
Main Idea
- ใครก็ว่า “ผักตบชวา” คือตัวเจ้าปัญหา ขัดขวางเส้นทางสัญจรทางน้ำ สร้างมลภาวะให้กับแม่น้ำลำคลอง เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำ ซ้ำยังกำจัดกันไม่หวาดไม่ไหว
- ที่ผ่านมามีความพยายามของเหล่านักสร้างสรรค์ ในการหาวิธีจัดการกับผักตบชวา โดยนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นภาชนะใส่อาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ
- สำหรับโลกแฟชั่น วันนี้ด้วยการพัฒนานวัตกรรมทำให้ผักตบชวาสามารถนำมาทำเส้นใยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้แล้ว มาทำความรู้จักแบรนด์ Munie รองเท้ารักษ์โลกจากผักตบชวา ที่ใครเห็นเป็นต้องร้องว้าว!

รองเท้าเรียบเก๋ ประทับแบรนด์ “Munie”(มุนี) อวดเด่นสะดุดตาผู้คนด้วยวัสดุที่นำมาใช้ เพราะนี่คือรองเท้าจากเส้นใยผักตบชวา วัชพืชตัวร้ายที่สร้างความเหนื่อยหน่ายใจให้กับทุกสายน้ำ ทั้งขัดขวางเส้นทางสัญจร สร้างมลภาวะให้กับแม่น้ำลำคลอง และยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของสัตว์น้ำอีกด้วย..ทว่าใครจะคิดว่าวันนี้ตัวปัญหาจะกลายเป็นสินค้าแฟชั่นคูลๆ ขึ้นมาได้

แฟชั่นรักษ์โลกจากผลงานนวัตกรรม
“เมื่อปี 2558 เราได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พัฒนาเส้นใยผักตบชวาสู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ จนได้ผ้าจากเส้นใยผักตบชวา ซึ่งในตอนที่เริ่มโครงสร้างตัวเส้นใยยังไม่ค่อยแข็งแรง จะเปราะ และขาดง่าย พอมาทอเป็นผ้าผืนก็จะเป็นเสี้ยน ไม่เรียบลื่น แต่ตอนนี้สามารถพัฒนาจนเป็นผ้าที่สมูทขึ้น ไม่เป็นเสี้ยน โครงสร้างแข็งแรง โดยผ่านการรับรองมาตรฐานของ อินเตอร์เทค (Intertek) ผู้นำด้านการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ว่าผ้าจากเส้นใยผักตบชวาตัวนี้มีคุณสมบัติแห้งเร็ว ระบายเหงื่อ ระบายความชื้นได้ดี และโครงสร้างผ้าแข็งแรง”
วิลาสินี ชูรัตน์ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Munie สินค้าแฟชั่นรักษ์โลกจากเส้นใยผักตบชวาบอกที่มาให้เราฟัง ก่อนอธิบายเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติของผ้าจากเส้นใยผักตบชวาที่แตกต่างจากผ้าชนิดอื่นว่า เนื่องจากลำต้นของผักตบจะเป็นลักษณะเหมือนฟองน้ำ ทำให้โครงสร้างผ้ามีรูพรุน จึงน้ำหนักเบา และแห้งเร็ว คุณสมบัติที่ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ชูจุดขายความเป็นนวัตกรรมรักษ์โลก ตอบโจทย์ลูกค้าหัวใจสีเขียว ซึ่งมีตัวเอกคือรองเท้า รวมถึงหมวกและกระเป๋า โดยไม่เน้นกลุ่มเสื้อผ้าเพราะเป็นตลาด Red Ocean ที่คู่แข่งมหาศาล และต้องใช้พลังงานพลังเงินในการทำการตลาดอีกเยอะมาก

จากวัชพืชสู่เส้นใยธรรมชาติ
ผักตบกลายเป็นสิ่งทอได้อย่างไร วิลาสินี เล่ากระบวนการให้เราฟังว่า เธอรับซื้อผักตบชวามาจากชาวบ้านที่ราชบุรี โดยกระบวนการคือนำเฉพาะส่วนลำต้นมาล้างทำความสะอาดจนหมดโคลน ลอก ฉีก แล้วนำเข้าเครื่องตีเส้นใย พอได้เส้นใยก็ส่งเข้าโรงงานที่มีเครื่องที่ทำเส้นใยธรรมชาติ จากนั้นก็ทอออกมาเป็นผืนผ้า โดยผ้า 1 เมตร ต้องใช้ลำต้นผักตบชวาถึงประมาณ 500 ก้าน แม้จะต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก แต่เธอบอกว่า ยังมีผักตบชวาในประเทศไทยอีกจำนวนมหาศาล แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่การขาดแคลนแรงงาน เพราะงานเก็บผักตบไม่ค่อยมีใครอยากทำ เนื่องจากเป็นงานที่เหนื่อยและต้องทนกับกลิ่นเหม็น
“ทุกวันนี้กำลังการผลิตรองเท้าแบบเดียวเดือนละประมาณ 300 คู่ หมวกประมาณ 200 ใบ กระเป๋าถ้าเป็นงานมือก็ช้าหน่อย ปัญหาตอนนี้คือต่างชาติอยากจะสั่งจำนวนมากๆ แต่เรายังมีข้อจำกัดเรื่องการผลิตทำให้เสียโอกาสไปบ้าง ซึ่งอนาคตมองว่าหากสามารถพัฒนาตัวเครื่องมือมาใช้ในการช่วยเก็บผักตบได้ ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ดีขึ้น”
แบรนด์ Munie เปิดตัวมาประมาณ 6 เดือน ช่วยลดผักตบในน้ำมาแล้วประมาณ 3 ตัน โดยต่อรอบการผลิตผ้า 1 ครั้ง ได้ผ้าประมาณ 500 หลา ใช้ผักตบประมาณ 1-3 ตัน นอกจากส่วนของลำต้นที่นำมาทำเป้นเส้ยใย ชาวบ้านยังสามารถนำส่วนใบไปทำเป็นภาชนะใส่อาหาร และรากไปทำปุ๋ยได้อีกด้วย

