10 นิสัยที่ไม่ดีของหัวหน้า

    “ปีเตอร์ ดรักเกอร์” กูรูด้านการบริหารจัดการผู้ล่วงลับ กล่าวไว้ว่า “พนักงานที่ลาออก ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะองค์กร แต่ออกเพราะหัวหน้า” (People leave their bosses, not organization) ยังคงเป็นความจริงที่น่าเกลียดสำหรับหลายๆ องค์กร



               

     ผมทำงานกับองค์กรต่างๆ มามากมาย ในฐานะที่ปรึกษาและโค้ชผู้บริหาร พบว่าปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับพนักงาน เช่น พนักงานลาออกบ่อย คะแนนความพึงพอใจหรือความผูกพัน (Satisfaction หรือ Engagement Score) ของพนักงานตกต่ำ พนักงานรวมตัวกันประท้วงหรือก่อตั้งสหภาพแรงงาน ฯลฯ ต้นตอส่วนใหญ่ มาจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของหัวหน้างานและผู้บริหาร
               

     เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปอ่านเจอในหนังสือ Leading the Workforce of the Future เขียนโดย Brigette Hyacinth พูดถึงนิสัยไม่ดี 10 ประการของหัวหน้า น่าสนใจดี ขอนำมาเล่าให้ฟัง เผื่อคุณเป็นหัวหน้า จะได้ลองประเมินตัวเองดูว่า เป็นแบบนี้ไหม ในทางกลับกัน หากคุณเป็นลูกน้อง จะได้ลองประเมินหัวหน้าของคุณดู





     1. Micromanaging - จู้จี้จุกจิก หยุมหยิม ล้วงลูก : ไม่มีใครชอบทำงานกับหัวหน้าแบบนี้ เพราะนี่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เขาไม่ไว้ใจและไม่เชื่อใจลูกน้อง จึงต้องติดตามดูทุกฝีก้าว
               

     2. Setting up people to fail - ไม่สนับสนุน ไม่สอนงาน ไม่ให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) ไม่มีการพูดคุยเรื่องการประเมินผลงานกับลูกน้อง : หัวหน้าแบบนี้ คือหัวหน้าที่ไม่สนใจและไม่ใส่ใจในความสำเร็จและความก้าวหน้าของลูกทีม ไม่ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญมากที่สุดของการเป็นหัวหน้าคือ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกน้องประสบความสำเร็จ
               

     3. Picking favorites - เล่นพรรคเล่นพวก ลำเอียง สร้างอาณาจักร สร้างบริวาร ชอบให้มีคนล้อมหน้าล้อมหลัง : หัวหน้าแบบนี้ เป็นที่มาของคำพูดที่พนักงานมักโจษขานกันว่า “ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร” เป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ยั่งยืน



               

      4. Taking the credit for employee’s work - ขโมยความดีความชอบ แย่งผลงานของลูกน้อง : หัวหน้าแบบนี้ ไม่มีใครอยากทำงานด้วย ความดีเอาใส่ตัว ความชั่วโยนให้คนอื่น ถ้างานดี บอก “ผมทำเอง” ถ้างานผิดบอก “ผมไม่ทราบ ลูกน้องทำ”
               

     5. Making false promises - รับปากแล้วไม่ทำ ผิดสัญญา รับปากมั่วซั่ว ไม่รักษาคำพูด พูดอย่างทำอย่าง : หัวหน้าแบบนี้มีเยอะ โดยเฉพาะเวลาจะใช้งาน พูดจาหวานแหวว บอกทำงานเสร็จจะตบรางวัลให้ ปลายปีจะพิจารณาความดีความชอบเป็นพิเศษ แต่พองานเสร็จ เงียบจ้อยหายจ๋อย
               

     6. Ignoring feedback & Not listening - ไม่สนใจข้อมูลป้อนกลับ ไม่ใส่ใจ ไม่รับฟัง : หัวหน้าพวกนี้ ดีแต่ พูด พูด พูด ปากบอกฟัง แต่หูไม่ได้ยิน เวลาใครบอกอะไร ก็มักพูดติดปากว่า “รู้แล้ว” พอใครให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) อะไร ก็มีเหตุผลอธิบายเสมอว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำแบบนี้ เลยไม่มีโอกาสพัฒนาตนเอง เพราะทุกอย่างที่ทำ มีเหตุผลสมควรเสมอ



