คราวที่แล้ว ผมเล่ากลยุทธ์ของซุนวูที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทีมงานและบริหารธุรกิจไปแล้ว 13 ข้อ วันนี้มาขอเล่าต่อจากคราวที่แล้ว
14. ยืมซากคืนชีพ - อย่าใช้ผู้มีความสามารถอย่างผลีผลาม และผู้ที่ไร้ความสามารถก็อย่ามองข้าม ในแง่การบริหาร หัวหน้าต้องจำไว้ว่า คนเก่งทำงานดี ไม่ควรถูกลงโทษด้วยการใช้งานอย่างหนักชนิดหัวปักหัวปำ ในขณะที่คนทำงานไม่ดี ก็ไม่ควรได้รับรางวัล ด้วยการให้งานน้อยๆ เพราะคุณภาพงานห่วยและทำงานไม่ได้เรื่อง
15. ล่อเสือออกจากถ้ำ - เป็นกลยุทธ์ดึงข้าศึกออกมาจากที่มั่น ในแง่การบริหาร สถานที่ในการพูดคุยถือเป็นเรื่องสำคัญ คล้ายสมรภูมิรบ ถ้าเรื่องนั้นสำคัญมากๆ การพูดคุยที่โต๊ะหรือห้องทำงานของเรา ย่อมสร้างความมั่นใจและมีความได้เปรียบ มากกว่าการเจรจาในสถานที่ของเขา
16. แสร้งปล่อยเพื่อจับ - กลยุทธ์นี้ ต้องการลดแรงต้านของข้าศึก โดยเลี่ยงการบีบคั้นเพื่อป้องกันสถานการณ์ "สุนัขจนตรอก" ในแง่การบริหาร บางทีการบีบคั้นหรือกดดันมากๆ จนคนรู้สึกว่าไม่มีทางออก ก็อาจแว้งกัดเราได้ ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้ง ต้องคอยมองหาทางลงให้อีกฝ่ายหนึ่งด้วย อย่าให้เขาตัดสินใจ “สู้ตาย”
17. โยนกระเบื้องล่อหยก - หมายถึงการใช้สิ่งที่คล้ายคลึงแต่ไร้ค่าไปล่อข้าศึก หรือล่อด้วยผลประโยชน์ ในแง่การบริหาร หมายถึงวิธีการจูงใจพนักงาน ต้องเข้าใจจิตวิทยาพื้นฐานเบื้องต้นก่อนว่า สิ่งที่เขาอยากได้เท่านั้น มีค่ากับเขา แต่หัวหน้าและองค์กรส่วนใหญ่ มักหยิบยื่นสิ่งที่ “อยากให้” โดยไม่ทันคิดว่าเป็นสิ่งที่พนักงาน “อยากได้” รึเปล่า สิ่งที่เขาอยากได้ แม้ไม่มีค่ากับเรา ก็มีค่าสำหรับเขา ในทางกลับกัน สิ่งที่เราอยากให้ แม้จะมีค่าสำหรับเรามากเพียงใด ก็ไม่มีค่าอะไรกับเขา
18. จับโจรเอาหัวโจก - หมายถึง เมื่อตีข้าศึก ต้องจับหัวหน้าเพื่อสลายพลังของข้าศึก ในแง่การบริหาร คือการแก้ปัญหา ต้องเริ่มที่ต้นตอ การจัดการกับกลุ่มคนที่มีปัญหา ต้องจัดการหัวหน้ากลุ่มให้ได้ก่อน
19. ถอนฟืนใต้กระทะ - เมื่อเปรียบเทียบกำลังกับข้าศึกแล้วด้อยกว่า ก็ต้องหาทางลดกำลังของข้าศึกลง ในแง่การบริหาร เมื่อรู้ว่าคู่แข่งของเรามีกำลังมากกว่า มีทรัพยากรเยอะกว่า หรือเก่งกว่า ก็อย่าเพิ่งรีบลงมือ ให้ค่อยๆ บั่นทอนกำลังของคู่แข่งให้ลดลงหรือรอเวลาก่อน
20. กวนน้ำจับปลา - เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ข้าศึกปั่นป่วนในกองทัพของตัวเอง โดยถือหลัก “เอาชัยชนะจากความปั่นป่วน” ในแง่การบริหาร บางทีการยุแยงให้เกิดความขัดแย้งกันเองในหมู่คู่แข่ง ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการช่วงชิงความได้เปรียบ
21. จักจั่นลอกคราบ - หมายถึงการรักษาแนวรบให้ดูน่าเกรงขาม เป็นการลวงฝ่ายตรงข้าม ในแง่การบริหาร คือการวางตัวให้ดูน่าเกรงขาม ใช้ความนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว หรือเข้าหาผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมากกว่า แสดงให้เห็นถึงความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ ก็อาจช่วยข่มขวัญหรือสร้างความเกรงใจให้ฝ่ายตรงข้ามได้เช่นกัน