ดีไซน์ความเรียบง่ายตอบโจทย์อีโคทุกรายละเอียด
รองเท้าแบรนด์ Munie ไม่ได้ออกแบบให้แฟชั่นจ๋า แต่ขายความเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ โดยมีจุดยืนในการออกแบบตามแบรนด์คอนเซ็ปต์ Munie ที่ M มาจาก Mankind ความเป็นมนุษย์ U มาจาก Unity ความเป็นเอกภาพ N มาจาก Natural ธรรมชาติ I มาจาก Innovation นวัตกรรม ส่วน E มาจาก Eco-Friendly เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงงานที่นำเอาความเป็นมนุษย์ ธรรมชาติ งานวิจัยและนวัตกรรม มารวมกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว
เธอยกตัวอย่างรองเท้าสวมสบาย ที่ตัวผ้าทำจากเส้นใยผักตบชวา พื้นรองเท้าทำจากเศษแกลบผสมยางพารา มีรองช้ำเพื่อเพิ่มความสบายและกันแรงกระแทกเวลาเดิน พื้นเป็นรอยหยักกันลื่น ตอบโจทย์ฟังก์ชั่นและอินโนเวชั่นได้อย่างครบถ้วน
“เราพยายามออกแบบสินค้าโดยตอบความเป็นอีโค ดีไซน์รองเท้าที่สวมใส่ได้ทุกวัน และเรียบง่ายที่สุด ไม่ได้เน้นความสวยเพราะมองว่าความสวยเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่เน้นฟังก์ชั่น และอินโนเวชั่น ฟังก์ชั่นก็คือตอบปัญหาของลูกค้าอย่างเวลาใส่เมื่อยไหม ยืนนานรับแรงกดได้ดีไหม อย่างเราเองเป็นรองช้ำก็เลยคิดว่าลูกค้าน่าจะเป็นเหมือนกัน จึงเพิ่มตัวรองช้ำมาให้ โดยพยายามออกแบบให้เรียบง่ายที่สุด และตอบโจทย์ลูกค้าที่สุด” วิลาสินีบอก
จากรองเท้าใส่เล่น พัฒนามาสู่รองเท้าส้นสูงสำหรับใส่ทำงาน โดยฟังจากความต้องการของลูกค้า ขณะที่หมวกและกระเป๋า ก็ยังตอบโจทย์ความเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ ความแปลกต่างในสินค้ารักษ์โลก ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทันกระแส ทำให้แบรนด์ Munie ถูกทาบทามให้ไปวางขายที่โซนไอคอนคราฟต์ ณ ไอคอนสยาม โดยราคาขายรองเท้าอยู่ที่ 1,500 -1,900 บาท หมวกราคา 890 บาท ส่วนกระเป๋าใบเล็ก 2,590 บาท ส่วนใบใหญ่ที่ 3,950 บาท เป็นนวัตกรรมรักษ์โลกที่ทุกคนเข้าถึงได้

“ลูกค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่เพราะสนใจในตัวเส้นใยผักตบชวา ด้วยความแปลก และความเป็นนวัตกรรมของเส้นใย รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่มีผู้บริโภคกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นเทรนด์ของโลก และตลาดยังคงสดใส วันนี้มีคนนำผักตบชวาไปทำอะไรเยอะมาก ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่ได้แนะนำให้คนปลูกผักตบ เพราะว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และเราก็ไม่ได้ต้องการแบบนั้น แต่เราต้องการลดปัญหา ถ้าวันหนึ่งไม่มีผักตบอีกเลย ถามว่าเราจะอยู่อย่างไร ก่อนหน้าที่มันจะสูญพันธุ์ไปจากโลก เราก็จะพัฒนาเส้นใยธรรมชาติตัวอื่นๆ ขึ้นมา ประเทศไทยยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีงานวิจัย มีวัตถุดิบ (Raw Material) ให้ศึกษาได้อีกเยอะมาก เบื้องต้นเอาแค่นี้ก่อน ให้มันหมดโลกไปจริงๆ ให้ได้ก่อน” เธอบอก
นอกจากการทำสินค้าไลฟ์สไตล์จากเส้นใยผักตบชวา ปัจจุบันวิลาสินียังทำโครงการเลี้ยงไหมในเมือง เพื่อทดลองนำไหมมาผสมกับผักตบให้เกิดเป็นเส้นใยใหม่ๆ ผลพลอยได้คือสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงไหมได้หันมาทานดักแด้ไหมซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีจากธรรมชาติ ตอบโจทย์ทั้งสุขภาพ และยังสามารถขายไหมให้กับพวกเธอได้อีกด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี