ต้องใช้! “36 กลยุทธ์ซุนวู” ช่วย SME จัดการทีมงานและธุรกิจ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง (ตอนที่ 1) โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

 

     “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” เป็นประโยคที่คุ้นหูกันดี ซึ่งเป็นข้อคิดเชิงปรัชญาจาก “ซุนวู” ผู้เขียนตำราพิชัยสงคราม
               

      งงกันไหมว่าซุนวูเป็นใคร ?
               

      ซุนวู เป็นนักการทหารและนักปกครองชั้นเลิศสมัยชุนชิว เมื่อประมาณ 2400-2500 ปีก่อนระหว่างพุทธกาล จริงๆ แล้วประโยคนี้ เกิดจากการรวมประโยคคำสอนของซุนวูที่กล่าวว่า
               

       “การชนะทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีการอันวิเศษยิ่ง” และ “หากรู้เขา รู้เรา แม้รบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธ์นั้นแล” (ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากพระอัครเดชญาณเตโช)


      ผมขอนำกลยุทธ์ของซุนวู มาประยุกต์ใช้ในการจัดการทีมงานและบริหารธุรกิจ แบบข้อต่อข้อ ค่อยๆ ว่าไป



 
               
      1. ปิดฟ้าข้ามทะเล - เมื่อทำศึกสงคราม แต่ละฝ่ายมักคิดว่าตนเองตระเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว จึงตั้งตนอยู่ในความประมาท (ในแง่การบริหาร คนส่วนใหญ่ มักคิดว่าตนเองทำดีที่สุดแล้ว จึงไม่ค่อยฟังหรือใส่ใจกับการทัดทานหรือทักทวงจากผู้อื่น เข้าข่ายตั้งตนอยู่ในความประมาณ คิดว่าตนเองดีแล้ว เก่งแล้ว)


     2. ล้อมเว่ยช่วยเจ้า - เมื่อข้าศึกรวมกำลังกันอยู่ ควรใช้กลอุบายแยกข้าศึกออกจากกัน เพื่อให้ห่วงหน้าพะวงหลัง จะได้โจมตีง่ายขึ้น (ในแง่การบริหาร นี่คือกลยุทธ์ที่เรียกว่า “แบ่งแยกแล้วปกครอง” พนักงานหัวโจก ที่คอยยุแยงให้เกิดความขัดแย้งในองค์กร ถ้าปล่อยให้รวมตัวกันยิ่งมากยิ่งจัดการยาก หาอุบายที่จะแบ่งแยกหรือทำให้แตกแยกกัน การปกครองจะง่ายขึ้น)



                 

     3. ยืมดาบฆ่าคน
 - แนวคิดนี้เชื่อว่า ศัตรูของศัตรูคือมิตรของเรา หาทางยืมมือคนอื่นไปจัดการกับศัตรูของเราแทน (ในแง่การบริหาร บางทีความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หากตัดสินใจ “ชน” เอง ก็อาจเจ็บตัวและเสียชื่อได้ วิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง คือ ส่งคนอื่นไป “ชน” แทนเรา เรียกว่า “รบแบบมือไม่เปื้อนเลือด” หรือ “สงครามตัวแทน” ก็ได้)
               

     4. รอซ้ำยามเปลี้ย - หมายความว่า เมื่อข้าศึกตกอยู่ในภาวะลำบาก ก็เป็นโอกาสสำคัญสำหรับเราที่จะเอาชนะได้ง่าย (ในแง่การบริหาร ต้องรู้จักประเมินกำลังของคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งภายในหรือภายนอกองค์กรก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่คู่แข่งเพลี่ยงพล้ำ เมื่อนั้นเป็นโอกาสของเรา)


      5. ตีชิงตายไฟ - หมายความว่า เมื่อข้าศึกอยู่ในภาวะวิกฤต ควรฉวยโอกาสรุกรบโจมตี (ในแง่การบริหาร จงจำไว้ว่าทุกวิกฤตของคู่แข่งเป็นโอกาสสำหรับเราเสมอ เมื่อทีมงานของคู่แข่งหรือศัตรูกำลังระส่ำระสายหรือเกิดความขัดแย้งกันเองภายใน เป็นโอกาสที่เราจะรีบจู่โจมเพื่อชิงความได้เปรียบ)



               

     6. ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม - หมายถึงการหลอกลวงให้ข้าศึกไขว้เขว ทำทีว่าจะเข้าตีข้างหลังแต่บุกทะลวงด้านหน้า เป็นต้น (ในแง่การบริหาร คือการ “สับขาหลอก”​ ทำให้คู่แข่งคิดว่าเราจะมาไม้นี้ แต่ในความเป็นจริง กลับพลิกโผใช้วิธีอื่นที่อีกฝ่ายคาดไม่ถึง)
               

      7. มีในไม่มี - หมายความว่า ให้ใช้ภาพลวงล่อหลอกข้าศึก เพื่อแปรเปลี่ยนจากลวงเป็นจริง (ในแง่การบริหาร คือการทำให้ศัตรูหรือคู่แข่งตายใจว่าวิธีการตื้นๆ แบบนี้เราไม่ทำแน่ แต่พอถึงเวลาก็ใช้วิธีการง่ายๆ ที่ถูกมองข้ามนี่แหละ มาใช้ในการเอาชนะ)
               