22. ปิดประตูจับโจร - เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เมื่อข้าศึกอ่อนกำลัง แล้วโอบล้อมทำลายเสีย เพื่อมิให้เป็นภัยในภายหลัง ในแง่การบริหาร บางทีการจัดการกับคนที่เป็นปัญหาขององค์กรให้สิ้นซาก อาจต้องซ้ำตอนที่เขาพลาด ซึ่งฟังดูอาจจะโหดร้ายไปหน่อย แต่ก็เป็นแนวทางหนึ่ง ที่จำเป็นต้องทำในบางสถานการณ์
23. คบไกลตีใกล้ - หมายถึง เมื่อถูกจำกัดโดยสภาพแวดล้อม ต้องตีข้าศึกที่อยู่ใกล้ตัว โดยไม่เป็นศัตรูกับข้าศึกที่อยู่ไกล ในแง่การบริหาร คือการต้องจัดการกับปัญหาที่ใกล้ตัวก่อน อย่ารับศึกหลายด้าน เรื่องที่อยู่ไกลหรือผลกระทบที่ยังไม่มาก เก็บไว้จัดการในโอกาสถัดไป
24. ยืมทางพรางกล - หมายความว่า หากเป็นประเทศเล็กที่อยู่ระหว่าง 2 ประเทศใหญ่ และถูกบังคับให้ต้องยอมแพ้หรือถูกกดขี่ข่มเหง จงหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ประเทศเล็กเพื่อสร้างความไว้วางใจ ในแง่การบริหาร คือการช่วยเหลือลูกน้องหรือหัวหน้าที่กำลังประสบปัญหาโดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว จะช่วยเพิ่มบารมี หากภายภาคหน้าจำเป็นต้องอาศัยไหว้วาน ก็จะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเคยมีบุญคุณต่อกัน
25. ลักขื่อเปลี่ยนเสา - หมายถึงการดึงกำลังสำคัญของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นของเรา โดยควบคุมให้อยู่ใต้การบังคับบัญชา ในแง่การบริหาร คือการชิงตัวคนสำคัญจากคู่แข่งมาเป็นพวกของเรา เมื่อคู่แข่งขาดคีย์แมนคนสำคัญ ก็จะทำให้อ่อนแอลง เป็นโอกาสให้เราลงมือรุกไล่
เนื้อที่หมดพอดี คราวหน้ามาต่ออีก 10 กลยุทธ์สุดท้าย ให้ครบ 36 กระบวนท่าของซุนวู อย่าลืมติดตามครับ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
บทความสมาชิก
เมื่อเทรนด์รักษ์โลกยังคงได้รับความนิยมและเกิดการตื่นตัวในทุกมุมโลก แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะเอื้อให้ธุรกิจก้าวสู่ถนนสีเขียว นี่คือความท้าทายในการปรับตัวรับเทรนด์รักษ์โลกของธุรกิจโรงแรม
เคยสงสัยกันไหม? ว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย มีโรงแรมทั้ง International Hotel Chain และแม้แต่ Local Chain ที่เติบโตไปในระดับโลก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Platform รับจองห้องพักในรูปแบบ OTA (Online Travel Agency) ของตนเอง
ลูกค้าขอสถานะ Confidential Guest ธุรกิจโรงแรมทำอย่างไร? ปกป้องความลับแขกได้ ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว
โดยปกติแล้วโรงแรมเราจะมีแขกประเภทหนึ่งที่ขอสถานะ Confidential Guest (CFG) ต้องการปกปิดการเข้าพักเป็นความลับทั้งเรื่องห้องพัก กิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและ Privacy ซึ่งหลักๆ เลยก็จะเป็นแขกระดับ VIP หรือ VVIP ในความเป็น CFG ก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เช่น หมายจับ หมายศาล อันนี้โรงแรมก็ไม่สามารถฝ่าฝืนได้ แต่ก็ต้องตรวจสอบให้ดี