4 ความท้าทาย ของธุรกิจโรงแรมรักษ์โลก เมื่อผู้บริโภคยังยึดติดกับความสบาย

TEXT: ณัฏฐพัชร กมลพลพัตร

Main Idea

  • เมื่อเทรนด์รักษ์โลกยังคงได้รับความนิยมและเกิดการตื่นตัวในทุกมุมโลก แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะเอื้อให้ธุรกิจก้าวสู่ถนนสีเขียว

 

  • นี่คือความท้าทายในการปรับตัว รับเทรนด์รักษ์โลก ของธุรกิจโรงแรม

 

     ปัจจุบันเราจะเห็นเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น มีการตื่นตัวในการหามาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของทุกภาคธุรกิจ ปัจจุบันหลายๆ โรงแรมเปิดให้แขกผู้เข้าพักมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  • การเปลี่ยนเครื่องนอนและชุดผ้าเช็ดตัว อย่างผ้าปูที่นอน ปลอดหมอน ผ้าห่ม และชุดผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดผม ผ้าเช็ดเท้า ที่โรงแรมจะมีป้ายรณรงค์ให้เข้าร่วมโครงการใช้ซ้ำวางไว้โดยระบุว่า “หากต้องการใช้ซ้ำให้วางป้ายนี้ไว้ยังที่นอนและหากต้องการใช้ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ซ้ำ ให้แขวนไว้ที่ราว” แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนก็ไม่ต้องวางป้ายไว้บนที่นอนและวางผ้าเช็ดตัวไว้ด้านล่างแบบนี้เป็นต้น

 

  • Complimentary Drinking Water ปกติโรงแรมจะมีบริการน้ำเปล่าฟรีให้ ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก ปัจจุบันนี้บางโรงแรมมีโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการเปลี่ยนขวดใส่น้ำดื่มมาเป็นขวดแก้วแทน เมื่อแขกดื่มหมดก็จะมีตู้กรองน้ำให้แขกนำขวดแก้วนี้ไปกรองเพิ่มสามารถเติมได้

 

  • การนำอาหารที่มี Shelf Life สั้น ออกมาจำหน่ายในราคาลดพิเศษ บางโรงแรมที่มี Outlet ที่ให้บริการอาหารและเครื่องจำนวนมากและมีอาหารที่ทำรอขายแต่ Shelf Life สั้น เช่น เบเกอร์รี่ต่างๆ น้ำผลไม้ ฯลฯ มีการนำเอาอาหารเหล่านี้มาจำหน่ายให้แขกผู้เข้าพักและแขกทั่วไปที่ไม่ได้พักกับโรงแรม กรณีนี้เป็นการลด Food Waste ในขั้นตอนสุดท้ายของห่วงโซ่อาหารให้กับโรงแรม

 

     นอกจากนี้หลายโรงแรมยังมีแนวคิดในการพยายามลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลงด้วย เช่น กรณีของ IHG (Intercontinental Hotels Group) ที่เลิกการใช้พลาสติกขนาดเล็กในการบรรจุ แชมพู สบู่ ครีมนวดผม โลชั่น มาเป็นบรรจุภัณฑ์ฑขนาดใหญ่ที่ใช้ได้แบบถาวรไม่ต้องทิ้งและใช้การ Refill แชมพู สบู่ ครีมนวดผม โลชั่น เมื่อใช้หมด แทนการใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กแบบใช้แล้วทิ้งไป ซึ่ง Model นี้หลายๆ โรงแรมก็เริ่มปรับเปลี่ยนกันไปหลายแหล่งแล้ว เนื่องจากการใช้บรรจุภัณฑ์แบบเล็กที่ใช้แล้วทิ้งไปจะกลายเป็นปริมาณขยะที่แม้จะนำกลับไปรีไซเคิลได้แต่ก็คงไม่ทั้งหมดที่เหลือก็จะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมต่อไปอีก

 

ความท้าทายปรับตัวสู่ธุรกิจโรงแรมรักษ์โลก

     1. พฤติกรรมของแขกผู้เข้าพัก

     แม้เทรนด์รักษ์โลกกำลังได้รับความนิยมและเกิดการตื่นตัวในทุกธุรกิจก็จริงแต่ก็ไม่ใช่แขกทุกคนที่จะเข้าร่วมและยินดีในการที่โรงแรมไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดห้องพักประจำวัน (Daily Room Clean) ให้ทุกวัน ยินดีจะใช้ชุดเครื่องนอนและชุดผ้าซ้ำ เพราะในทางตรงกันข้ามยังมีแขกอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบกับการใช้ของซ้ำเพราะมองถึงเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย และมองว่าบริการ Daily Room Clean ถือเป็นมาตรฐานปกติอยู่แล้วที่โรงแรมต้องจัดเตรียมให้แขก