     8.  ลอบตีเฉินชัง - หมายถึงการมองหาจุดอ่อนหรือจุดที่คู่แข่งไม่ใส่ใจ และโจมตีตรงจุดนั้น (ในแง่การบริหาร ทุกคนมีจุดอ่อน อย่าไปต่อสู้ในสิ่งที่เขารู้ดีและเป็นจุดแข็งของเขา เพราะจะมีแต่แพ้กับแพ้ แต่จงมองหาจุดอ่อนหรือจุดตายให้เจอ แล้วมุ่งโจมตีจุดนั้นอย่างต่อเนื่อง ไม่นานก็จะประสบกับชัยชนะ)



               

     9. ดูไฟชายฝั่ง - เป็นการใช้ช่วงจังหวะการเปลี่ยนแปลงของข้าศึก มาเป็นประโยชน์ให้ตัวเอง (ในแง่การบริหาร ถ้าองค์กรมีพนักงานกลุ่มหนึ่งที่มักค่อยสร้างปัญญาอยู่เป็นระยะๆ เผอิญหัวหน้ากลุ่มถึงกำหนดเวลาต้องเกษียณอายุ และต้องมีการปรับเปลี่ยนผู้นำ ก็ถือเป็นจังหวะอันดีในการช่วงชิงมวลชน)
               

     10. ซ่อนดาบบนรอยยิ้ม - ประมาณว่า "ใช้ความสงบสยบเคลื่อนไหว" (ในแง่การบริหาร บางครั้งการตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไร ก็เป็นการตัดสินใจที่เหมาะสม เรื่องบางเรื่อง เวลาอาจช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้)
               

     11. หลี่ตายแทนถาว - หมายถึง ยอมเสีย “มืด” เพื่อประโยชน์แห่ง “สว่าง” คือจำต้องเสียสละส่วนน้อย เพื่อชัยชนะส่วนใหญ่ (ในแง่การบริหาร บางทีการตัดสินใจให้พนักงานเก่งๆ ที่เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ออกจากองค์กรไป ก็เหมือนการยอมตัดนิ้วเพื่อรักษาแขนไว้ ฉันใดก็ฉันนั้น)



              

     12. จูงแพะติดมือ - แปลว่า แม้ข้าศึกประมาทหรือเลินเล่อเพียงเล็กน้อย ก็ต้องฉกฉวยผลประโยชน์มาให้ได้ (ในแง่การบริหาร หมายถึงการไม่มองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นเสียงบ่นจากพนักงานเพียงไม่กี่คน เป็นต้น เพราะเรื่องเล็กๆ เหล่านั้น อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้)
               

     13. ตีหญ้าให้งูตื่น - เป็นกลยุทธ์การส่งคนสอดแนมให้รู้ชัดและเข้าใจสภาพแวดล้อม ก่อนเคลื่อนทัพ (ในแง่การบริหาร การมี “สาย” ที่คอยสืบเรื่องต่างๆ จะช่วยให้ได้ข้อมูลบางอย่างในเชิงลึก ซึ่งอาจช่วยในการตัดสินใจให้ดีขึ้นได้
               

     เนื้อที่หมดพอดี คราวหน้ามาเล่าต่อ รอติดตามครับ



 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

บทความสมาชิก

4 ความท้าทาย ของธุรกิจโรงแรมรักษ์โลก เมื่อผู้บริโภคยังยึดติดกับความสบาย

เมื่อเทรนด์รักษ์โลกยังคงได้รับความนิยมและเกิดการตื่นตัวในทุกมุมโลก แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะเอื้อให้ธุรกิจก้าวสู่ถนนสีเขียว นี่คือความท้าทายในการปรับตัวรับเทรนด์รักษ์โลกของธุรกิจโรงแรม

ทำไมธุรกิจ Online Travel Agency ในไทย ถึงไม่ประสบความสำเร็จ?

เคยสงสัยกันไหม? ว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย มีโรงแรมทั้ง International Hotel Chain และแม้แต่ Local Chain ที่เติบโตไปในระดับโลก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Platform รับจองห้องพักในรูปแบบ OTA (Online Travel Agency) ของตนเอง

ลูกค้าขอสถานะ Confidential Guest ธุรกิจโรงแรมทำอย่างไร? ปกป้องความลับแขกได้ ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว

โดยปกติแล้วโรงแรมเราจะมีแขกประเภทหนึ่งที่ขอสถานะ Confidential Guest (CFG) ต้องการปกปิดการเข้าพักเป็นความลับทั้งเรื่องห้องพัก กิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและ Privacy ซึ่งหลักๆ เลยก็จะเป็นแขกระดับ VIP หรือ VVIP ในความเป็น CFG ก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เช่น หมายจับ หมายศาล อันนี้โรงแรมก็ไม่สามารถฝ่าฝืนได้ แต่ก็ต้องตรวจสอบให้ดี