ไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะเหตุผลเดียวนั่นคือเรื่องของ “คน” ซึ่งนี่คือเรื่องของการเน้นการสร้างและปลูกฝังให้คนในองค์กรมีทักษะดิจิทัลที่จำเป็น ประกอบกับการมี Digital Mindset คือ ความกล้าลงมือทำ ไม่ยึดติด ไม่กลัวความล้มเหลว พร้อมเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะหากขาดกลยุทธ์และการวางแผนที่รอบคอบอาจกลายเป็นแค่การเปลี่ยนระบบการทำงานซึ่งเกิดประโยชน์น้อย




     ด้าน “อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC (Southeast Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดยในปีนี้มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง นั่นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องรีบลุกขึ้นมาปรับตัวทำเรื่อง Digital Transformation อีกทั้งเมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตและธุรกิจในทุกแง่มุมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่กับ Digital Transformation ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความเข้าใจเทคโนโลยี ตีความ และประยุกต์ใช้งานได้ (Digital Literacy) และการพัฒนาทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อทำให้การทำงานของเราดีขึ้น สะดวกขึ้น สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเองและธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไม่มีสะดุด 
 

     SME ที่ไม่อยากตกยุค และอยากอยู่รอดอย่างแข็งแกร่งในโลกยุคใหม่ ลองเรียนรู้การดิสรัปต์ตัวเอง จาก 3 หัวใจ ที่กล่าวไปแล้วเหล่านี้ได้ 
 
 
ที่มา : SEAC 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

รวม 3 แบรนด์มะขาม รายได้ 100 ล้าน

พาไปส่อง 3 แบรนด์มะขามดัง ทั้งมะขามสารัช บ้านมะขาม และจี๊ดจ๊าด ที่บอกเลยว่ารายได้ไม่ธรรมดา เพราะเติบโตจนมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก