​“Mr.salad” ชูจุดขาย สลัดพอดีคำ สะดวก พกทานได้ทุกที่





เรื่อง : พิชชานันท์ สุโกมล
 
    ไอเดียการนำผักสลัดมาทำให้รับประทานง่ายขึ้นโดยไม่ต้องยุ่งยากจัดใส่จาน สามารถรับประทานได้ทุกที่ ในรูปแบบของค็อกเทลผักไฮโดร ภายใต้แบรนด์ “Mr.salad” ไอเดียสุดเก๋ของ “ภูดิศ บุญร่วม” ที่เปิดขายในรูปแบบแฟรนไชส์ตั้งแต่ปี 2554 โดยมุ่งเจาะกลุ่มคนรักษ์สุขภาพ หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการลดน้ำหนัก ด้วยจุดเด่นน้ำสลัดสูตรไม่ใส่ไข่ และผักสลัดปลอดสารพิษ ทำให้โดนใจผู้บริโภค และผู้ที่อยากนำ Mr.salad ไปเปิดเป็นธุรกิจของตัวเอง
 

 
    “จุดเริ่มต้นของ Mr.salad มาจาก ความต้องการของผมที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงลาออกจากงานประจำและหาอะไรทำเป็นของตัวเอง วันหนึ่งได้ไปติดต่อตลาดนัดขายของย่านพุทธมณฑลเพื่อขายสลัด แต่ทางตลาดแจ้งว่ามีคนขายสลัดอยู่แล้วจึงได้กลับมาคิดหาวิธีสร้างความแปลกใหม่เพื่อไม่ให้ซ้ำกับสลัดเจ้าเดิม ด้วยวิธีการห่อแบบเวียดนาม แต่ใช้ไส้บางตัวเป็นอาหารญี่ปุ่นแทน โดยคัดสรรเฉพาะวัตถุดิบเกรดเอมาใช้ โดยเฉพาะผักสลัด เราเลือกผักสลัดที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโปรนิกส์จากฟาร์มที่เรารับซื้อประจำ เพราะเราคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นหลัก”
 

 
    จุดขายของ Mr.salad อยู่ที่ความแปลกใหม่ของรูปแบบการนำเสนอผ่านวิธีการนำไปรับประทานที่สะดวกขึ้น ด้วยการนำผักสลัดมาห่อเข้ากับส่วนผสมต่างๆ เช่น ไก่-หมูแฮม ปลาแซลมอน ปูอัด ไส้กรอก ธัญพืชตางๆ ตามด้วยการม้วนด้วยวัตถุดิบต่างๆ เช่น แผ่นขนมปังโฮลวีต แครอท และแป้งห่อแหนมเนือง ซึ่งสลัดจะออกมาในรูปแบบที่ทานได้พอดีคำ เป็นการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มพนักงานออฟฟิศ รวมถึงเด็กๆ ที่ไม่ชอบรับประทานผักให้หันมาทานผักด้วยรูปลักษณ์ที่น่าสนใจมากขึ้น
 

 
    “ที่ผ่านมาเราได้รับการตอบรับกลับมาดีมาก เนื่องจากในยุคนี้ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมาก โดยลูกค้ามีหลายประเภท ทั้งที่เป็นผู้ป่วยพักฟื้น และคนปกติ หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ด้วยจุดเด่นที่เรามีในเรื่องรสชาติ และกลิ่นหอมของน้ำซอสผลไม้ที่ส่วนผสมส่วนใหญ่จะมาจากผลไม้จริง ๆ ไม่ใช้วัตถุแต่งกลิ่นใด ๆ ตอนนี้ทางเรามี 3 เมนู คือ ค็อกเทลผัก สลัดโรล และแซนวิชโรล พร้อมด้วยน้ำสลัดสูตรไม่ใส่ไข่หลายรสชาติ อาทิ วาซาบิ งาดำ ผลไม้รวม โยเกิร์ตสตรอเบอร์รี่-บลูเบอร์รี่ พริกไทยดำ น้ำเสาวรส ฯลฯ”
 