               

     7. Not standing up for employees - ไม่ต่อสู้ ปกป้อง หรือออกรับแทนลูกน้อง : หัวหน้าแบบนี้ มักวางเฉย แม้ไม่โยนความผิดให้ใคร แต่ก็ไม่เคยกางปีกปกป้องใครเช่นกัน ปล่อยให้โดนด่าโดนว่าต่อหน้าต่อตา ตัวเองทำเป็นหูทวนลม วางเฉยไม่พูด ไม่ตอบโต้ ออกแนวรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
               

     8. Task focused, without empathy - สนใจแต่งาน ไม่เคยแสดงความเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องอื่นๆ เลย : หัวหน้าแบบนี้คือพวกเก่งงานแต่ไม่เก่งคน เข้าข่ายงานได้ผลแต่คนไม่มีความสุข คนทำงานด้วยมักรู้สึกว่าหัวหน้าไม่มีน้ำใจ ไม่แคร์ ไม่ใส่ใจ เลยได้แต่งานแต่ไม่ได้ใจลูกน้อง



               

      9. Losing their cool when things go wrong - ใช้อารมณ์ โวยวาย น๊อตหลุด เมื่อมีปัญหาหรือเกิดความผิดพลาดขึ้น : หัวหน้าพวกนี้ มักใจร้อน ระเบิดอารมณ์เก่ง ควบคุมตัวเองไม่ได้ พอเย็นลง อาจสำนึกผึด มาพูดจาขอโทษขอโพย แต่พอโมโห ก็เป็นเหมือนเดิม คนทำงานด้วยกลายเป็นกระโถนรองรับอารมณ์ ไม่รู้วันไหนจะดีวันไหนจะร้าย คล้ายต้องทำงานกับคนเสียสติ อยู่ด้วยนานๆ อาจประสาทกินสักวัน
           

     10. 
Display incompetence - แสดงให้เห็นถึงความไม่ฉลาด ไม่รู้เรื่อง ไม่มีความสามารถ ไม่เก่ง ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ : หัวหน้าแบบนี้ ลูกน้องหมดศรัทธา ไม่อยากปรึกษา เพราะนอกจากไม่ได้คำตอบ ยังต้องเสียเวลาอธิบายให้ฟังอีกนาน แถมไม่รู้เรื่องด้วย ทำงานด้วยแล้วเหนื่อยใจ ไม่มีหัวหน้าแบบนี้ อาจทำงานได้เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ
               

      นี่คือลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ทั้ง 10 ประการของหัวหน้าที่ไม่มีใครอยากทำงานด้วย











 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอ

บทความสมาชิก

4 ความท้าทาย ของธุรกิจโรงแรมรักษ์โลก เมื่อผู้บริโภคยังยึดติดกับความสบาย

เมื่อเทรนด์รักษ์โลกยังคงได้รับความนิยมและเกิดการตื่นตัวในทุกมุมโลก แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะเอื้อให้ธุรกิจก้าวสู่ถนนสีเขียว นี่คือความท้าทายในการปรับตัวรับเทรนด์รักษ์โลกของธุรกิจโรงแรม

ทำไมธุรกิจ Online Travel Agency ในไทย ถึงไม่ประสบความสำเร็จ?

เคยสงสัยกันไหม? ว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย มีโรงแรมทั้ง International Hotel Chain และแม้แต่ Local Chain ที่เติบโตไปในระดับโลก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Platform รับจองห้องพักในรูปแบบ OTA (Online Travel Agency) ของตนเอง

ลูกค้าขอสถานะ Confidential Guest ธุรกิจโรงแรมทำอย่างไร? ปกป้องความลับแขกได้ ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว

โดยปกติแล้วโรงแรมเราจะมีแขกประเภทหนึ่งที่ขอสถานะ Confidential Guest (CFG) ต้องการปกปิดการเข้าพักเป็นความลับทั้งเรื่องห้องพัก กิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและ Privacy ซึ่งหลักๆ เลยก็จะเป็นแขกระดับ VIP หรือ VVIP ในความเป็น CFG ก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เช่น หมายจับ หมายศาล อันนี้โรงแรมก็ไม่สามารถฝ่าฝืนได้ แต่ก็ต้องตรวจสอบให้ดี