     แม้จะดูเหมือนพฤติกรรมนี้ไม่ได้เป็นไปตาม เทรนด์รักษ์โลก ที่กำลังเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแขกกลุ่มนี้ทำอะไรผิด เพราะในมุมหนึ่งการเปลี่ยนของใช้เหล่านั้นทุกวัน มันหมายถึงความมั่นใจในความสะอาดและสุขอนามัยของโรงแรมที่กลายมาเป็น New Normal ซึ่งแขกจะใช้ตัดสินใจเลือกเข้าพักในโรงแรมนั้นๆ  เป็นอันดับต้นๆ ความสบายใจ ความมั่นใจในการใช้ของใหม่ย่อมมีมากกว่าการใช้ของซ้ำแม้จะเป็นของตัวเราเองไม่ได้ปะปนกับใครก็ตาม

     2. ทัศนคติของฝ่ายบริหารโรงแรม

     มีกรณีศึกษาหนึ่งเมื่อครั้งที่ตัวผู้เขียนเองได้นำโครงการเกี่ยวกับการจัดการ Food Waste เข้าประกวดในโครงการค้นหาผู้ประกอบการ Startup ของเชนโรงแรมแห่งหนึ่ง โดยโครงการที่นำเสนอเป็น Platform แจ้งสถานที่จัดจำหน่ายอาหารที่มี Shelf Life สั้นโดยหลักการคือเมื่อโรงแรมใดก็ตามมีอาหารที่ใกล้หมด Shelf Life แล้ว ให้นำมาขึ้นสู่ระบบและแสดงใส่ Platform

     จากนั้นผู้ใช้งานจะได้รับแจ้งเตือนว่าโรงแรมไหนที่อยู่ใกล้ตัวมีอาหารเหล่านี้จำหน่ายบ้างซึ่งสามารถเดินทางไปซื้อได้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อลด Food Waste ที่จะเกิดขึ้นในโรงแรมและสร้างรายได้จากการขายอาหารเหล่านั้นที่อาจจะได้ทุนบ้างแต่ดีกว่าถูกทิ้งไปจนเป็นศูนย์ พอนำเสนอเสร็จปรากฏว่าหนึ่งในคณะกรรมการที่เป็นผู้ตัดสิน มีมุมมองส่วนตัวว่า “ตัวเขาเองรู้สึกไม่ดีถ้าต้องมาซื้ออาหารเหลือและจะไม่ใช้บริการดังกล่าว” ส่วนอีกท่านมองว่า “รายได้จากการขายอาหาร Shelf Life สั้นเหล่านี้จะมาแย่งรายได้จากการขายอาหารราคาปกติไป” ซึ่งเป็นมุมมองที่ถือว่ายัง “ไม่เข้าใจ” ความหมายของการลดการใช้ทรัพยากรและลดการเกิดของเสีย ซึ่งเป็นใจความสำคัญในการจะก้าวไปสู่เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมของธุรกิจ

     มุมหนึ่งเป็นความผิดพลาดของเชนในการสร้างโครงการแต่เลือกกรรมการซึ่งเป็น “คนโรงแรม” ที่ยังไม่เข้าใจความหมายของโครงการที่จัดมาทำการตัดสินซึ่งอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และเกิดคำถามในกลุ่มผู้สมัครเข้าร่วมโครงการในอนาคตถึงความจริงจังในการสร้างโครงการของเชนในอนาคตได้ ว่าตกลงจะมุ่งมั่นในระยะยาวหรือทำเพียงแค่ชั่วคราวตามกระแส? อีกมุมก็เป็นเรื่องของการใช้ทัศนคติส่วนตัวของกรรมการมาตัดสินมากเกินกว่าที่จะคิดถึงประโยชน์ในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องของการมองว่าอาหารเหล่านั้นคือของเหลือเพราะขนาด Supermarket ขนาดใหญ่อย่าง Lotus’s, Top Supermarket, Big C, ยังมีการนำอาหารเหล่านี้มาลดราคาช่วงใกล้หมด Shelf Life กันอยู่เลย ลองนึกภาพว่าถ้าเราลดอาหารที่เหลือจาก Line Buffet อาหารเช้า อาหารกลางวัน อาหารค่ำ รวมถึงอาหารที่ขายใน Outlet ของ F&B ได้มันจะช่วยโรงแรมช่วยโลกได้มากแค่ไหน?

     3. ผลกระทบต่อพนักงาน

     ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือเรื่องของการเปลี่ยนขวดน้ำแบบพลาสติกมาเป็นขวดแก้ว ซึ่งผู้เขียนได้เจอกับตัวเองโดยเมื่อโรงแรมเปลี่ยนจากการสั่งน้ำดื่มแบรนด์หนึ่งที่เป็นขวดพลาสติกมาเป็นขวดแก้ว พนักงานแจ้งกับผู้เขียนว่า “ขวดแก้วมีความยากในการขนส่งมากกว่า” เนื่องจากต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษและด้วยน้ำหนักของขวดแก้วเมื่อบรรจุน้ำแล้วจะหนักกว่าขวดพลาสติกทำให้เมื่อต้องยกเข้าห้องพักตอน Daily Room Clean พนักงานเกิดอาการปวดหลังกันหลายคน ด้วยเหตุนี้เมื่อพนักงานแม่บ้านต้องขนน้ำขวดแก้วหลายคนเริ่มไม่อยากทำเพราะอาการปวดหลังและส่งผลกระทบต่อสุขภาพแม้จะมีเครื่องทุ่นแรงก็ตาม