 
    จากการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ทำให้ปัจจุบัน ภูดิศมีผู้ซื้อแฟรนไชส์ Mr.salad ไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ กว่า 40 ราย ซึ่งภูดิศได้ให้ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจในธุรกิจสลัดของเขาเอาไว้ว่า 

     “ถ้าตั้งใจทำและเอาใจใส่อย่างจริงจังก็เป็นอาชีพเสริม ที่สามารถสร้างรายได้ให้ดีได้ในระดับหนึ่ง หรือถ้าต้องการทำเป็นอาชีพหลักก็สามารถทำรายได้ให้เป็นที่น่าพอใจได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูที่ทำเลที่ตั้งด้วย ซึ่งสิ่งที่แฟรนไชส์ซีจะได้รับในครั้งแรกนั้นเป็น วัตถุดิบ อุปกรณ์ สำหรับประกอบกิจการ พร้อมเปิดได้ทันที โดยจะสามารถทำได้ 600 ชุด ไม่นับของสดครับ ส่วนราคาขายนั้นทางผมไม่ได้จำกัดไว้ เนื่องจากในแต่ละสถานที่นั้น อาจมีปัจจัยในด้านราคาแตกต่างกัน แต่เบื้องต้นราคาอยู่ที่ ชุดละ 40 บาท โดยที่ต้นทุนอยู่ที่ 20-22 บาท”
 

 
    สำหรับการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ Mr.salad นั้น ทางคุณภูดิศบอกไว้ว่า การลงทุนครั้งแรกจะแยกเป็น 2 ส่วนคือส่วนแรกเป็นค่าแรกเข้า 5000 บาท สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 7000 บาทสำหรับต่างจังหวัด (กรณีให้เดินทางไปช่วยขาย) ส่วนที่สอง เป็นค่าอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการค้าซึ่งทางลูกค้าสามารถเลือกได้เองว่าต้องการอะไรบ้าง หรืออะไรที่สามารถจะจัดหาได้ด้วยตัวเอง อะไรที่ต้องการให้ทาง Mr. Salad จัดหาให้ โดยงบประมาณที่ตั้งไว้ในการลงทุนครั้งแรกจะเริ่มตั้งแต่ 15,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาท

ข้อมูลธุรกิจ
แฟรนไชส์ Mr.salad
คุณภูดิศ บุญร่วม โทร.081 916 3649 
www.franchisemrsalad.com

Create by smethailandclub.com

 

RECCOMMEND: FRANCHISE

3 แฟรนไชส์ ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดัง น่าลงทุน ปี 2023

หนึ่งในร้านอาหารที่ติด Top 3 ที่คนค้นหามากที่สุด คือ ก๋วยเตี๋ยว วันนี้เราเลยจะมาแนะนำ 3 แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังที่น่าลงทุน ปี 2023 พร้อมราคาแฟรนไชส์มาฝากกัน

3 ไอเดียทำร้านแฟรนไชส์ 5 ปี ขยายกว่า 750 สาขา สไตล์ Otteri ร้านที่เป็นมากกว่าแค่ที่ซักผ้า

ในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย กลยุทธ์หนึ่งของการทำธุรกิจที่ใช้มัดใจลูกค้าได้ดี ก็คือ ให้มากกว่าที่ลูกค้าคิดว่าจะได้รับ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปไหน เหมือนกับคอนเซปต์ของแบรนด์ Otteri Wash & Dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมงที่เปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี มีสาขาแล้วกว่า 750 แห่งทั่วประเทศ

อยากต่อยอดธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ขยายกิจการให้โต SME ต้องทำอย่างไร?

หนึ่งในโมเดลที่หลายคนให้ความสนใจในการขยายธุรกิจคือ การแปลงธุรกิจของตัวเองให้กลายเป็น “แฟรนไชส์” แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การทำธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์ ต้องทำอย่างไร?