     4. คู่แข่งขัน

     การปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์รักษ์โลกเป็นเรื่องที่ดี แต่ในธุรกิจโรงแรมคู่แข่งขันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาเนื่องจากหากเราปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการหรืออะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อแขกผู้เข้าพักโดยตรง โดยเฉพาะแขกกลุ่มที่มีมุมมองว่าตนเองมีวิธีการรักษ์โลกอย่างอื่นที่ทำอยู่แล้วแต่เมื่อมาเข้าพักเขาไม่อยากได้กิจกรรมที่โรงแรมกำหนดไว้ หากโรงแรมเราทำการปรับเปลี่ยนยกตัวอย่างเช่น “การใช้ขวดแก้วในบริการ Complimentary Drinking Water และใช้วิธีการให้แขกนำขวดไปเติมน้ำแทนการใช้ขวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง”

     แขกบางคนอาจเกิดการเปรียบเทียบกับโรงแรมคู่แข่งขันของเราในระดับเดียวกันได้ถึง “ความไม่สะอาดในการทำความสะอาดขวดแก้วเมื่อแขกห้องก่อนหน้า Check Out ออกไป” และมองว่าขวดน้ำแบบพลาสติกที่ใช้ใครใช้มันมีความสะอาดมากกว่า ซึ่งความสะอาดและสุขอนามัยคือสิ่งแรกที่แขกต้องการส่วนการรักษ์โลกไม่ใช่ความรู้สึกแรกที่เขามองหา กรณีนี้อาจทำให้ช่วงระยะเวลาในการเริ่มต้นปรับนโยบายรักษ์โลกของโรงแรมอาจสร้างความลังเลในการตัดสินใจให้แขกไปบ้าง แต่หากโรงแรมมุ่งมั่นในการปรับตัวจริงๆ Communication เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการสื่อสารการปรับตัวและชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการเป็นโรงแรมรักษ์โลกให้แขกผู้เข้าพักเข้าใจ

     ทั้งหมดนี้เป็น 4 ตัวอย่างหลักที่เป็นความท้าทายในการปรับตัวให้เป็นโรงแรมรักษ์โลก แม้ในช่วงแรกๆ พฤติกรรมแขกผู้เข้าพักอาจจะไม่ได้เกิดความ “รู้สึกร่วม” ไปทั้ง 100% หากแต่ในปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เริ่มส่งสัญญาณความผิดปกติต่อโลกทั้ง Climate Change, เอลนินโญ่, ภัยธรรมชาติที่หนักหน่วงขึ้น ในอนาคตเชื่อว่าการรับรู้ต่างๆ เหล่านี้จะนำพาให้แขกผู้เข้าพักมีความเข้าใจและกระตุ้นการอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมของโรงแรมมากยิ่งขึ้น แม้ธุรกิจโรงแรมจะเป็นธุรกิจที่เน้นความพึงพอใจของแขกและเน้นการอำนวยความสะดวกให้แขกผู้เข้าพักมากที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีแขกที่ไม่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมรักษ์โลกของโรงแรมเลย ขอแค่เราสื่อสารให้เข้าถึงแขกได้มากที่สุด แขกเกิดความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของโรงแรมและเกิดความอยากเข้าร่วม ก็จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

บทความสมาชิก

ทำไมธุรกิจ Online Travel Agency ในไทย ถึงไม่ประสบความสำเร็จ?

เคยสงสัยกันไหม? ว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย มีโรงแรมทั้ง International Hotel Chain และแม้แต่ Local Chain ที่เติบโตไปในระดับโลก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Platform รับจองห้องพักในรูปแบบ OTA (Online Travel Agency) ของตนเอง

ลูกค้าขอสถานะ Confidential Guest ธุรกิจโรงแรมทำอย่างไร? ปกป้องความลับแขกได้ ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว

โดยปกติแล้วโรงแรมเราจะมีแขกประเภทหนึ่งที่ขอสถานะ Confidential Guest (CFG) ต้องการปกปิดการเข้าพักเป็นความลับทั้งเรื่องห้องพัก กิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและ Privacy ซึ่งหลักๆ เลยก็จะเป็นแขกระดับ VIP หรือ VVIP ในความเป็น CFG ก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เช่น หมายจับ หมายศาล อันนี้โรงแรมก็ไม่สามารถฝ่าฝืนได้ แต่ก็ต้องตรวจสอบให้ดี

แข่งกันให้ เทรนด์การตลาดใหม่ ทำลายกฏบางอย่างในธุรกิจโรงแรมให้หมดไป

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้การแข่งขันในธุรกิจโรงแรมค่อนข้างรุนแรงและมีการพัฒนารูปแบบการแข่งขันมาตลอด ทั้ง Functional และ Emotional แต่รู้ไหมการตลาดที่เหนือกว่าสิ่งใดนั้นคือ “การให้ที่เหนือความคาดหมาย” นั่นเอง